xs
xsm
sm
md
lg

คดีปล้นชาติ-โกงไทย ( 3) Dr. T Shinawatara หลักฐานที่ทำให้ทักษิณ โดนยึดทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าสังเกตว่า วันพิพากษาคดียึดทรัพย์ นช. ทักษิณ ชินวัตร ผ่านไปเกือบจะ 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีสื่อกระแสหลักใหญ่ๆของโลกไปสัมภาษณ์ นช. ทักษิณเลย ไม่ว่าจะเป็น ซีเอ็นเอ็น หรือ บีบีซี

ไม่รู้ว่า เพราะ นช. ทักษิณ ในสายตาของสื่อต่างชาติในวันนี้ ไม่น่าเชื่อถือ พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย เป็นแหล่งข่าว ที่ ไม่มี คุณค่าของความเป็นข่าวเลย จึงไม่มีใครให้ความสนใจหรือเป็นเพราะว่า นช. ทักษิณ ไม่กล้าพูดกับนักข่าวฝรั่งอีกแล้ว หลังจากโดนต้อนตายคาจอ ถูกนักข่าวบีบีซี และซีเอ็นเอ็น คาดคั้นว่า อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว จนไปไม่เป็น

ตอนนี้ ต้องบอกว่า นช. ทักษิณ คุมสติไม่อยู่ ไฟธาตุแตก บ้าไปแล้ว โฟนอิน วิดิโอลิงค์ ผ่านสถานีพีเพิล แชนแนล และวอยซ์ ทีวี แต่ละที เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง เพราะเรื่องที่พูดล้วนแต่เป็นการบิดเบือนคำพิพากษา และข้อเท็จจริงทั้งสิ้น

อย่างเช่นที่บอกว่า “คดีอาญาเขามีหลักให้ยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย แต่ที่นี่ยกความสงสัยมาลงโทษจำเลย” นั้น นช. ทักษิณ อยู่ไกลถึงดูไบ วันๆ จมอยู่กับความเคียดแค้นชิงขัง ไม่ได้อ่านหนังสือ พิมพ์ หรือดูทีวีจากประเทศไทย จึงไม่รู้เรื่องเหมือนที่คนไทยรู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้ใช้วิธีพิจารณาคดีเหมือนศาลอาญา ที่ใช้ระบบกล่าวหา โจทก์ ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ความผิดของจำเลย ให้ศาลสิ้นสงสัย หากศาลมีข้อสงสัยแม้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับ การกระทำความผิดของจำเลย ก็อาจยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยได้

แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ใช้ระบบไต่สวน ศาลทำหน้าที่ค้นหาความจริง จากพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย หากยังไม่สิ้นสงสัย ก็จะเรียกพยาน หลักฐานมาสืบเพิมเติมได้ จำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหา ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ หักล้างข้อกล่าวหาให้ศาลสิ้นสงสัย

ผู้ที่ติดตามข่าว การสืบพยานทั้งสองฝ่าย ในคดีนี้ และได้อ่านแถลงการณ์ปิดคดีของทั้งฝ่ายอัยการ และฝ่ายผุ้ถูกกล่าวหา รวมทั้งคำพิพากษาของศาล แล้วคิดตามด้วยใจเป็นธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นจนจบ นช. ทักษิณ กับคุณหญิงพจมาน และลูกๆ ไม่สามารถพิสูจน์ หักล้างข้อกล่าวหา ของ คตส.ได้เลย มีแต่ข้ออ้างลอยๆว่า ไม่รู้ ไม่จริง ไม่ใช่ ไม่ผิดปกติ

จึงไม่สามารถทำให้ศาลสิ้นสงสัย และยกประโยขน์ให้จำเลยหรือผุ้ถูกกล่าวหาได้


หลักฐานชิ้นสำคัญบางชิ้น ที่มัดตัวนชข. ทักษิณว่า ซุกหุ้นจริง ก็มาจากฝ่าย นช. ทักษิณเองนั่นแหละ เผลอไผล ปล่อยให้หลุดมาถึงมือ คตส.เพราะพฤติกรรมที่ซุกซ่อน อำพราง มากมายเหลือเกิน ซุกซ่อนกันมานานหลายปี โยกย้ายถ่ายโอนกันหลายรอบ จนคนที่มีหน้าที่ดูแลเอกสาร ก็จำไม่ได้ว่า อันไหนจริง อันไหนเท็จ ส่งไปให้ คตส.ดูหมด

นายแก้วสรร อติโพธิ์ หนึ่งในคณะกรรมการ คตส. ผู้รับผิดชอบคดียึดทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ มติชนฉบับวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553 ตอนหนึ่ง ว่า

“ คมช. เขาไม่ได้สั่งให้เรายึดทรัพย์ คตส.เองก็ยังเถียงกันเกือบตาย ให้พูดตรงๆ มันเริ่มเพราะเขาเซ่อเอง คตส. ตรวจสอบหุ้นชินคอร์ป เขานึกว่าจะตรวจสอบแต่ภาษีก็ให้หลักฐานมาทั้งหมด ไม่ตรวจดูเลยว่าเอาอะไรมาให้บ้าง ตรงนี้ก็เลยพบหลักฐานว่า คุณทักษิณเป็นคนเซ็นเบิกหุ้นชินคอร์ป ก็ให้มาเองนี่หว่า ไม่ได้ชิ้นนั้นก็คงไม่มีใครกล้าหรอก เพราะเราทำอะไรด้วยหลักฐาน ต้องกลับไปถามว่า คุณกาญจนภา ( หงส์เหิน) เลขานุการคุณหญิงพจมาน) ว่าให้หลักฐานมาทำไม เป็นมรดกกาญจนภามากกว่า”


หลักฐานชิ้นที่ว่า ก็คือ หนังสือรับรองของ บริษัทแอมเพิล ริช จำนวน 2 หน้าที่ส่งมาจากธนาคารยูบีเอส สิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลหุ้นชินคอร์ป ที่อัมเพิล รีช ถืออยู่ ระบุว่า

“Any withdrawal is to be authorised by Dr. T. SHINAWATRA solely.”

แสดงว่า นช. ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปี 2548 ซึงเป็นช่วงเวลาที่ นช. ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ทั้งๆที่ นช. ทักษิณ อ้างว่า ได้โอนหุ้นแอมเพิล รีชให้กับนายพานทองแท้ ไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 แต่ทำไมจึงไม่เปลี่ยนกรรมการผู้มีอำนาจเสียตั้งแต่ตอนนั้น

ในการขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 1,419 ล้านหุ้น ให้กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ในจำนวนหุ้น 1,419 ล้านหุ้นนั้น เป็นหุ้นที่ถือไว้โดยแอมเพิลรีช 329.2 ล้านหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี จึงได้มีการโอนหุ้น 329.2 ล้านหุ้นนี้ ให้เป็นของบุคคลธรรมดา คือ นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา คนละ 164.6 ล้านหุ้น ในวันที่ 20มกราคม 2549 เพราะการขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้ขายเป็นนิติบุคคล ต้องสียภาษีเงินได้ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสีย-ภาษี

นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ซื้อหุ้นชินคอร์ป จากแอมเพิลรีช ในราคาหุ้นละ 1 บาท เอาไปขายให้เทมาเส็กในราคาหุ้นละ 49.25 บาท กำไรหุ้นละ 48.25 บาท ได้กำไรคนละ 7,941 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ไม่ยอมเสีย ด้วยความอนุเคราะห์ของกรมสรรพากรในขณะนั้น เอาหูไปนา เอาตาไปไร่

เมื่อ มีการยึดอำนาจ วันที่ 19 กันยายน 2549 คตส. จึงตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ นายพานทองแท้ นางสาวพิณทองทา และตรวจสอบแอมเพิลรีช ในเรื่องนี้ ด้วย

นางกาญจนา ยื่นเอกสารที่ขอมาจากยูบีเอส สิงคโปร์ ซึ่งรับดูแลหุ้นชินคอร์ปที่ถือโดยแอมเพิลรีช ให้กับ คตส. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 และเดินทางไปให้ปากคำยืนยันหลักฐานทั้งหมดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 และยืนยันว่า หนังสือรับรองที่ระบุผู้มีอำนาจเบิกถอนหุ้นจากยูบีเอส มีเพียงใบเดียว ดังปรากฎในบันทึกการให้ปากคำว่า

“พยานเอกสารที่ขอมาจากธนาคาร ยูบีเอส เอจี สิงคโปร์ ธนาคารที่รับดูแลหุ้นชินคอร์ปของแอมเพิลริช ทั้งหมดได้ส่งมอบให้กับ คตส. ทั้งหมดแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2550 ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจในบัญชีเลขที่ 119449 ตั้งแต่เริ่มเปิดบัญชี ถึงวันที่ 29 มิ.ย.2548 มีอยู่เพียงใบเดียว”

เป็นการยืนยันซ้ำอีกที ไม่ให้ คตส. ไขว้เขวสับสนว่า ผู้มีอำนาจในแอมเพิลรีช มีคนเดียวคือ Dr. T Shinnawatara


หลักฐานชิ้นนี้ทำให้ คตส.เชื่อว่า นช. ทักษิณ ยังคงถือครองหุ้นชินคอร์ป ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2544 ถึงปี 2548

เพราะต้องการเลี่ยงภาษี การขายหุ้นชินคอร์ป จึงโอนย้ายถ่ายเทหุ้น จนเป็นเหตุให้เอกสารที่มัดตัวว่า นช. ทักษิณ เป็นผู้มีอำนาจในแอมเพิลรีช ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี หลุดไปถึงมือ คตส. จนนำไปสู่การฟ้องร้องให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน


นช.ทักษิณ ไม่เคยปฏิเสธว่า ตนเองไม่ใช่ Dr. T Shinnawatara ได้แต่ยืนยันในแถลงการณ์ปิดคดี ข้อ 4.2 ว่า

“ ส่วนข้ออ้างที่ว่า พบว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินจากการเปิดบัญชีไว้กับธนาคารยูบีเอสและไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจนปี 2548 ก็ไม่ผิดปกติ เพราะเป็นการเปิดบัญชีไว้แต่แรกตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทปี 2542 ซึ่งต่อมาข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยลงลายมือชื่อทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคารเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่เปิดบัญชี จนขายหุ้นบริษัท แอมเพิลรีช ให้นายพานทองแท้ตั้งแต่ปี 2543 จากนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องใดๆอีกเลย “


นช.ทักษิณยังอ้างว่า หลังขายหุ้นให้นายพานทองแท้ ก็จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนผู้ถือหุ้นโดยมีชื่อนายพานทองแท้แทนตั้งแต่ปี 2543 แต่ในคำแถลงปิดคดีของอัยการ ในส่วนนี้ระบุว่า

“ ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2543 โอนหุ้นแอมเพิลรีช 1 หุ้นให้นายพานทองแท้ แต่ไม่รายงานตลาดหลักทรัพย์ นายพานทองแท้เพิ่งมารายวานเมื่อวันที่ 23 และ 30 มกราคม 2549 ภายหลังซื้อมานาน 6 ปี และหลังขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปให้กลุ่มเทมาเส็ก และเกิดการตรวจสอบหุ้นของ ก.ล.ต. จึงไม่น่าเชื่อถือว่า นายพานทองแท้ เป็นเจ้าของบรัทแอมเพิลรีชจริง “


ในขณะที่อัยการผู้กล่าวหา มีหลักฐานชัดเจนว่า นช. ทักษิณมีอำนาจเบิกจ่ายเงินแอมเพิลรีช จนถึงปี 2548 ส่วน นช. ทักษิณ ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า ได้โอนหุ้นแอมเพิลรีชให้นายพานทองแท้ ไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 แล้ว หลักฐานที่นายพานทองแท้นำมาอ้าง คือรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ เพิ่งทำขึ้นหลังจากนั้นอีก 6 ปี

หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ใครเป็นเจ้าของแอมเพิลรีช

ศาลมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า


“ สำหรับบริษัทแอมเพิลริช ซึ่งมีสถานที่ติดต่ออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำนวน 12,920,000 หุ้น โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ชำระแทนบริษัทแอมเพิลริช ในวันเดียวกันผู้ถูกกล่าวหาได้ให้นางกาญจนาภา หงส์เหิน เข้าเป็นกรรมการในบริษัทแอมเพิลริช ร่วมกับนายเลา วี เตียง ซึ่งเป็นกรรมการอยู่เดิม และในวันดังกล่าว บริษัทแอมเพิลริช โดยนายเลา วี เตียง และนางกาญจนาภา ในฐานะกรรมการบริษัท ได้เปิดบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส เอจี ที่ประเทศสิงคโปร์ บัญชีเลขที่ 119449 โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้มีอำนาจเบิกถอนแต่ผู้เดียวคือ ดร.ที (T) ชินวัตร


จากการตรวจสอบของคณะกรรมการไต่สวน ปรากฏว่า นับตั้งแต่วันเปิดบัญชีจนถึงเดือนเมษายน 2546 ก่อนที่บริษัทแอมเพิลริช จะได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ป มีเงินโอนเข้าบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชหลายครั้ง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,200,000 บาท แต่นางกาญจนาภาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบว่า จำไม่ได้ว่าเป็นเงินของใครที่นำมาชำระค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทแอมเพิลริชไม่ได้ประกอบกิจการใด จึงไม่มีการทำบัญชี แต่บริษัทแอมเพิลริช ได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ป ในปี 2546 ปี 2547 และงวดแรกของปี 2548 ในเดือนเมษายน 2548 รวม 5 งวด รวมเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจึงมีอำนาจเบิกถอนเงินของบริษัทแอมเพิลริชแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริช เพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในในบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชในเดือนมิถุนายน 2548 เป็นผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3

ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง 4 ปี ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเรียกเก็บค่าหุ้น 1 หุ้น ทั้งที่การขายหุ้นดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซื้อหุ้นของบริษัทชินคอร์ป จำนวนหุ้นปี 2543 ถึง 32,920,000 หุ้น โดยชำระเงินเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง


กำลังโหลดความคิดเห็น