นายกฯ เผยผลหารือกฤษฎีกาปัญหามาบตาพุด ไม่มีเกาเหลา แจงเหตุเข้าประชุมคกก. 4 ฝ่ายเพราะยังมีความสับสนในบางเรื่อง ได้ข้อยุติเรื่องร่วมกับ ก.ทรัพย์ หาทางออก ยันร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเสนอกรอบใช้เงินต่อสภาเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ หาข้อยุติไม่ได้ต้องให้ศาล รธน.ตีความ ชี้ต้องรอเวลาก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ-รอ กมธ.ปรับร่าง
วันนี้ (16 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ถึงผลการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อกรณีมาบตาพุดว่า วานนี้ตนได้หารือกับคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีมุมมองแตกต่างว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาค่อนข้างจะยึดข้อความในรัฐธรรมนูญว่า เขียนเท่านี้ก็จะออกกฎหมายเท่านั้น ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกรณีมาบตาพุด ครม.มีมติเห็นชอบจะให้บทบาทองค์การอิสระมากกว่า ที่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างเดียว พูดง่ายๆ คือ ให้สามารถทำงานช่วยให้เกิดความสมดุลได้ จึงได้ขอให้ทางเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าใจว่า ในส่วนของรัฐบาลต้องการที่จะเห็นองค์การที่เกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับ เป็นที่เชื่อถือ มิฉะนั้นการแก้ไขปัญหามวลชนจะไม่สำเร็จ ท่านบอกว่าจะไปสื่อสารเรื่องดังกล่าวกับคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่
“แต่ถ้าคณะกรรมการฯมีข้อสังเกตอะไรที่ในเชิงกฎหมายมันคิดว่า เป็นเรื่องที่เกินเลยไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็หรืออะไร ก็จะทำบันทึกเป็นข้อสังเกตให้ ครม.พิจารณา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า นายกฯ ได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไรในการทำประชาพิจารณ์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนได้พบกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เย็นวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีโอกาสพบปะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ได้ซักซ้อมความเข้าใจกันแล้วว่า อยากให้ทุกฝ่ายทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ให้มีปัญหากัน น่าจะเรียบร้อย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และกระทรวงทรัพยฯ เอง
เมื่อถามว่า สาเหตุที่ไปเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เป็นเพราะมีความขัดแย้งกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สาเหตุที่ไปเพราะความคิดเห็นบางประเด็นไม่ตรงกันและยังมีความสับสนในบางเรื่อง ซึ่งอยากให้มีความชัดเจนว่าตน หรือรัฐบาลคิดเห็นอย่างไร ไปเพื่ออธิบายให้ทราบว่าหลักคิดทั้งหมด การทำบัญชีรายชื่อกิจการควรจะคำนึงถึงอะไรบ้าง ก็เป็นการแลกเปลี่ยนกันตรงไปตรงมาดี
ส่วนการพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบมา หลังจากที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือมาถึงตนขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ช่วยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเงินกู้ ข้อแรกคือ ถ้าเขียนตามที่กฎหมายบัญญัติบอกว่า “ให้มีการเสนอกรอบการพิจารณาใช้เงินต่อรัฐสภา” ก็ตอบไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร คำว่าพิจารณาในที่นี้จะหมายถึงทีละสภาหรือประชุมร่วม หรือเป็นเรื่องการเห็นชอบก่อนหลัง ใคร สภาไหนจะมีอำนาจมากกว่ากัน แก้ไขได้หรือไม่ สรุปว่า ถ้าเขียนในขณะนี้ก็ไม่สามารถตอบได้เลยว่าในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า หากให้มีการประชุมร่วม น่าจะเกินเลยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ในการประชุมร่วมของรัฐสภา ประเด็นที่สอง ทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้ามีการตั้งกลไกในลักษณะกรรมาธิการ หรือกรรมการที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา เพื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบการใช้เงิน น่าจะเกินเลยขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติในเรื่องขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อความเห็น ไม่อาจหาข้อยุติได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ที่จะสามารถชี้ขาดได้ คือศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งตนจะส่งกลับไปยังกรรมาธิการพิจารณา
เมื่อถามว่าจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่มีช่องทางที่จะส่งได้ในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาในระบบของเราว่า ประเด็นที่มีข้อสงสัยในเชิงรัฐธรรมนูญแต่กรณียังไม่เกิด จะส่งได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีคนสงสัยว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นกรรมาธิการ
เมื่อถามว่า ต้องรอให้พิจารณากฎหมายผ่านสภาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใช่หรือไม่ ค่อยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรายังไม่ทราบ ชั้นนี้เป็นเพียงคณะกรรมาธิการขอให้เราขอคำวินิจฉัย และไม่ทราบว่าผลการตัดสินของกรรมาธิการเป็นอย่างไรในที่สุด จะคงร่างที่มีอยู่