เลขาฯ กฤษฎีกาชี้มติ ก.ตร. ตีกลับมติ ป.ป.ช. มีคำพิพากษาแล้ว ชี้ถ้าเป็นประเด็นเก่าก็คงไม่ต้องยื่นเข้าคณะกรรมการ แนะนายกฯ ถ้าเห็นว่าไม่ถูกกฎหมายก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โยนให้พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ไปขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา จากกรณีที่ ก.ตร. มีมติขัดกับ ป.ป.ช.ในการให้ 3 นายตำรวจกลับเข้ารับราชการจากเหตุการณ์สลายม็อบ 7 ตุลา ว่า ตนยังไม่เห็นเรื่อง เห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น ส่วนมติ ก.ตร.ตีกลับมาที่ ป.ป.ช.ได้หรือไม่นั้น เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า “ก็มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้วเรื่องมาตรา 96 ของกฎหมาย ป.ป.ช.”
เมื่อถามว่าถ้า ครม.ส่งขอความเห็นอีกครั้ง กฤษฎีกาจะยืนตามความเห็นเดิมหรือไม่ คุณพรทิพย์กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าส่งไปหารือในประเด็นอะไร เมื่อถามว่าครั้งนี้แตกต่างจากความเห็นของกฤษฎีกาเมื่อปี 2552 อย่างไรทำไม พล.ต.อ.ปทีป ถึงต้องส่งเรื่องไปถามอีก คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ตอนนั้นหารือว่าเรื่องนี้สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งครั้งนี้ก็น่าจะประเด็นใกล้เคียงกันคือว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ตนยังไม่ทราบว่าก.ตร.จะหารือเข้ามาว่าอย่างไรก็ต้องขอดูก่อนว่าหารือว่าอย่างไร
“ถ้าหากว่าหารือในประเด็นที่เคยให้ความเห็นไว้แล้วก็อาจจะให้ความเห็นเดิมมา แต่ถ้าหากว่าเป็นประเด็นใหม่ก็คงจะเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา” คุณพรทิพย์กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนั้นกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นว่าไม่น่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์กล่าวว่า ดูในรัฐธรรมนูญปี 2550 เขียนไม่เหมือนกับปี 2540 เพราะว่าปี 2550 ต้องมีความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือ คณะรัฐมนตรี ซึ่ง ก.ตร.ก็ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วเคยให้ความเห็นมาแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของ ครม. แต่เป็นเรื่องของ ก.ตร.
เมื่อถามว่า แสดงว่ามติ ครม.เมื่อปี 2546 ที่ให้ครม.ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญถือว่ามตินี้ก็ยกเลิกไปเลยใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นรัฐธรรมนูญปี 2540 ป.ป.ช ขอหารือเอง เพราะว่ารัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้หน่วยงานหารือในปัญหาของตัวเองได้ มันจึงเป็นคนละประเด็นไปแล้ว
เมื่อถามว่า ถ้าเช่นนั้นทางออกก็มีทางเดียวคือไปฟ้องศาลปกครอง คุณพรทิพย์กล่าวว่า ตามกระบวนการที่เคยทำมาถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษอุทธรณ์แล้วผู้มีอำนาจอุทธรณ์พิจารณา ถ้าตามกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ต้องพิจารณา เขาใช้ดุลพินิจได้อย่างเดียวแต่พิจารณาในเรื่อฐานความผิดไม่ได้ ถึงตอนนั้นผู้ที่ถูกลงโทษก็สามารถที่จะเสนอเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาได้
เมื่อถามว่า 3 นายพลจะอ้างได้หรือไม่ว่า การอุทธรณ์ลงโทษ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ถ้าจะอุทธรณ์ ก.ตร.ก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ถ้าจะโต้แย้งความเห็นของ ปปช.ก็น่าจะไปโต้แย้งที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า ป.ป.ช.ผิดถูกอย่างไร
เมื่อถามว่า ที่ ก.ตร.มีมติให้ 3 นายพลกลับเข้ามาทำงาน นายกฯ ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ คุณพรทิพย์กล่าวว่า ความจริง ก.ตร.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. และโดยปกติถ้าเป็นความเห็นที่ไม่ชอบก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติตาม ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตาม
เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ก.ตร.ถ้าเป็นความเห็นโดยมิชอบในเรื่องของการอุทธรณ์คำสั่ง คุณพรทิพย์กล่าวว่า การอุทธรณ์คำสั่ง ก.ตร.เขาพิจารณาแล้ว ส่วนจะปฏิบัติหรือไม่คงเป็นเรื่องที่จะสั่งให้กลับเข้ารับราชการใหม่หรือเปล่าคือตรงนั้น นอกจากนี้ ในเรื่องของถ้าไม่ใช่ตัวผบ.ตร.เข้าใจว่าจะไม่ใช่อำนาจนายกฯ แต่จะเป็นอำนาจของ ผบ.ตร. แต่ ผบ.ตร.ก็เกษียณแล้วรู้สึกว่ายังเป็นปัญหาไม่รู้ว่าจะไปทางไหน
เมื่อถามว่า นายกฯ เป็นแค่เสียงเดียวใน ก.ตร. แบบนี้ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร.หรือไม่ คุณพรทิพย์กล่าวว่า อย่างที่เรียนคือ ถ้าหากว่าเป็นมติที่ชอบก็ต้องปฏิบัติตาม เมื่อถามว่ากฤษฎีกาต้องตีความว่า มติ ก.ตร.ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่า ก.ตร.ถามว่าอย่างไร แต่ย้ำว่าถ้าเป็นเรื่องที่เคยมีความเห็นแล้วก็มีระเบียบที่เปิดช่องให้ส่ง ความเห็นที่เคยให้ความเห็นแล้วกลับไปได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีความเห็นก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการฯ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์