xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลต้องปูพื้นคดียึดทรัพย์ สกัดเชื้อเพลิงก่อนถูกจุดไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เริ่มเห็นเค้าลางสงครามแตกหักกับอำนาจรัฐของทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดงกันแล้ว หลังจากแกนนำเสื้อแดงประกาศเคลื่อนทัพไปยังจุดต่างๆ อันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับระบอบทักษิณทั้งสิ้น

เป้าหมายในการเคลื่อนทัพไปชุมนุมใหญ่หน้าสำนักราชเลขาธิการ และกระทรวงยุติธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าการยื่นถวายฎีกาของคนเสื้อแดงที่ร่วมกันลงชื่อเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับทักษิณ ชินวัตร คงไม่เกิดเหตุการณ์อะไรให้หวาดเสียวในวันนั้น แค่มาแสดงพลัง ก็รับทรัพย์กลับบ้าน

หรือการบุกเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เพื่อหวังดิสเครดิต พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จำนวนคนคงไม่มากพอที่จะก่อการชั่ว

อย่างไรก็ตาม โฟกัสสำคัญน่าจะอยู่ที่การนัดชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครเพื่อให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่าสงครามครั้งนี้ส่อเค้าว่าจะมีการชุมนุมยืดเยื้อ เพื่อลากยาวไปให้ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 อันเป็นวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดหมายอ่านคำตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ของทักษิณ ชินวัตร

แต่ก็ไม่น่าจะเกิดเหตุรุนแรงใดๆ เพราะรัฐบาล-กองทัพ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทเรียนมาจากเหตุการณ์ “สงกรานต์เลือด” จึงน่าจะรับมือได้ ผนวกกับกระแสเสื้อแดงช่วงหลังเสื่อมพลังไปมาก

ยิ่งกรณียึดทรัพย์เห็นได้ชัดว่าคนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่ส่วนรวมแต่เป็นทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทย-แกนนำเสื้อแดงเท่านั้น จึงน่าจะทำให้ไม่มีแนวร่วมในการที่จะใช้ความรุนแรงทำให้บ้านเมืองกลียุคเพียงเพราะต่อสู้ให้กับคนไม่กี่คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรประมาทและทำงานแบบตั้งรับ ต้องเลิกคิดแบบกรอบเดิมๆ ในการแก้ปัญหาการเมือง เช่น ใกล้การชุมนุมใหญ่ก็ออกพรบ.ความมั่นคงเพื่อสกัดเสื้อแดง แต่ต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านั้น โดยเฉพาะต้องกล้าตัดสินใจทางการเมืองก่อนวันที่ศาลฎีกาฯจะอ่านคำพิพากษาคดียึดทรัพย์

ด้วยการเร่งให้ความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมได้ทราบเรื่องคดียึดทรัพย์ทุกแง่มุมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมก่อนที่ศาลฎีกาฯจะอ่านคำพิพากษา

เพื่อไม่ให้มีบุคคลบางกลุ่มนำผลแห่งคดีไปสร้างความสับสนในลักษณะปลุกปั่นและสร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง

“สองมาตรฐาน”


อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสามารถปลุกเร้ามวลชนให้ลุกฮือขึ้นมากระทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่ผู้ปลุกปั่นต้องการ

สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ การใช้สื่อของรัฐ คือวิทยุและโทรทัศน์ ในเชิงให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมในเรื่องคดียึดทรัพย์ใน 3 กระบวนการสำคัญคือ

1.ลำดับความเป็นมาของคดียึดทรัพย์ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มีกฎหมายรองรับหรือไม่ มีขั้นตอนอย่างไรตั้งแต่ในชั้น คตส. ที่แม้จะมีการอายัดทรัพย์เงินในเกือบทุกบัญชีของทักษิณ ชินวัตร-พจมาน ณ ป้อมเพชร และคนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ที่ได้จากการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป แต่ก็ได้เปิดโอกาสให้ทั้งหมดมีการพิสูจน์ที่มาที่ไปของทรัพย์สินและกระบวนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปผ่านคณะกรรมการที่คตส.ตั้งขึ้น จนกระทั่งคดีไปที่ฝ่ายอัยการ ที่ได้มีการพิจารณาสำนวนคดีมาอย่างละเอียดรอบคอบ จนนำไปสู่การยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลฎีกาฯในเวลาต่อมา

เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระบวนการทั้งหมดเป็นอย่างไร มีการเปิดโอกาสให้ฝ่ายทักษิณได้สู้คดีอย่างไร

2.การให้ความรู้แก่ประชาชนถึงกระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาฯในคดีนี้ ซึ่งองค์คณะตุลาการได้มีการเปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกร้องคือ ทักษิณ ชินวัตร ได้สู้คดีอย่างเต็มที่ผ่านพยานต่างๆ ที่ทนายความทักษิณ ขอให้ศาลเรียกมาเบิกความ เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของใคร เป็นของทักษิณ ชินวัตร จริงหรือไม่ และทักษิณถือครองหุ้นชินคอร์ปก่อนจะขายให้กับเทมาเสกแล้วโกยเงิน 76,000 ล้านบาทจริงหรือไม่อย่างไร

ขณะเดียวกัน ฝ่ายผู้ร้องคืออัยการ ได้มีการเรียกพยานที่เกี่ยวข้องมาเบิกความอย่างไร เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าทักษิณร่ำรวยผิดปกติและใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้นำรัฐบาลโดยมิชอบจนทำให้ทักษิณและครอบครัวร่ำรวยหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างไร เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นอย่างไรก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้

3.การให้ความรู้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการตัดสินของศาลเป็นอย่างไร เช่นการตัดสินทุกคดีองค์คณะต้องมีการลงมติโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ และเหตุผลการลงมติ ซึ่งอยากรู้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ก็ไปพิจารณาได้อย่างละเอียดในคำพิพากษากลางและคำพิพากษาส่วนตน

และต้องทำให้สังคมเห็นว่าศาลเป็นสถาบันที่สังคมวางใจและเชื่อถือได้ในการทำหน้าที่อย่างสุจริต เป็นกลางและเป็นธรรม และการตัดสินย่อมถือว่าเป็นที่สุด ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพไม่ว่าผลแห่งการตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะนำคำตัดสินของศาลไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม

หากรัฐบาลทำในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเป็นการปูพื้นให้ประชาชนได้เข้าใจถึงกระบวนการตัดสินของศาลฎีกาฯ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดเมื่อถึงวันที่ศาลฎีกาฯอ่านคำพิพากษา

เพราะต้องยอมรับความจริงว่า เรื่องการพิจารณาคดีของศาลหรือการตัดสินของศาลโดยเฉพาะในคดีพิเศษที่เป็นคดีของนักการเมืองเช่นนี้ แม้แต่ผู้ที่ร่ำเรียนด้านกฎหมายก็ยังไม่เข้าใจกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯมากนัก ยิ่งประชาชนทั่วไปก็ยิ่งไม่รู้เรื่องเลย

ทั้งนี้ หากประชาชนมีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องมาก่อนก็ย่อมทำให้สามารถใช้วิจารณญาณของตัวเองได้เมื่อทราบผลการตัดสินในคดียึดทรัพย์วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่น

เพราะตอนนี้ก็เห็นแล้วว่า ฝ่ายทักษิณ-เสื้อแดง พยายามทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและพยายามจะปลุกเร้าให้ประชาชนเกิดความรู้สึกสงสารทักษิณ ชินวัตรหากผลแห่งคดีออกมาในทางลบกับทักษิณ

รัฐบาลจึงควรต้องคิดในเรื่องนี้ให้เร็ว จะมามัวคิดว่าหากทำแล้วจะถูกมองว่าก้าวก่ายการทำงานของศาลไม่ได้ เพราะการทำเช่นนี้คือการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและความเชื่อมั่นว่า ศาลเป็นองค์กรที่ปราศจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง

เพราะเรื่องแบบนี้ลำพังศาลไม่สามารถทำการประชาสัมพันธ์เองได้ จะถูกบิดเบือนเป็นประเด็นการเมืองจากบางฝ่าย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องคิดและทำเรื่องนี้โดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น