เลขาธิการ กกต.เรียกเหรัญญิกพรรค ปชป.ให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ตามคำร้องเงินบริจาคพรรคพรุ่งนี้ พร้อมตั้งอนุฯไต่สวน เหตุพยานคดียุบพรรค ทรท.กลับคำให้การว่าเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ พร้อมทั้งขยายเวลาสอบคำร้อง กมธ.วิสามัญวุฒิสภา ที่ลงมติเห็นชอบให้ ปธ.วุฒิ ชะลอการส่งคำร้องของ กกต.
วันนี้ (4 มี.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการพิจารณาสำนวนเงินบริจาคจำนวน 258 ล้านบาท และเงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ขณะนี้คณะทำงานของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่มี ม.ล,ประทีป จรูญโรจน์ เป็นประธาน ได้มีการประชุมไปแล้วจำนวน 8 ครั้ง โดยในวันที่ 5 มี.ค.ก็จะมีการเชิญเหรัญญิกของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ที่ประชุม กกต.มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณี พล.ต.ต.มนตรี ประทีปปวริศ ร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากนายสุขสันต์ ชัยเทศ และ นายชวการ โตสวัสดิ์ อดีตพยานในคดียุบพรรคไทยรักไทย แถลงว่า การให้การในคดียุบพรรคไทยรักไทยในชั้นของ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการให้การเท็จ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายวุฒิ สุนทรเดช หนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เคยมีหนังสือถึง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ขอให้ตรวจสอบกรณีพยานในคดียุบพรรคไทยรักไทยกลับคำให้การว่า สามารถที่จะรื้อคดียุบพรรคดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ก็ได้มาติดตามความคืบหน้าของคดี ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดเดียวกันในประเด็นว่า นายวุฒิ มีอำนาจที่จะเป็นผู้ร้องหรือไม่ และอยู่ในระหว่างที่ กกต.สั่งให้อนุกรรมการตรวจสอบว่า การกลับคำให้การของพยานในคดีดังกล่าวมีการดำเนินคดีทางอาญาอย่างไร และตรวจสอบข้อกฎหมายรวมทั้งระเบียบวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญว่า สามารถรื้อฟื้นคดียุบพรรคไทยรักไทยขึ้นมาพิจารณาได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 กรณีมีความสอดคล้องกัน กกต.จึงมีมติว่า เพื่อให้การพิจารณาของ กกต.เป็นไปอย่างรอบคอบครบถ้วนทุกประเด็น หากคณะอนุกรรมการไต่สวนสรุปผลสอบสวนของทั้ง 2 สำนวนแล้วเสร็จก็ให้เสนอ กกต.พิจารณาในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ได้มีการพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีที่ นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ขอให้ตรวจสอบและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 182(7) ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบริษัท ซิโน-ไทย ที่เป็นธุรกิจของครอบครัวเข้าเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐแล้ว และมีมติสั่งให้สอบเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีมติ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวที่มีการร้องต่อ ป.ป.ช.ด้วยนั้น ผลของคดีเป็นอย่างไร และตรวจสอบรายละเอียดหุ้นว่ามีการโอนไปที่ใด รวมทั้งการที่กล่าวหาว่าบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวข้องอย่างไร
นายสุทธิพล ยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติขยายระยะเวลาให้คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องขอให้ตรวจสอบ ส.ว.บางคนในคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา ที่ลงมติเห็นชอบให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ชะลอการส่งคำร้องของ กกต.ที่ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสมาชิกภาพของ 16 ส.ว. เนื่องจากถือครองหุ้นต้องห้ามออกไปอีก 30 วัน ว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้นายเรืองไกร ได้ร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของประธานวุฒิสภา ในกรณีไม่ส่งคำร้องดังกล่าวโดยอ้างว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 จนอาจจะเป็นเหตุให้สิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 119(5) ซึ่งจากการไต่สวนนายเรืองไกรเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2552 นายเรืองไกรก็ได้ขอให้กกต.ตรวจสอบการลงมติเห็นชอบของ ส.ว.บางคนในคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ที่ให้ประธานวุฒิสภาชะลอการส่งเรื่อง กกต.จึงมีมติให้แยกเป็นอีกหนึ่งคำร้อง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีที่นายเรืองไกรร้องประธานวุฒิ ก็ได้เสนอสำนวนการสอบสวนซึ่งกกต.มีมติตามที่คณะอนุกรรมการเสนอให้ยกคำร้อง โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 91 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่า ประธานวุฒิสภาต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใด ซึ่งหลังจากที่นายประสพสุข ได้รับคำร้องจาก กกต.แล้ว 52 วัน จึงมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น จากการไต่สวนพบว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าว มี ส.ว.ยื่นร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ต่อศาลปกครอง ทำให้นายประสพสุขส่งเรื่อง 16ส.ว.ให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภาพิจารณาและมีมติให้นายประสพสุข ชะลอการส่งเรื่อง แต่เมื่อมีการประสานไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อขอทราบระยะเวลาสิ้นสุดการพิจารณาคำร้องที่มีการร้อง กกต.นั้น ไม่ได้รับคำตอบ นายประสพสุข จึงได้ส่งคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชักช้า ซึ่งคณะอนุกรรมการเห็นว่าการดำเนินการของนายประสพสุข ไม่เข้าข่ายเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่ เข้าไปก้าวก่ายเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น จนอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็น ส.ว.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 119(5)