xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเหยื่อ 7 เหมืองแร่ตั้งวงที่อุดรฯ ยกกฎหมายสู้สัมปทานมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้ได้รับผลกระทบเหมืองทั่วประเทศร่วมวงโปแตส พัฒนาเครือข่ายสู้ความไม่เป็นธรรม - การเปิดพื้นที่สัมปทานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ยกระดับการต่อสู้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เน้นเจตนารมณ์มาตรา 67 วรรคสอง ก่อนจับมือร่วมงานบุญ “ข้าวปุ้น”วันนี้(31 ม.ค.)


นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ที่สังคมไทยต้องการ” โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต่อการทำเหมืองแร่ ใน 7 พื้นที่ คือ เหมืองโปแตส ที่อุดรธานี- เหมืองทองคำที่ จ.เลย-หมืองแร่ทองแดงเลย – เหมืองทองคำที่พิจิตร- เหมืองเหล็กและทองคำที่ จ.แพร่ -เหมืองแร่สังกะสีที่แม่ตาว จ.ตาก และเครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบตากโรงงานไฟฟ้าที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี จำนวน 150 คนเข้าร่วม ที่ห้องประชุมคณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สุดสัปดาห์นี้

ในการสัมมนาครั้งนี้มีนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ได้รับผลกระทบจากมาบตาพุด ,นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ,นางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมให้ข้อมูลผลกระทบ -ข้อเสนอการต่อสู้กับการผลักดันแก้กฎหมายสัมปทานเหมืองแร่ฉบับใหม่

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐไม่ได้หมายความเพียงรัฐบาล แต่หมายถึงประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตาม รัฐหมายถึงประชาชน 60 ล้านคน ส่วนรัฐบาลเป็นหน่วยงานเล็กที่เข้ามาจัดการภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเรื่องการจัดการทรัพยากร ที่ดิน ป่าไม้ ลุ่มน้ำ และแร่ธาตุ

ในเรื่องมาบตาพุด จ.ระยอง ภาคธุรกิจรับประโยชน์ 4 แสนล้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 10,000 ล้านบาท แต่สังคมวิบัติ คนงานมีงานทำ แต่คนทั้งชุมชนเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และความล่มสลายของชุมชน วัฒนธรรม อาชีพท้องถิ่นล่มสลาย ความยั่งยืนจึงไม่เกิดกับสังคมที่มาบตาพุด รายได้ไปกระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่ตระกูล ขณะที่คนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยมาก

ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากนักการเมืองและนักธุรกิจที่มีอำนาจในการจัดการฉ้อฉล ซึ่งเจตจำนงในรัฐธรรมนูญ 2550 วรรคสอง ส่งเสริมให้เกิดสิทธิชุมชน ต้องร่วมกันจัดการจึงจะเกิดประโยชน์ร่วมกัน ประชาชนมีสิทธิรักษาวัฒนธรรมวิถีชีวิตและป้องกันชุมชน การขอสัมปทานต้องทำ เอชไอเอ ผลกระทบด้านสุขภาพวิถีชีวิตชุมชนชีวิตคน ถ้าไม่ดำเนินการก็ต้องฟ้องศาล เป็นเครื่องมือสุดท้าย ซึ่งมาบตาพุดได้ดำเนินการไป ซึ่งไม่ใช่การทำลายบรรยากาศการลงทุน แต่นักลงทุนทำลายชาวบ้านมานานจนทนไม่ไหวต้องออกมาฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่างหาก

“ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง คือ รับรู้ข้อมูล ถ้าพึ่งสื่อไม่ได้ก็ต้องเปิดช่องทางสื่อภาคประชาชนของตนเอง มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ลุกขึ้นมาตรวจสอบถ้ารัฐไม่ดำเนินตามนโยบายแห่งรัฐและสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ส่วนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือหน่วยงานช่วยเหลือต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือหนุนช่วยหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ประชาชนต่างหากที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการเอง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วงสัมมนาดังกล่าวยังมีการกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ และแง่มุมที่รัฐไม่ดำเนินตามนโยบายแห่งรัฐหรือความต้องการของประชาชน เพราะปัญหาการเมืองและการแย่งชิงผลประโยชน์ การออกกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม จากนั้นเครือข่ายต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการขอสัมปทาน ที่เข้าร่วมได้กล่าวถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกร่วมกัน

ในวันนี้(31 ม.ค.53)สมาชิกเครือข่ายผลกระทบจากเหมืองทั่วประเทศ ก็ได้เข้าร่วมงานบุญข้าวปุ้น การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมในชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองโปแตส ใน จ.อุดรธานี ก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา

กำลังโหลดความคิดเห็น