โฆษก ปชป.ยันพรรคมีประชาธิปไตยพอ ส.ส.วิจารณ์งานรัฐมนตรีได้ ชี้จะปรับ ครม.ขึ้นอยู่กับเสียงประชาชน และนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก ย้ำ 1 ปีมีผลงาน แก้ไขปัญหาตามคำสัญญาแล้ว เตรียมจัดสมัชชาประชาชนเดือนหน้า เริ่มภาคใต้ที่แรก
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคฯ แถลงถึงการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า พรรคได้ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และในฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลได้เห็นความสำคัญของสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาล ดังนั้น เพื่อเป็นการประเมินความคาดหวังที่ประชาชนเคยมีต่อคำมั่นสัญญาดังกล่าว พรรคจะเดินหน้าจัดสมัชชาประชาชนต่อภายในเดือน ธ.ค.ปี 52 และ ม.ค.ปี 53 โดยจะเริ่มที่จังหวัดพื้นที่ภาคใต้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของพรรคในฐานะแกนนำรัฐบาล และรับฟังปัญหาอื่นๆ ที่ประชาชนยังรู้สึกว่า รัฐบาลจะต้องเดินหน้าแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรื่องของความสมานฉันท์พรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขจนบรรลุได้เพียงตามลำพัง หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและกลุ่มการเมืองที่ถือว่ามีความสำคัญในการลดชนวนความชัดแย้งให้ลดลงได้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประเมินการทำงานของรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะขณะนี้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาจนสำเร็จ ผ่านพ้นจุดต่ำสุดและสามารถกลับมาเป็นบวกได้ตั้งแต่เกิดวิกฤต แต่ยอมรับว่าปัญหาความสมานฉันท์คงจะต้องแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการและนโยบายที่เป็นนโยบายหลักถือว่านโยบายเฉพาะหน้าในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดภาระของประชาชน และเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนนั้นบรรลุผลตามกรอบเวลาใน 6 เดือนแรก ในนโยบายระยะกลางมุ่งเน้นไปที่การหยุดการเลิกจ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการเลือกจ้างครั้งใหญ่ ถือว่ามาตรการชะลอการเลิกจ้างประสบผลสำเร็จ และสมควรที่จะดำเนินนโยบายอื่นต่อที่เป็นนโยบายระยะยาวเพื่อสร้างความั่นคงให้แก่ประเทศชาติ ตามโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
ส่วนกรณีที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่ามี ส.ส.ในพรรคไม่ค่อยพอใจการทำงานของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การแสดงความเห็นต่อการทำงานของรัฐบาลของคนในพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เพราะพรรคยึดหลักประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อยากให้การแสดงความเห็นของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปสร้างผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ซึ่งตั้งอยู่บนความคาดหวังของประชาชน ทั้งนี้การจะปรับ ครม.ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ส่วน คือ 1.เสียงเรียกร้องประชาชน 2.การตัดสินใจของนายกฯ การหมุนเวียนให้บุคคลอื่นที่มีความสามารถเข้ามานั่งทำงานใน ครม.สามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการทำงานของนายกฯ