xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์”เลิกคบโจรการเมือง ฉะพรรคกุ๊ยชอบกดดัน-ข่มขู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรียกเสียงปรบมือจากมิตรรักแฟนเพลงไปได้มาก กับการลงมติครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนหยัดจุดยืน ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเผชิญทุกปัญหาไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา ปฏิวัติ หรือ แม้แต่ต้องเป็นพรรคฝ่ายค้านยาวนานพรรคเดียวอีกครั้ง

เหมือนคำพูดของ ชวน หลีกภัย ปรมาจารย์ของพรรคประชาธิปัตย์ บอกอย่างอหังการ์กลางที่ประชุมว่า “วิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่เกิดจากการทุจริต การซื้อเสียง และการโกงชาติบ้านเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขจากเขตใหญ่เรียงเบอร์เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวแล้วจะทำให้ชาติอยู่รอดได้ จะเป็นเขตเล็กหรือเขตใหญ่ก็สามารถทำให้เราอยู่รอดได้อีก 1 ปี จนครบ 2 ปี...

แต่เราต้องรู้จักหน้าที่ของนักการเมืองว่าเรากำลังต่อสู้กับศรัทธาของประชาชน ไม่ต้องห่วงว่าเราจะอยู่ยาวหรือสั้น ถ้ารัฐบาลอยู่รอดได้ แต่ประชาธิปัตย์เสียศักดิ์ศรี และเสียจุดยืนเราจะเป็นรัฐบาลไปทำไม ถือเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเราก็ไม่ตาย เราเคยเป็นพรรคฝ่ายค้านมายาวนาน ไม่เห็นว่าจะมีใครตายเลย”

ชัดเจนในแนวคิดและทรงพลังอย่างยิ่งในทางปฏิบัติ สมกับเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋าที่เชิดหน้าชูตาเป็นตัวอย่างให้กับนักการเมืองรุ่นหลัง ชนิดที่เรียกได้ว่า “ชวน หลีกภัย” อยู่ในชั้นที่ต้องถูกบันทึกเป็นบุคคลในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง

เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ในพรรคอีกหลายคนที่แสดงตนชัดเจนให้สังคมได้เห็นชัดว่า เป็นที่พึ่งที่หวังของคนไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น บัญญัติ บรรทัดฐาน หรือ เทอดพงษ์ ไชยนันท์

แต่จุดเปลี่ยนของการลงมติพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่ยอมให้มีการลงมติในรายละเอียดของประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เลี่ยงไปลงมติในประเด็นที่ไม่มีความขัดแย้งแทน คือ การลงมติว่าจะไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล
 
เพราะอภิสิทธิ์รู้ดีว่า ถ้าโหวตในประเด็นเขตใหญ่-เขตเล็กตามเกมของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” โอกาสแพ้มีสูงมาก เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่เป็นคนในสายของ “สุเทพ” ขณะที่ “สุเทพ” ในห้วงเวลานั้นก็กระหยิ่มยิ้มย่อง มั่นใจว่าสามารถกุมคะแนนเสียงส.ส.ในพรรคส่วนใหญ่ไว้ได้หมด เนื่องจากล็อบบี้กันตลอดทั้งคืน จึงไม่คัดค้านที่จะให้ที่ประชุม ส.ส.ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเขตเล็กหรือไม่

กระบวนการทั้งหมดจึงกลับมาที่ประชุมส.ส.เป็นครั้งที่สอง หลังจากถกเครียดกันยาวนาน 6 ชั่วโมงไปครั้งหนึ่งระหว่างการสัมมมนาพรรคประชาธิปัตย์ที่ จ.กระบี่

มาครั้งนี้ สุเทพ ซึ่งต้องถือว่าเตรียมตัวมาดีที่จะโน้มน้าวใจ ส.ส.ให้คล้อยตามแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาใจพรรคร่วมเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล อ้างสารพัดถึงการต่อสู้กับระบอบทักษิณ และผลจากการล็อบบี้ของสุเทพก็ทำให้ส.ส.หลายคนที่เคยอภิปรายสนับสนุนเขตใหญ่ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลิกลิ้นกลับไปสนับสนุน “สุเทพ” กันหน้าตาเฉย จนสถานการณ์ในห้องประชุมรับรู้กันโดยนัยยะว่า เขตเล็กถ้าจะมาวิน

ถึงขนาดผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนไม่กล้าที่จะให้ลงมติในขณะนั้น โดยคนที่เสนอให้เลื่อนการลงมติออกไป คือ เทอดพงษ์ ไชยนันท์ นิพนธ์ บุญญามณี และ สุทัศน์ เงินหมื่น แต่ก็แพ้โหวต

จุดพลิกผันอยู่ที่ “อภิสิทธิ์” ขออภิปรายก่อนการลงมติ ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบเพราะอภิปรายเป็นคนสุดท้าย และเนื้อหาการอภิปรายก็หักล้างทุกประเด็นของสุเทพอย่างถึงพริกถึงขิง เต็มไปด้วยเหตุและผล เช่นว่า

“ผมเป็นคนเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ให้ใช้เขตใหญ่เอง เพราะคิดว่ายังมี ส.ส.ดีมากกว่าไม่ดี การทุจริตเลือกตั้งน้อยกว่า ส.ส.ทำงานระดับชาติได้มากกว่า ถ้าเราอยู่กับพรรคร่วมโดยยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องมีคำตอบให้สังคม เพราะสังคมจะตีตราเราว่า ประชาธิปัตย์แก้ไขเพราะอยากเป็นรัฐบาลต่อ การที่เราเข้ามาเป็นรัฐบาล 1 ปี ไม่ใช่มาเพื่อหาเงินเตรียมการเลือกตั้ง...

เราต้องไม่กลัวที่จะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาล หรือกลัวการปฏิวัติ แต่เราต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง หากแก้ไปแล้วก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าพรรคร่วมจะอยู่กับเราต่อไป ผมพูดได้เลยว่าเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าเราไม่ได้อันดับหนึ่งเขาก็ไม่อยู่กับเรา และผมก็ไม่เอาด้วย

อย่างกรณีปลัดกระทรวงท่องเที่ยว เขาขอผมให้ย้ายมาหกเดือน พอผมยอมเปิดตำแหน่งให้มาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี เขากลับให้สัมภาษณ์กล่าวหาว่าผมเป็นคนจัดการให้ย้ายปลัด คนพวกนี้เป็นแบบนี้ ผมยอมรับไม่ได้ที่จะเป็นรัฐบาลที่พรรคร่วมคอยกดดัน ข่มขู่ หากเขาขู่ได้ก็จะขู่เรื่อยไป ถ้าเป็นรัฐบาลในสภาพการณ์เช่นนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดในการเป็นรัฐบาลคือถูกมองว่าเราไม่ต่างจาก ทักษิณ

ถ้าคิดว่าทักษิณเป็นสารตกค้าง การจะถอนพิษนี้ได้มีทางเดียวคือ เรียกคืนศรัทธาจากประชาชนให้ได้จากการเลือกตั้ง เราต้องไม่กลัวเรื่องยุบสภา เพราะไม่มีใครมาขู่ผมได้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นหลักให้บ้านเมือง ไม่อย่างนั้น ทักษิณก็จะกลับมากินเมือง”

เป็นคำพูดบางส่วนที่มีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของส.ส.พรรคในวันนั้น ไม่เพียงแต่เหตุผลที่โน้มน้าวมีน้ำหนัก แต่ “อภิสิทธิ์” ยังใช้กลยุทธ์ที่จะตั้งประเด็นลงมติอีกด้วย โดยเขาเลือกที่จะให้ลงมติระหว่าง จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แทนที่จะลงมติว่าเอาเขตเล็กหรือเขตใหญ่ ซึ่งผลในทางจิตวิทยามีความแตกต่างกัน หากถามตรง ๆ ว่าเอาเขตเล็กหรือเขตใหญ่ การโน้มเอียงที่จะไปในทางเขตเล็กก็จะมีมากขึ้น แต่เมื่อถามว่าจะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ผลที่ได้จึงออกมาแบบชนะขาดลอย

มติของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ จึงถือว่าเป็นการร่วมมือกันจากผู้ใหญ่ในพรรค และ อภิสิทธิ์ เพราะถ้ายอม สุเทพ ให้มีการลงมติที่จังหวัดกระบี่ก็คงแพ้ตั้งแต่วันนั้นแล้ว เพราะ อภิสิทธิ์ ต้องกลับก่อนการประชุมเสร็จสิ้น เช่นเดียวกับ ส.ส.หลายคนที่สนับสนุนไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ความเก๋าเกมของ “ชวน” ที่ประวิงเวลาโยนเรื่องกลับไปที่กรรมการบริหารพรรค ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนจนเป็นที่มาของมติไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 มกราคม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “สุเทพ” มิได้ถูก ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์ ผนึกกำลังโค่นอำนาจในพรรค แต่เขาเลือกที่จะทำร้ายตัวเอง ด้วยการยึดประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นหลัก โดยไม่เคยมีความเข้าใจต่อวิถีของพรรคอย่างแท้จริง ทั้งที่ใช้ชีวิตการเมืองอยู่ในพรรคนี้มายาวนานกว่า 20 ปี

ดังนั้นคนที่ต้องออกธุดงค์เอาเองตามคำที่ “สุเทพ” ขู่ส.ส.กลางที่ประชุมพรรค คงต้องนำมาใช้กับตัวเขาเอง แต่ไม่ใช่การธุดงค์เพื่อขอบิณฑบาตรปัจจัย หากเป็นการธุดงค์ของแท้เพราะ “สุเทพ” มีแต่จะโดดเดี่ยวและไร้ค่าในพรรคลงทุกที


กำลังโหลดความคิดเห็น