xs
xsm
sm
md
lg

เลิกใช้จีที 200 แล้วต้องคุ้ยหา “ไอ้โม่ง” งาบหัวคิวด้วย!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

สิ่งที่สังคมมักสงสัยอีกประเด็นหนึ่งก็คือ กระบวนการจัดซื้อ อาจ “มิชอบ” เนื่องจากเห็นว่ามีราคาแพงเกินจริง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ และกลไกการทำงานภายในตัวเครื่อง อีกทั้งที่ผ่านมายังมีการสั่งซื้อเพิ่มอยู่อยู่ตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งทางหน่วยงานความมั่นคงในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและสหรัฐฯ สั่งระงับการใช้ แต่ทำไมกองทัพและหน่วยงานของไทยยังปล่อยให้ใช้อยู่ต่อไปโดยไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ มิหนำซ้ำยังยืนยันและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพอย่างปิดปกติ

ในที่สุดจากคำแถลงอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่าจะสั่งระงับใช้และเลิกสั่งซื้อเพิ่มเติมเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 ตามผลการทดสอบของคณะกรรมการตรวจสอบที่มี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สรุปออกมาว่าไม่มีประสิทธิภาพ หรือถ้าเรียกแบบภาษาชาวบ้านก็คือ “ห่วยแตก” นั่นแหละ เพราะผลการทดสอบจำนวน 20 ครั้ง แต่เข้าเป้าเพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น

ขณะเดียวกันยังสั่งให้มีการตรวจสอบถึงกระบวนการจัดซื้อก่อนหน้านี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ให้ไล่ย้อนกลับไปไปจนถึงต้นตอ ก็ถือว่าโอเค มีความตรงไปตรงมาสูงและยึดถือความจริงเป็นหลัก

ที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนที่จะมีการแถลงของนายกรัฐมนตรี ได้มีการเชิญ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เข้าไปรับทราบถึงผลสรุปของการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องดังกล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมๆกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกด้วย

เครื่องจีที 200 ดังกล่าวหากจะอธิบายคร่าวๆเพื่อให้ได้เห็นภาพก็คือ เป็นเครื่องมือที่ผลิตในประเทศอังกฤษ ใช้ในการตรวจหาสารประกอบระเบิด ดินปืน ยาเสพติด โดยใช้หลักการสนามแม่เหล็กเป็นตัวค้นหาและชี้เป้า ขณะเดียวกันอุปกรณ์ภายในเครื่องก็จะใช้การ์ดหรือชิฟซึ่งแยกประเภทชนิดในการค้นหา เช่น หากต้องการค้นหาสารซีโฟร์ก็จะใส่ชิฟสำหรับค้นหาสารดังกล่าว เป็นต้น โดยในแต่ละเครื่องสามารถบรรจุชิฟได้สูงสุด 18 ชนิด

ที่ผ่านมาเคยมีการทดสอบประสิทธิภาพกันมาแล้ว โดยเฉพาะในกองทัพของอังกฤษผลออกมาไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อยจึงสั่งระงับการใช้ และก่อนหน้านี้ทางสำนักนักข่าวบีบีซีก็เคยรายงานผลการพิสูจน์ให้ทราบมาแล้ว ขณะเดียวกันยังมีรายงานอีกว่า กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เคยแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานความมั่นคงให้ทราบว่าเครื่อง จีที 200 ไม่มีประสิทธิภาพ

สำหรับประเทศไทย เริ่มสั่งซื้อเข้ามาใช้ในประเทศไทยเมื่อปี 2547 ในยุคที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยมีการกระจายใช้ไปตามกองทัพภาคต่างๆทั้งกองทัพภาคที่ 1-4 แต่กองทัพภาคที่ 4 จะมีการนำเครื่องดังกล่าวไปใช้มากที่สุด นอกเหนือจากนี้ยังมีรายงานว่ายังมีอีกหลายหน่วยงานที่สั่งซื้อเครื่องมือ จีที 200 มาใช้ เช่น ป.ป.ส.เพื่อตรวจหาสารเสพติด สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละหน่วยงานมีการจัดซื้อในราคาในราคาที่ไม่เท่ากัน มีทั้งราคาตั้งแต่ 5-6 แสนบาทไปจนถึง 1.1-1.6 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้มีการทดสอบประสิทธิภาพกันหลายครั้ง เนื่องจากเกิดความสงสัยจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากเห็นว่าผลจากการทำงานของเครื่องก่อให้เกิดความผิดพลาดหลายครั้ง เกิดความสูญเสีย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และทำให้สูญเสียอิสรภาพอีกด้วย

จากการสัมมนาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2552 ก็เคยมีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยใช้เครื่องจีที 200 รวมไปถึงชาวบ้านและนักสิทธิมนุษยชนมาให้ข้อมูล ขณะที่ตัวแทนฝ่ายทหารยืนยันว่ามีประสิทธิภาพเชื่อถือได้ แต่ฝ่ายชาวบ้านหรือผู้ได้รับผลกระทบกลับเห็นไปในทางตรงกันข้าม ยืนยันว่าเครื่องทำงานผิดพลาด หรือทำให้เกิดผลกระทบทำให้สูญเสียอิสรภาพ เช่น บางครั้งเครื่องชี้ไปที่บุคคลที่ถูกระบุว่ามีสารเสพติด มีการจับกุมไปสอบสวนโดยยึดถือเพียงแค่เครื่องชี้ไปตรงตัวเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อบ่ายวันที่ 6 ต.ค.2552 ได้เกิดเหตุระเบิดตรงข้ามโรงแรมเมอร์ลิน กลางเมืองโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งที่ก่อนเกิดเหตุมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบหาวัตถุระเบิด ซึ่งผลของการใช้เครื่อง จีที 200 ไม่พบระเบิด หรือหลายครั้งที่เครื่องชี้ว่า มีระเบิด แต่พอไปเก็บกู้กลับกลายเป็นว่าไม่มีระเบิด เป็นต้น

ดังนั้น เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่มีการสั่งระงับการใช้เครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายสำหรับคนที่ใช้ และประชาชนที่จะได้รับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินและยังสูญเสียอิสรภาพถูกจับกุมคุมขัง ซึ่งอีกด้านหนึ่งอาจสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นอีก จากความไร้ประสิทธิภาพของเครื่อง แต่ผู้ใช้หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม

ขณะเดียวกันจะต้องมีการตรวจสอบถึงที่มาที่ไปและการสั่งซื้อเครื่องมาใช้ ว่าที่ผ่านมาก่อนนำมาใช้มีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่สังคมมักสงสัยอีกประเด็นหนึ่งก็คือ กระบวนการจัดซื้ออาจ “มิชอบ” เนื่องจากเห็นว่ามีราคาแพงเกินจริง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพ และกลไกการทำงานภายในตัวเครื่อง อีกทั้งที่ผ่านมายังมีการสั่งซื้อเพิ่มอยู่อยู่ตลอดเวลาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งทางหน่วยงานความมั่นคงในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและสหรัฐสั่งระงับการใช้ แต่ทำไมกองทัพและหน่วยงานของไทยยังปล่อยให้ใช้อยู่ต่อไปโดยไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ มิหนำซ้ำยังยืนยันและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพอย่างปิดปกติ

สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าสร้างความสงสัยกับประชาชนไม่น้อย อย่างไรก็ดี เพื่อความโปร่งใสจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไปเพื่อให้สาวไปถึงต้นตอและอธิบายได้ว่าทำไมต้องจัดซื้อ ซื้อทำไม ซื้อจากบริษัทไหนและที่สำคัญได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพก่อนนำไปใช้จริงแล้วหรือยัง

เชื่อว่าหากตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาอาจจะต้องพบความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะ “ค่าหัวคิว” ที่มี “บิ๊กโม่ง” งาบจนพุงกางจึงพยายามปกปิดใช่หรือไม่!!
กำลังโหลดความคิดเห็น