xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯกาวใจ ดึงสผ.เข้าร่วม ถกมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- นายกฯรุดหารือคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุดกาวใจความเห็นต่าง ประชาพิจารณ์กิจการรุนแรงหลังสผ.กร้าวไม่ยอมร่วมสังฆกรรม “อานันท์”ลั่นไม่มีความขัดแย้งยัน”สผ.”พร้อมเข้าร่วมทั้ง 5 เวทีโดยเวทีแรกที่เชียงใหม่เริ่ม 19 ก.พ.นี้แล้ว ขณะที่ปตท.ฮึดเตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลฯเพิ่มอีก 6 กิจการ ขณะที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจ่อฟ้องศาลเพิ่มอีก 12 กิจการ 19 ก.พ.นี้

วานนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าหารือกับนายอานันท์ ปัญยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย และประธานคณะกรรมการประสานงานดำเนินการพิจารณาจัดตั้งองค์การอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ร่วมกับคณะกรรมการอื่น ๆโดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมด้วย

นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มาแสดงความขอบคุณการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญปี’50 และแสดงความจริงใจที่จะร่วมมือกับคณะกรรมการ4 ฝ่ายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์การอิสระ(ถาวร)และการกำหนดประเภทกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรุนแรง

ทั้งนี้ยืนยันว่าการทำงานที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาโดยล่าสุดทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)จะส่งตัวแทนเข้ารับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุงรายการ”โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ”ที่จะจัดขึ้นใน 5 เวทีโดยเวทีแรกจะเป็นที่เชียงใหม่วันที่ 19 ก.พ.นี้

“ ปัญหาไม่มีและยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกันแต่วิธีคิดอาจจะต่างกันไปบ้าง การมีหรือไม่มีประเภทกิจการก็ได้มีการสอบถามนายกฯท่านก็แสดงความจริงใจที่จะร่วมมือกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายโดยจะมีการคำนึงถึงหลักวิชาการที่เป็นความจริงของโลกเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเหมาะสม”นายอานันท์กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายกล่าวว่า นายกฯมีความกังวลใจเกี่ยวกับประเด็นการกำหนดประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยนายกฯได้ประสานให้สผ.ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นหลังจากสผ.ออกมาระบุว่าจะไม่เข้าร่วมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ยึดร่าง 19กิจการเดิมมาเป็นบรรทัดฐานโดยนายกฯขอให้ใช้เวทีประชาพิจารณ์เป็นข้อถกเถียงกันเนื่องจากหากฝ่ายราชการไม่เข้าร่วมก็เท่ากับไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐได้ตั้งขึ้นและให้นำข้อคิดเห็นที่ต่างกันไปถกเถียงกันในเวทีรับฟังความเห็นแทน

“นายกฯได้ให้หลักการในการกำหนดประเภทกิจการรุนแรงว่าควรจะยึดหลักสากลมีความยืดหยุ่นอย่าเข้มงวดเกินไปเพราะอาจจะมีผลกระทบได้และควรจะมองประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ตั้งของกิจการว่าอ่อนไหวหรือไม่ด้วย”แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการจัดตั้งองค์การอิสระ(ถาวร)ที่จะต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา แต่มีปัญหาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเปลี่ยนเนื้อหาในร่างพรบ.ดังกล่าวบางส่วนเช่น กรณีการจัดตั้งหน่วยงานฝ่ายเลขา วิธีจัดสรรเงินสนับสนุนซึ่งนายกฯระบุว่าจะเร่งประสานให้ร่างตรงกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญและอาจให้ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบแล้วให้นายกฯเซ็นเพื่อนำเสนอสู่รัฐสภาได้
**ปตท.ทำHIAเสร็จมิ.ย.นี้

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA)ทุกโครงการในกลุ่มปตท.ที่ถูกคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้ระงับกิจการในมาบตาพุดเป็นการชั่วคราวเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ปตท.ได้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA)ล่วงหน้าก่อนที่กฎเกณฑ์ใหม่จะออกมา หากพบว่าไม่สอดคล้องก็จะดำเนินการแก้ไข เพราะหากรอให้มีการออกกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรอิสระแล้วค่อยศึกษา จะยิ่งทำให้โครงการล่าช้าออกไป
ปตท.ยื่นอุทธรณ์เพิ่มอีก 6โครงการ

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)และประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.จะยื่นต่ออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีคดีมาบตาพุดจำนวน 6 โครงการ จาก 18 โครงการที่ยังติดปัญหาอยู่ ซึ่งโครงการที่ยื่นอุทธรณ์1ใน 6 มีโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 รวมอยู่ด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับอีไอเอก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับใช้และเป็นได้เป็นกิจการรุนแรง

ส่วนอีก 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ที่ส่งไปยัง บริษัท พีทีที ยุทิลิตี้ พีทีที เออาร์ บริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ 2.โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดกลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง ( BPEX) ของ บมจ.บางกอกโพลีเอททิลีน 3.โครงการโรงงานผลิตสารเอทานอลเอมีน 4.โครงการขยายกำลังผลิตพีอี 50,000 ตัน/ปี ของ บมจ.ปตท.เคมิคอล และ 5.โครงการศูนย์สาธาณูปโภคกลางแห่งที่ 2 ของพีทีทียูทิลิตี้

**ฟ้องอีก 12 โครงการมาบตาพุด

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า วันที่ 19 ก.พ. นี้ สมาคมฯ จะยื่นฟ้องศาลปกครองให้สั่งชะลอ 12 โครงการ พื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง จ.ระยอง และใกล้เคียงที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่ผ่านความเห็นชอบเฉพาะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2552 ซึ่งเป็นวันที่สมาคมฯ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น