เรื่องมันฟ้อง
โดย...กรงเล็บ
นับว่าเป็นเหตุการณ์ “ซวยส่งท้ายปี” จริง ๆ สำหรับ “วิทยา แก้วภราดัย” และ “มานิต นพอมรบดี” ที่คนหนึ่งกลายเป็นอดีตรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกคนกำลังจะเก็บกระเป๋าออกจากกระทรวงตามไปติด ๆ จากปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข
ทำให้ขึ้นปีใหม่ต้องมีปรับคณะรัฐมนตรีแน่ การปรับครม.ที่เดิมคิดว่าจะมีเพียงแค่ตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะโยกไปเป็นเลขาธิการนายกฯ โดยมี “ดร.สามสี” ไตรรงค์ สุวรรณคีรี แต่งตัวรออยู่แล้ว
ต้องขยับปรับเพิ่มมาเป็นสามตำแหน่ง คือ ตำแหน่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุขและ รมช.สาธารณสุข ควบคู่ไปด้วย
จากสถานการณ์นี้ถ้ ามองเชิงกลยุทธ์มีหลายวิธีที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนงานได้ในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในส่วนของ รมว.สาธารณสุขที่ว่างลง
เริ่มจากวิธีการแรกเรียบง่ายไม่สลับซับซ้อน คือปรับเฉพาะตำแหน่ง คือ เลือกบุคคลใหม่เข้ามาสวมทำหน้าที่แทน “วิทยา” โดยหากพิจารณาว่าตำแหน่งนี้เป็นโควต้า “รองหัวหน้าพรรคภาคใต้” หวยก็น่าจะไปออกที่ ส.ส.อาวุโสในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีอยู่สามคนที่อยู่ในข่ายการพิจารณา ประกอบด้วย
“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ส.พัทลุง “ชินวรณ์ บุณยะเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช และ “นิพนธ์ บุญญามณี” ส.ส.สงขลา แต่ชื่อสุดท้ายดูเหมือนภาษีจะน้อย เนื่องจากมีส.ส.สงขลาได้เป็นรัฐมนตรีแล้วถึงสองคน คือ ถาวร เสนเนียม และ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
จึงเหลือสองชื่อชิงดำกัน โดย “นิพิฏฐ์” ได้แรงหนุนเต็มที่จาก ชวน หลีกภัย ซึ่งเคยตั้งตนเป็นแกนนำประท้วง อภิสิทธิ์กับสุเทพ มาแล้วเมื่อครั้งที่ นิพิฏฐ์ พลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรีในรถไฟขบวนแรก ส่วน “ชินวรณ์” มีแรงดันจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ และพยายามอ้างความชอบธรรมว่า ตำแหน่งนี้ควรจะเป็นของส.ส.นครศรีธรรมราช เพราะไปแทนที่ “วิทยา” ซึ่งเป็นส.ส.นครศรีธรรมราช เช่นเดียวกัน
งานนี้ จึงต้องดูว่ากรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะตกผลึกอย่างไร ถ้าให้ฟันธงก็ขอซื้อหวยชื่อ นิพิฏฐ์ เพราะนอกจากมี “ชวน” เป็นแรงผลักแล้ว ยังมีสัญญาใจกับ “อภิสิทธิ์” ด้วย
แต่ถ้าพิจารณาโดยไม่มีโควต้าภาคเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะมีบุคคลที่รอสวมบทรัฐมนตรีอีกสามราย คือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ องอาจ คล้ามไพพบูลย์ ส.ส. กทม. และ จุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก
อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ หากพิจารณาจากเนื้องานเป็นหลัก ก็อาจใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนมากกว่าแค่เปลี่ยนตัวบุคคล แต่เดินหน้ายกเครื่องการทำงานกันใหม่ ให้คนโตที่จำเป็นต้องมีตำแหน่งในกระทรวงใหญ่อย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงไปนั่งตำแหน่งนี้ แล้วปรับงานด้านความมั่นคงมาอยู่ในมือของ “นายกรัฐมนตรี” แทน ซึ่งจะช่วยให้นายกรัฐมนตรีกระชับงานด้านความมั่นคง และได้ดูแลปัญหาภายในสตช.ด้วยตัวเอง
สยบปัญหาเอาคนพร่องคุณธรรมและศรัทธาเสื่อมทรุดอย่าง “สุเทพ” ไปกำกับดูแลองค์กร “คุณธรรมเสื่อมถอย” อย่าง สตช.เสียที เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้าง สตช.ล้างภาพลักษณ์ด้านลบของตำรวจเหมือนที่ “อภิสิทธิ์” วาดหวังเอาไว้
หรือ “อภิสิทธิ์” อาจใช้โอกาสของความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แลกกระทรวงกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ในกระทรวงที่มีปัญหาการทำงานขัดกันกับผู้นำรัฐบาลมาโดยตลอด คือ เอากระทรวงพาณิชย์ กลับมาดูแลเองและให้กระทรวงสาธารณสุขกับพรรคภูมิใจไทยกลุ่มมัฌชิมาธิปไตย
ซึ่งก็มีโอกาสที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” จะตกลงปลงใจด้วย เพราะกระทรวงสาธารณสุขถือเป็นกระทรวงเกรดเอ อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลอยู่ก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการอย่างสะดวกดายอีกแล้ว
ถ้า “อภิสิทธิ์” ตกผลึกที่การแลกกระทรวงเพื่อกระชับงานด้านเศรษฐกิจก็จะทำให้ต้องปรับเพิ่มจากสามตำแหน่งเป็นสี่ตำแหน่ง และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ หากมีโอกาสได้กระทรวงพาณิชย์กลับมาดูแลจริง ๆ
ก็ให้ขีดเส้นใต้ไว้ที่ชื่อ “จุติ ไกรฤกษ์” ได้เลย
แต่ก็มีความเป็นไปได้ จะไม่มีการตั้งใครขึ้นมาเลย นอกจากจะลดแรงกระเพื่อมในพรรคปชป.แล้ว ยังไม่ทำให้ใครผิดหวัง โดยโยก “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” จากรองนายกฯ มานั่งเก้าอี้ รมว.สธ. แล้วให้กอร์ปศักดิ์เป็นรองนายกฯ คงเดิม ส่วนเลขาธิการนายกฯ ก็ค่อยว่ากันใหม่ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งสำคัญนัก
แต่สำคัญกว่าคือ การลบภาพ และปราบคอรัปชั่นในกระทรวงหมอ คิดว่า “สามสี- ไตรรงค์”น่าจะเอาอยู่