xs
xsm
sm
md
lg

องค์คณะฯ“เปิดห้องลับ” วัดเสียง“ยกฟ้อง-ยึดทรัพย์” ลุ้นระทึกจุดยืน 9 ตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดินหน้าพิพากษายึดทรัพย์ วันนี้มาว่ากันด้วยเรื่องก่อนจะมาเป็น คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ว่ามีกระบวนการอย่างไร

โดยที่มาที่ไปก็คือ ก่อนที่องค์คณะตุลาการผู้พิจารณาสำนวนคดียึดทรัพย์ทั้ง 9 คน จะขึ้นนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ องค์คณะทั้งหมด ที่ประกอบด้วย

1.นาย สมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ตุลาการเจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์ 2.นาย ธานิศ เกศวพิทักษ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา 3.นาย พิทักษ์ คงจันทร์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา แทนนาย บุญรอด ตันประเสริฐ ที่ขอถอนตัวหลังเกิดปัญหาข่าวผลการลงมติขององค์คณะฯคดีทุจริตกล้ายางพารารั่วไหล

4.นาย พงศ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ที่มาแทนนาย ศิริชัย จิระบุญศรี หัวหน้าศาลฎีกา ที่ขอถอนตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ 5.นาย อดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา แทนนาย ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช หัวหน้าศาลฎีกา ที่อายุครบ 60 ปีระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น และได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์เลยต้องเลือกองค์คณะใหม่ได้นายอดิศักดิ์แทน

6.ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล รองประธานศาลฎีกา และประธานสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหามติองค์คณะคดีทุจริตกล้ายางพารารั่วก่อนศาลอ่านคำพิพากษา 7.นาย ประทีป เฉลิมภัทรกุล ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา 8.นาย กำพล ภู่สุดแสวง ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และ 9.นาย ไพโรจน์ วายุภาพ รองประธานศาลฎีกา

ทั้งหมดจะต้องเปิดห้องประชุมศาลฎีกาแล้วทำการประชุมลับ ที่จะต้องไม่มีคนอื่นเกิน 9 คนนี้อยู่ร่วมในห้องเพื่อร่วมกันแถลง

“ความเห็นในการวินิจฉัยคดี”


ของแต่ละคน หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “คำวินิจฉัยส่วนตน”ซึ่งขั้นตอนก็คือ ทันทีเมื่อองค์ประชุมมาครบ 9 คนแล้ว จากนั้นตุลาการเจ้าของสำนวนซึ่งก็คือสมศักดิ์ เนตรมัยจะเปิดประชุม แล้วขอให้ตุลาการผู้พิจารณาสำนวนคดียึดทรัพย์แต่ละคนเริ่มอ่านความเห็นในการวินิจฉัยคดีต่อที่ประชุม ซึ่งตามหลักปฏิบัติก็จะยึดหลักอาวุโสอันเป็นหลักปฏิบัติตามจารีตตุลาการอันเคร่งครัด

เริ่มจากตุลาการผู้อาวุโสที่สุดในคณะคือผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ตามด้วยรองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลฎีกาและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ระหว่างที่ตุลาการแต่ละคนอ่านความเห็นในการวินิจฉัยคดี ที่ประชุมก็จะมีการจดบันทึกประเด็นความเห็นของทุกคนในแต่ละเรื่องซึ่งก็มักจะเป็นประเด็นความเห็นในการวินิจฉัยคดีตามสำนวนฟ้องของผู้ร้องคืออัยการเอาไว้เพื่อจะได้รู้ว่า ประเด็นต่างๆ องค์คณะเสียงส่วนใหญ่คือ 5 เสียงขึ้นไปมีความเห็นอย่างไร

เช่น ประเด็นที่ว่าทักษิณ ชินวัตร และอดีตคู่สมรสคือคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ มีการปกปิดการถือครองหุ้นชินคอร์ปในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่แจ้งต่อป.ป.ช.และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(กลต.)ตามสำนวนการไต่สวนของคตส.และคำฟ้องของอัยการ องค์คณะเสียงส่วนใหญ่เห็นควรในประเด็นนี้ว่าอย่างไร

ถ้าความเห็นในการอ่านคำวินิจฉัยคดีเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทักษิณมีเจตนาปกปิดการถือครองหุ้นชินคอร์ปโดยให้คนในครอบครัวคือพานทองแท้ –พินทองทา ชินวัตร-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-บรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือครองหุ้นให้แทน

ก็จะไปเข้าสู่ในประเด็นต่อไปคือ การถือครองหุ้นชินคอร์ปของทักษิณระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณได้รับประโยชน์จากธุรกิจชินคอร์ปทั้งในรูปเงินปันผลและมูลค่าหุ้น อันเป็นทรัพย์ที่มิควรได้ตามกฎหมายป.ป.ช.ผ่านการใช้อำนาจทางการเมืองในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการออกมาตรการต่างๆ 5 มาตรการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจชินคอร์ป อาทิ การแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ตามสำนวนการสอบสวนของคตส. และคำร้องอัยการที่ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ทักษิณตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่

จากนั้นก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆไปเรียงตามลำดับคำฟ้อง โดยที่ประชุมจะมีการบันทึกความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ไว้ทั้งหมดโดยละเอียด เพื่อจะได้นำความเห็นในการวินิจฉัยคดีดังกล่าวไปเขียนเป็นคำพิพากษาที่จะต้องยกเหตุผล-ข้อกฎหมายมาลำดับเป็นข้อๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทักษิณไม่ได้มีเจตนาและไม่มีพฤติการณ์ซุกหุ้นชินคอร์ปอย่างที่คตส.กล่าวหา ประเด็นเรื่องการได้ทรัพย์โดยมิควรได้ และประเด็นการใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองออกมาตรการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจชินคอร์ป ก็มีแนวโน้มที่จะไม่มีการพิจารณาต่อไปด้วยเหตุที่องค์คณะฯเห็นว่าทักษิณไม่ได้ถือหุ้นชินคอร์ปเอาไว้

ดังนั้นความผิดในประเด็นถัดไปเช่นออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ปหรือได้ทรัพย์สินอันมิควรได้ก็ไม่ถือว่าทักษิณมีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์แต่อย่างใด โดยหากเสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะฯเทมาในทางนี้ องค์คณะฯก็จะต้องนำเหตุผลต่างๆของเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นว่าทักษิณไม่ได้ซุกหุ้นไปเขียนเป็นคำพิพากษาเช่นกัน

โดยต้องอธิบายและบรรยายในคำพิพากษาว่าเหตุใดจึงเชื่อว่าทักษิณและอดีตคู่สมรส คุณหญิงพจมาน ไม่ได้ปกปิดการถือครองหุ้นชินคอร์ปและไม่ได้เป็นเจ้าของแอมเพิล ริชฯและวินมาร์คซึ่งเป็นสองบริษัทที่ทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นในชินคอร์ป อย่างที่คตส.-อัยการระบุในคำร้อง เพื่อให้มีการนำไปอ่านที่บัลลังก์เช่นกัน

กระบวนการอ่านความเห็นในการวินิจฉัยคดีขององค์คณะฯ จึงไม่ได้มีการลงมติอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่คะแนนที่ออกมาในแต่ละประเด็นในหลายต่อหลายคดีที่ผ่านมา ก็คือการสรุปความเห็นขององค์คณะฯแต่ละคนออกมาทีละคน ว่าประเด็นไหน องค์คณะฯมีความเห็นสอดคล้องกันกี่เสียง ไม่เห็นด้วยกี่เสียง

นี่จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาคดี ซึ่งก็เป็นหลักทั่วๆไป คือยึดเสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะตุลาการที่ตัดสินคดี แล้วนำเหตุผลในความเห็นการวินิจฉัยคดีของเสียงส่วนใหญ่นำไปเขียนและจัดพิมพ์เป็นคำพิพากษาคดี

สำหรับกระบวนการจัดพิมพ์คำพิพากษาคดี ก็เหมือนกับทุกคดีของศาลยุติธรรมคือมีระบบป้องกันความลับในคดีรั่วไหลมาเป็นอย่างดี ทั้งการเลือกเจ้าหน้าที่มาพิมพ์คำพิพากษาซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลและทีมงานหน้าห้ององค์คณะ เช่นผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งจะมีการคัดเลือกและตรวจสอบประวัติมาแล้วเป็นอย่างดี และทำงานร่วมกับองค์คณะฯมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จึงไว้ใจได้ในเรื่องการรักษาความลับ เรื่องมติรั่วโอกาสแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะออกมาจากขั้นตอนการจัดพิมพ์คำพิพากษา

ยิ่งกับคดีที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯมักเป็นคดีสำคัญเกี่ยวพันกับนักการเมือง คนใหญ่คนโตในสังคม และเป็นศาลที่ตัดสินเพียงศาลเดียวแม้จะเปิดช่องให้อุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันแต่ก็ยากในทางปฏิบัติ

จึงทำให้การรักษาความลับในคดี ยิ่งมีความสำคัญมาก

เพราะหากความลับรั่วไหลอาจมีผลต่อคดีทันทีเช่นผู้ถูกร้องหรือจำเลย ที่จะเป็นพวกนักการเมือง-อดีตขรก.ระดับสูงที่ต้องการรู้ผลคดีล่วงหน้าจะได้ประเมินสถานการณ์ถูก หากทราบข่าวแนวโน้มการตัดสินคดีล่วงหน้า เช่นไม่รอด ก็จะรีบหลบหนีคดีไปโดยไม่ยอมมาฟังการอ่านคำพิพากษาของศาล

จึงทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีการวางระบบระบบป้องกันความลับรั่วไหลมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงระหว่างที่มีการอ่านคำวินิฉัยคดีของที่ประชุมองค์คณะฯแล้วเสร็จ และนำไปจัดพิมพ์เป็นคำพิพากษาที่ใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง พบว่ามีระบบป้องกันและคุมเข้มทุกขั้นตอนจนยากที่ความลับในคดีจะรั่วไหลไปก่อนที่การอ่านคำพิพากษายังไม่เสร็จสิ้น

ทำให้เป็นที่ไว้ใจได้ว่า อย่างไรเสียกระแสข่าวต่างๆ เช่นมติ 6 ต่อ 3 หรือ 5 ต่อ 4 อะไรต่างๆ เวลานี้ยังเป็นแค่ข่าวสุกๆดิบๆ ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เพราะของจริง องค์คณะฯทั้ง 9 คนส่งเสียงผ่านมาว่า ขนาดคนที่บ้านยังไม่รู้ ลูกหลานยังไม่กล้าแม้แต่จะถาม แล้วคนภายนอกจะมาล่วงรู้ไปไกลถึงขั้นบอกมติกันล่วงหน้าก่อนวันตัดสินคดีได้อย่างไร

ของจริงให้รอฟัง 26 ก.พ.53
กำลังโหลดความคิดเห็น