ดีเอสไอยื่นคำร้องต่อศาลออกหมายจับเจ้าของลานมันทั้ง 17 ลานมันใน จ.อุบลราชธานี ทุจริตโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง พบหลักฐานกระทำความผิดจริง พร้อมส่งให้ส่วนสืบสวนสะกดรอยติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 19 คนมาดำเนินคดี
วันนี้ (22 ม.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มอบหมายให้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ และ พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้อำนวยการส่วนคดีอาญาพิเศษ2 สำนักคดีอาญาพิเศษ ไปยื่นคำร้องร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับเจ้าของลานมันที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี พ.ศ. 2551/2552 ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายจับเจ้าของลานมันทั้ง 17 ลานมัน รวมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 19 คน เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักคดีอาญาพิเศษได้ส่งสำเนาหมายจับให้กับส่วนสืบสวนสะกดรอย ติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 19 คน มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พฤติการณ์แห่งคดี จากการสืบสวนสอบสวนขยายผลการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการลานมันพบว่า ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปี พ.ศ.2551/2552 ของรัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบลานมันหรือลานมันที่เข้าร่วมโครงการในฐานะเป็นคู่สัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.) รับแปรสภาพ หัวมันสดเป็นมันเส้น กระทำการโดยทุจริต หลอกลวงประชาชนผู้ปลูกมันสำปะหลังโดยอาศัยความได้เปรียบทางสถานะเป็นนายทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์และเป็นกลไกหนึ่งของรัฐในขั้นตอนการรับจำนำมันสดจากเกษตรกร ได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการด้วยการบิดเบือนการปฏิบัติให้ผิดไปจากหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ ของทางราชการที่เป็นสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้คือ
1) สวมสิทธิโควตาการจำนำมันของเกษตรกร โดยไม่ยอมรับจำนำมันจากเกษตรกรตามสิทธิที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือบางรายก็รับเพียงบางส่วนแล้วนำมันของตนเองที่รับซื้อไว้จากเกษตรกรในราคาถูกมาสวมสิทธิเกษตรกรแทน เช่น เกษตรกรได้รับสิทธิโควตามันประมาณ 180 ตัน แต่ลานมันจะกำหนดรับจำนำไว้เพียง 40-50 ตัน โควตาที่เหลือลานมันจะได้สวมสิทธิเกษตรกรแทน 2) ให้ราคามันเกษตรกรต่ำกว่าที่ทางราชการกำหนด (กดราคามัน) เช่น ราคาจำนำที่ทางราชการกำหนดไว้กิโลกรัมละ 2 บาท แต่ลานมันจะให้ราคามันของเกษตรกรเพียง 1.25 บาท หรือเพียง 1.50 บาทเท่านั้น 3) รับจำนำมันเส้นแทนมันสดและกรอกข้อความในเอกสารทางราชการเป็นความเท็จว่าได้รับจำนำมันสดจากเกษตรกรซึ่งตามสัญญาจะได้ค่าแปรสภาพมันราคา 300 บาทต่อตัน
4) ไม่ติดป้ายประกาศหรือโฆษณาว่าหน่วยรับฝากมันสำปะหลังสด ปี 2551/2552 ของ อคส. ตามที่ทางราชการกำหนด 5) ไม่ออกใบรับฝากมันสำปะหลัง (มปล.1)ให้กับเกษตรกรที่นำมันมาจำนำ แต่กลับออกใบชั่งน้ำหนักมันให้แทน แล้วระบุจำนวนน้ำหนักมันเกินจริงในใบรับฝากมันอันเป็นความเท็จ เพื่อนำไปออกใบประทวนสินค้าให้แก่เกษตรกรนำไปขึ้นเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาให้ลานมัน จากนั้นลานมันจะจ่ายเงินให้เกษตรกรตามจำนวนที่ปรากฏตามใบชั่งน้ำหนักมันจริงเท่านั้น เงินที่เหลือจะตกกับลานมันเป็นส่วนใหญ่ 6) ลานมันบางแห่งได้หลอกลวงเกษตรกรว่า เพื่อเป็นการนำเอาเงินจาก ธ.ก.ส. มาเก็บไว้กับลานมันก่อนเพราะ ธ.ก.ส.ขาดเงินสนับสนุนในบางช่วงโดยออกใบประทวนสินค้าก่อน แล้วจะให้เกษตรกรนำมันมาจำนำในภายหลังซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ขั้นตอนของทางราชการ แท้จริงแล้วลานมันมีเจตนาที่จะสวมสิทธิโควตามันแล้วนำมันจากที่อื่นมาสวมแทน หรือให้ราคาจำนำมันของเกษตรกรต่ำกว่าราคาที่ทางราชการกำหนดมาแต่ต้น
นอกจากนี้ มันสำปะหลังของเกษตรที่ต้องเหลือจากการขายราคาจำนำไม่ได้ ลานมันจะรับซื้อในราคานอกโครงการให้ราคาเพียง 0.85 หรือ 0.90 บาทเท่านั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ ที่หลงเชื่อหรือต้องยินยอมหรือปฏิบัติตามข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว เนื่องจากต้องอยู่ในภาวะจำยอม ไม่รู้ว่าจะนำมันไปจำนำหรือขายให้กับผู้ใดได้ ผู้ประกอบการลานมันไม่อาจกระทำการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วได้ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไข ข้อกำหนดต่างๆ ของทางราชการ อย่างเคร่งครัด ด้วยการติดป้ายประกาศแสดงชื่อ “หน่วยรับฝากมันสำปะหลังสด ปี พ.ศ.2551/2552 ของ อคส.” ไว้ที่หน้าหน่วยรับฝากมัน หรือรับซื้อหัวมันสดเท่านั้น หรือต้องออกใบรับฝากมันทันทีตามจำนวนน้ำหนักมันที่เกษตรกรได้นำไปจำนำไว้จริง เพื่อนำไปออกใบประทวนสินค้าให้เกษตรกรตามที่รับจำนำมันไว้ในใบรับฝากมันดังกล่าว หรือต้องรับจำนำมันจากเกษตรกรตามโควตามันที่ได้รับรองหรือขึ้นทะเบียนไว้ หรือรับจำนำตามราคามันที่ทางราชการกำหนด
พฤติการณ์และการกระทำของลานมันดังกล่าวถือว่าเป็นการแสวงหากำไรจากการโกงส่วนต่างน้ำหนักมัน, การสวมโควตามัน และการกดราคามันของเกษตรกรต่ำกว่าราคาทางราชการกำหนด อันเป็นการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ ข่มเหงเกษตรกรผู้ปลูกมันอย่างรุนแรง เป็นการกระทำการอันเข้าข่ายหลอกลวงผู้ปลูกมันสำปะหลังด้วยการแสดงข้อความอันเป็นความเท็จหรือปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ลานมันได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากเกษตรกรผู้ปลูกมัน (ได้เงินส่วนต่างราคามันที่เป็นของเกษตรกรไป) และได้เงินจากงบประมาณของรัฐในการสวมสิทธิจำนำมันของเกษตรกร (ผ่านทาง ธ.ก.ส.)ไปโดยมิชอบ หลายร้อยล้านบาท หรือทำให้มูลค่าในทางเศรษฐกิจมันสำปะหลังของเกษตรกรลดน้อยลงหรือทำให้ราคามันสำปะหลังของเกษตรกรต้องขายในราคาต่ำจากที่ทางราชการได้พยุงราคาไว้ ทำให้ประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและรัฐได้รับความเสียหาย นอกจากนั้น ลานมันแต่ละแห่งยังได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำ ณ จุดลานมันกระทำผิดโดยแยกกันกระทำผิดในแต่ละแห่งของลานมันนั้น อีกทั้งเป็นกระทำต่างกรรมต่างวาระและต่างสถานที่กัน เว้นแต่ลานมันบางแห่งมีบุคคลคนเดียวกันเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดำเนินการ โดยลานมันแต่ละแห่งมีพฤติการณ์ในการกระทำผิดตามข้อ 1) ถึงข้อ 6) ในลักษณะทำนองเดียวกัน
พฤติการณ์ของผู้ประกอบลานมันแต่ละแห่ง เข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนหรือทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าต่อพืชผลของกสิกร อันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342, 358 และมาตรา 359 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ในช่วงระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานภายหลังเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้ให้การกับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปแล้ว ลานมันต่างๆ ได้ร่วมมือกันโดยมีพฤติการณ์บังคับ ข่มขู่ ขอร้อง หรือกดดันด้วยวิธีการต่างๆ นานากับประชาชนผู้ที่ได้มาให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เช่น ขอให้พยานกลับคำให้การที่เคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษใหม่ หรือขอร้องไม่ให้เอาเรื่องเอาความกับลานมัน มิเช่นนั้นในปีต่อๆ ไปจะไม่ยอมรับจำนำหรือรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรผู้นั้นอีกด้วย หรือบอกกับเกษตรกรว่าหากไปพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะต้องถูกจับกุมด้วย หรือกรณีแพร่ข่าวไปยังเกษตรกรว่าได้เคลียร์คดีดังกล่าวกับผู้ใหญ่ของดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น ทำให้เกษตรกรเกิดความหวั่นไหวไม่มีความมั่นใจ หรือมีความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สิน ถ้าหากมาให้ความร่วมมือกับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อันเป็นการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีทั้งทางตรงและทางอ้อม และแม้ว่าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้ประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการต่างๆ ให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรและได้รับความเสียหายมาให้ปากคำหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบลานมันส่วนใหญ่ยังคงใช้วิธีการอื่นๆ เช่น ส่งคนขับรถตระเวนบอกไม่ให้ชาวบ้านไปพบพนักงานสอบสวน หรือส่งคนมาดักคอยดูชาวบ้านคนใดบ้างที่มาปากคำแล้วจดชื่อไปให้ลานมัน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องการกระทำผิดของตนเองไม่ให้มีพยานหลักฐานพยานบุคคลยืนยันถึงตน
สำหรับลานมันในเขตพื้นที่อำเภอน้ำยืน และอำเภอน้ำขุ่น ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีจำนวนกว่า30แห่ง แต่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามสมควรที่สามารถดำเนินคดีได้ โดยมีบุคคลหรือนิติบุคคลหรือเจ้าของหรือผู้ดำเนินการรับจำนำมันสำปะหลังและมีพฤติการณ์กระทำผิดดังกล่าวมาแล้ว จำนวน 17 แห่ง ดังนี้
1) ลานมันเบญจกิจพืชผล
2) ลานมันเบญจกิจพืชผล 2
3) ลานมันไชยมงคลมงคลพืชผล 1
4) ลานมันกรุงทองพืชผล
5) ลานมันชุนเจริญพืชผล
6) ลานมันไชยมงคลพืชผล 2
7) ลานมันตั้งโชคดีพืชผล
8) ลานมันโนนงามพืชผล
9) ลานมันบรรยงค์พืชผล
10) ลานมันประกายรุ่งเรือง
11) ลานมันยิ่งเจริญพืชผล
12) ลานมันศรีโกศล 2
13) ลานมันศรีสมบูรณ์พืชผล
14) ลานมันสมบูรณ์กิจรุ่งเรือง
15) ลานมันสมบูรณ์พืชผล
16) ลานมันสุชินพืชผล
17) ลานมันสหกรณ์การเกษตรน้ำขุ่น
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รีบเร่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนคดีส่งพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป