xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เคลียร์ปัญหา กก.4 ฝ่าย แก้ปัญหามาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชีวะ
“มาร์ค” เข้าเคลียร์ปัญหากรรมการ 4 ฝ่าย รับปากสนับสนุนทุกโครงการตามเจตนารมณ์กรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด ด้าน “อานันท์” ปัดขัดแย้ง กรรมการ 4 ฝ่าย-กระทรวงทรัพย์ แต่พร้อมจะทำงานคู่ขนาน

วันนี้ (15 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าหารือกับนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และประธานคณะกรรมการประสานงานดำเนินการพิจารณาจัดตั้งองค์การอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ร่วมกับคณะกรรมการอื่น ๆโดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีร่วมประชุมด้วย

นายอานันท์เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีว่า ได้มีการหารือถึงการทำงาน ความคืบหน้า ที่ยังเหลืออยู่ในตอนนี้ คือการตั้งองค์การอิสระ และนายกฯ ได้เล่าถึงแนวคิดการทำงานของรัฐบาลให้กับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายรับทราบ 2 เรื่อง คือ การออก พ.ร.บ.องค์การอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเชื่อว่า ทางกฤษฎีกาจะเข้าใจเจตนารมย์ในการเสนอร่างองค์การอิสระ ว่าออกมาให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง

ทั้งนี้ ได้มีการหารือการรับฟังความคิดเห็น การจัดประเภทกิจการที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ในชั้นการหารือและการจัดทำเวทีความคิดเห็นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไม่มีปัญหาความขัดแย้ง โดยกระทรวงทรัพยากรฯ ยืนยันจะเป็นฝ่ายเลขาฯ ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 5 ครั้ง เพียงแต่กระทรวงทรัพยากรฯ เสนอให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นของคณะกรรมการชำนาญการก่อน

นายอานันท์กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กับกระทรวงทรัพยากรฯ ได้มีการหารือกันมาโดยตลอด ถึงการทำงานคู่ขนาน โดยเฉพาะในประเด็น การจัดแบ่งประเภทกิจการรุนแรงที่จะต้องยึดหลักความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความยืดหยุ่น ข้อเท็จจริง และการบังคับใช้ ทั้งหมดต้องสอดคล้องกัน และที่สำคัญไม่สร้างปัญหาในอนาคต

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐสิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เปิดเผยว่า นายกฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการ กฤษฎีกาแก้ไขอยู่ โดยขอให้รีบดำเนินการตามวัตถุของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายก่อนนำเข้าสภาฯ เพื่อเห็นชอบต่อไป

ในเรื่องของโครงการที่อยู่ในประเภทรุนแรงนั้น นายกฯได้ให้หลักการว่าจะต้องปฏิบัติได้จริง มีความยืดหยุ่นบ้าง โดยบ้างประเภทที่ยังไม่รอบคอบจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้รอบคอบ เช่น การจัดการเกี่ยงกับเทคโนฯที่ดีจะปรัยตัวอย่างไร

ทั้งนี้ นายกฯ จะพบกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรฯ เพื่อหารือเรื่องของความยืดหยุ่นในเรื่องความเห็นของกฤษฎีกา เพื่อให้โครงการเกิดการเดินหน้า ซึ่งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ร่วมประชุมด้วย และนายกฯได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นตามแผนของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย

ส่วนของความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็น นายกฯ เห็นว่าสามารถแก้ไขได้แต่ไม่ควรแก้ในเนื้อหาสาระ แก้เฉพาะถ้อยคำทางกฎหมาย ซึ่งนายกฯจะหารือกับทางกฤษฎีกาในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นายกฯ ยังระบุว่าคณะกรรมการทำงานมามากกว่า 3 เดือน จึงขอเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหากจะให้ช่วยแก้ไขอะไร ก็ให้บอกมา และยืนยันว่าจะสนับสนุนคณะกรรมการ 4 ฝ่ายอย่างเต็มที่ โดยนายกฯ สนับสนุนให้มีเวทีระหว่างคณะกรรมการชำนาญการ และกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในอนาคต และเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเสนอในการแบ่งประเภทกิจการอันตราย นอกจากนั้น ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการ ให้แล้วเสร็จก่อนเทศกาลสงกรานต์”

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายอภิสิทธิ์ ต้องเดินทางเข้าหารือ เนื่องจากเกิดปัญหาในการทำงานของคณะกรรมการ 2 เรื่อง คือ 1.การกำหนดประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำประชาพิจารณ์ใน 19 กิจการที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้แต่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร แต่ในวันนี้กระทรวงทรัพย์ฯตกลงที่จะเข้าร่วมใน 5 ครั้งนี้แล้ว และ 2.เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การอิสระถาวรที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ที่นายกฯรับปากจะไปหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และช่วยประสานกับกฤษฎีกาปรับปรุงร่างให้ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากไม่สำเร็จอาจผลักดันผ่าน ส.ส.เสนอร่างประกบ

“ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา พยายามทำให้องค์การดังกล่าวคล้ายสภาอุตสาหกรรม หรือสมาคมที่ตั้งขึ้นมาลอยๆ ไม่มีความสำคัญ ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจหรือให้ความเห็นอย่างแท้จริง ไม่มีอำนาจเรียกข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมได้ ไม่กำหนดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น