xs
xsm
sm
md
lg

แรงสะเทือน GT 200 "อังคณา" แฉ เติมไฟใต้ ลิดรอนสิทธิพี่น้อง 3 จว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เมียทนายสมชาย" แฉ ข้อมูลน่าสนใจ พบพี่น้อง 3 จังหวัดชายใต้ สะเทือนใจ จนท. ใช้ "GT 200" หลังรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุมตัว ชี้ เป็นการลิดรอนสิทธิ ควบคุมตัวโดยไร้เหตุผล จี้ ผ่าพิสูจน์ "GT 200" สเปกไม่ได้มาตรฐาน จะรักษาสัญญาทำไม ด้าน "ส.ว.เจะอามิง" มั่นใจเนคเทค หลังตรวจแล้ว "GT 200" ไม่ได้ประสิทธิภาพ เตือน รัฐอย่าเอาชีวิตคนเสี่ยง

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”

วานนี้ (17 ก.พ.) รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-22.00 น. มี น.ส.รัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้มีการเชิญ นายเจะอามิง โตะตาหยง ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ และนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มาร่วมพูดคุยและสะท้อนมุมมองของเครื่อง GT 200

นายเจะอามิง กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบ GT 200 ว่า ตอนแรกที่จะมีการตรวจสอบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาตร์ เข้าไปเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งขั้นตอนเต็มไปด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ 1.ฝ่ายซ่อนหา 2.ฝ่ายค้นหา และ3.คณะกรรมการกลาง ซึ่งผลการพิสูจน์ออกมาว่า ไม่พบระเบิด 16 ครั้ง ในจำนวน 20 ครั้ง และพบแค่ 4 ครั้งเท่านั้น

นายเจะอามิง กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น หลังการตรวจสอบเสร็จใหม่ๆ ไม่มีการร้องเรียนอะไร จนมาไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคนติดต่อตนมาว่าอยากร้องเรียนว่าการตรวจสอบครั้งดังกล่าวมีสารปนเปือน ซึ่งในประเด็นนี้ ตนก็รู้สึกสงสัยว่าสารปนเปื้อนดังกล่าวจะมาจากทีไหน ในเมื่อผู้ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องอยู่ในห้องเดียวกัน ไม่ได้เคลื่อนย้ายหรือไปที่ไหน แต่ในเมื่อมีผู้ร้องเรียน ตนก็ต้องชี้แจงว่า จะรับไว้พิจารณา ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติจริงๆ จะสามารถดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ร้องเรียนทำหนังสือมาให้ชัดเจน

"การทดสอบของเนคเทคมีความละเอียดสูงมาก สามารถบังคับคนให้อยู่ภายในพื้นที่เดียวกันได้ ผมเชื่อในความยุติธรรมและความเป็นธรรมของคณะกรรมาธิการทุกฝ่าย และต้องให้เครดิตผู้ตรวจสอบ ผมจดรายละเอียดไว้หมด แต่ไม่คิดว่าวันนี้จะกลายเป็นปัญหาอีก โดยถ้าหากมีการยื่นหนังสือร้องเรียนมาจริง ก็ต้องนำสู่ชั้นคณะกรรมาธิการต่อไป" นายเจะอามิง กล่าว

นายเจะอามิง กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมกัน ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องการให้สัมภาษณ์เชิงสถิติจะหลีกเลี่ยงตอบคำถาม เพราะไม่อยากให้รายละเอียดมาก เนื่องจาก มีหน้าที่แค่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อผลการตรวจสอบออกมาเช่นนี้ ก็ต้องว่าไปตามนั้น แต่ตนอยากให้ข้อคิดว่า อย่าเอาเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพไปใช้งาน และอย่าเอาชีวิตคนไปเสี่ยงกับเครื่องมือดังกล่าว

นางอังคณา กล่าวถึงประสิทธิภาพของ GT 200 ว่า ในประเทศอังกฤษหรือการตรวจสอบระดับสากล อย่างน้อยต้อง 8 ครั้งขึ้นไป ถึงจะอนุญาตให้ใช้งานได้ ดังนั้น เครื่องของไทยทำได้ 4 ครั้ง ก็เท่ากับประมาณ 20% เท่านั้น ตนจึงไม่เข้าใจว่า ในเมื่อผลการตรวจสอบออกมาเป็นเช่นนี้ เหตุใดจึงมีการแย้งว่า มีสารปนเปื้อนในการตรวจสอบ ทั้งที่ในระหว่างนั้น ระเบิดซีโฟร์ถูกห่อหุ้มด้วยฉนวนอย่างดี

"เราไม่เชื่อว่าเครื่องมือกระดิกตามกลไกทางวิทยาศาสตร์ แต่เชื่อว่ากระดิกด้วยมือคน ดังนั้น เรื่องนี้มันเหมือนการใช้จิตวิทยา ที่สำคัญกระบอกเป็นพลาสติก ทำให้ไม่แน่ใจว่าไฟฟ้าจากตัวเราหรือมือเราจะเข้าไปถึงตัวเครื่อง และมีกำลังมากพอทำให้เสากระดิกหรือไม่ จริงๆแล้ว หากยอมให้ผ่าตั้งแต่แรก จะได้รู้กันว่ามีหรือไม่มีอะไร แต่ก็ไม่ให้ความสำคัญของการผ่า"นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวต่อว่า จริงๆผลการตรวจสอบ มันเป็นไปตามความคาดหวังของนักวิทยาศาสตร์และนักสิทธิมนุษยชน คือ ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยมันต้องทำได้ประมาณ 25% แต่จริงๆแล้ว มันทำได้แค่ 20% เท่านั้น ทั้งนี้ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้มีการติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งตอนนั้น มีการใช้ยุทธการแยกปลากับน้ำในจังหวัดชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ครื่องมือดังกล่าวด้วยความมั่นใจในประสิทธิภาพ โดยเมื่อเครื่องมือชี้ไปทิศทางใด ก็จะบุกเข้าไปตรวจค้น และจับกุมตัวชาวบ้าน โดยตรงจุดนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปแล้ว ก็จะเห็นภาพผู้หญิงจำนวนมาก เดินทางไปร้องศาล ให้พิจารณาว่าการจับกุมตัวดังกล่าวชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เพราะการควบคุมตัวหัวหน้าครอบครัวไปเป็นเวลานานหลายเดือน โดยที่ไม่หลักฐานยืนยันว่ากระทำผิดหรือไม่ มีเพียงแต่เครื่องมือดังกล่าวที่ชี้วัดเป้า

"เจ้าหน้าที่อาศัยความไม่รู้ของชาวบ้านที่จะทำอะไรกับพวกเขาก็ได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ดิฉันถือว่าต้องหยุด ถ้าเกิดทำต่อไป วันนี้รัฐบาลแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี คุณอภิสิทธิ์ ก็ยอมรับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาภาคใต้ ดังนั้น ปัญหาภาคใต้สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญ คือ ชาวบ้านรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการควบคุมตัวประชาชนด้วยเครื่องมือดังกล่าว ถ้ารัฐบาลปล่อยให้หน่วยงานความมั่นคงใช้เครื่องมือนี้ต่อไป เชื่อว่ารัฐบาลจะสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน และยากต่อการแก้ปัญหาภาคใต้" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวอีกว่า ตอนที่ลงพื้นที่ ชาวบ้านเล่าให้ฟังเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเรื่องราวของ GT 200 ทำให้ทราบว่าเคยมีการชี้ไปทางยอดมะพร้าว หรือแม้กระทั่งหม้อแกงกับข้าว ซึ่งชาวบ้านก็ท้าให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และย้อนถามว่าความถูกต้องอยู่ตรงไหน ทำไมไม่ใช้เครื่องมือที่มีความแม่นยำ

นายเจะอามิง กล่าวประเด็นนี้ว่า เท่าที่ตนทราบมาข้อมูล GT 200 เริ่มต้นใช้มาตั้งแต่ปี 2547 โดยมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งข้อมูลของนางอังคณา น่าสนใจมากในประเด็นปัญหาของภาคใต้ เพราะเรื่องนี้ ตนว่ารัฐบาลต้องเข้าไปดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากปัญหาภาคใต้ส่วนหนึ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น ไม่ว่าปัญหานี้ จะเกิดขึ้นสมัยใด แต่ในเมื่อประชาชนยังเดือดร้อนอยู่ ก็ต้องรีบเข้าไปแก้ไข

"ถ้ามีเครื่องมือที่ดีกว่านี้ก็หาไปให้เจ้าหน้าที่ใช้ หากยังไม่มี ก็อย่าใช้เลยเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมันจะนำมาสู่การเพิ่มเงื่อนไข แต่เท่าที่ผมติดตามมาในสมัยนายกฯอภิสิทธิ์ ก็พยายามที่จะเข้าไปตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องภาคใต้มากขึ้น ผมพูดไม่ได้เพื่อปกป้องรัฐบาล แต่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น โดยวันนี้ อยากให้รัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และวางกลไกควบคุมให้ดี"นายเจะอามิง กล่าว

นางอังคณา กล่าวปิดท้ายว่า ตอนแรกยังไม่มีใครรู้ GT 200 คืออะไร แต่ในเมื่อตอนนี้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ก็เห็นว่าสเปกของเครื่องมือดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน แต่ตนอยากถามว่าทำไมยังต้องรักษาสัญญาอีก เมื่อไหร่จะยอมให้ผ่าพิสูจน์
น.ส.รัตน์ติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์
นายเจะอามิง โตะตาหยง
นางอังคณา นีละไพจิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น