xs
xsm
sm
md
lg

"มาบตาพุด" ยังร้อน!! แฉ มีเกมเล่นใต้โต๊ะ-รัฐตั้งองค์กรอิสระมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เครือข่ายปชช.ภาคตะวันออก" เผย กก.4 ฝ่าย ช่วยคลายปัญหามาบตาพุด แต่ยังมีบางฝ่ายแอบเล่นเจรจาใต้โต๊ะ เพื่อล็อบบี้ผู้เสียหายให้ถอนฟ้อง ด้าน นายกฯต้านโลกร้อน ชี้ "มาบตาพุด" ไม่จบลงง่าย หาก กก.4 ฝ่าย ยังตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศ โดยจันทร์นี้ จะไปร้องศาลให้พิจารณามติ ครม. ตั้งองค์กรอิสระชอบหรือไม่ ขณะที่ ส.ว.สรรหา เชื่อ ตราบใดที่องค์อิสระ ตกภายใต้อำนาจรัฐ ไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ย้ำ เกษณ์ตัดสินอุตสาหกรรมภาครัฐ-เอกชน ต้องเป็นไปตาม รธน. มาตรา 67


 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว" 

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-22.00 น. ในวันพุธที่ 13 ม.ค. มี นายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งวันนี้ได้มีการเชิญ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นทิศทาง "มาบตาพุด" หลังจากที่เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระชุดเฉพาะกาลขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นผู้ให้ความเห็นต่อโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าโครงการไหนจะมีพบกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนหรือไม่

ช่วงแรกมีการต่อสายสัมภาษณ์ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และเป็น 1 ในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ ถึงประเด็นว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ นายสุทธิ กล่าวว่า ความจริงเรื่องความพึ่งพอใจ ตนคิดว่าเป็นเรื่องของระยะเวลาดำเนินงาน และเนื้อหาที่ออกมา ซึ่งความจริงตนได้ไปพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดังนั้น ความริเริ่มในการแก้ไขปัญหา มาจากภาคประชาชน ถึงแม้จะรู้ว่าชนะคดีจากคำสั่งศาลก็ตาม แต่ทั้งนี้ เราต้องการให้หน่วยงานราชการเข้ามาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 67 วรรค 2 เพราะฉะนั้น ในเมื่อสู้ในคดีและมีคำสั่งศาลปกครองกลาง และไปชนะคดีในศาลปกครองสูงสุดด้วยนั้น ภาคประชาชนจึงอยากหาทางออก เพื่อหาข้อยุติที่อยากจะให้ทุกส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ได้ปฏิบัติตามกลไกของกฏหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อมีคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็มีข้อดีอยู่ตรงที่มีการนำฝ่ายที่เกี่ยวข้องมานั่งในการพิจารณาองค์ประกอบร่วมกันว่า กระบวนการจัดทำผลกระทบด้านสุขภาพ ต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเรื่องรับฟังผลกระทบในภาคส่วนของประชาชน และกำหนดลักษณะขององค์กรอิสระหากจะเกิดขึ้น

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้มีการหารือกัน มีแนวโน้มไปสู่หนทางที่ดี เพราะแต่ละฝ่ายพยายามประคับประคองเพื่อหาแนวทางสันติวิธีร่วมกัน แต่ก็ไม่คิดเหมือนกัน ว่าจะเกิดการเจรจาใต้โต๊ะ ซึ่งตนก็ยังไม่แน่ใจว่า การเจรจานอกเกมนี้ เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายใด แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ กรณีนี้ที่ไปจ้างให้มีการถอนฟ้องคดี ก็เป็นเรื่องที่ทำให้คิดว่าต้องมีการเล่นนอกเกม นอกจากนี้ ยังมีการขึ้นคัตเอ้าท์โจมตี หรือไม่ยอมรับให้มีการจัดทำผลกระทบด้านสุขภาพ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะล้ม เนื่องจากหากปล่อยให้ดำเนินการ ก็จะมีการตรวจสอบที่ลงลึกถึงรายละเอียดข้อเท็จจริง

"ถึงแม้การเจรจาบนโต๊ะจะดูดี แต่ถ้าไม่สามารถขจัดการเจรจาใต้โต๊ะได้ ผมคิดว่าความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ และผมก็ไม่คาดคิดว่าอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น โดยผมคิดว่าถ้ายังเล่นนอกเกมอย่างนี้ ก็จะเป็นการโยงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประชาชน ซึ่งประชาชน 43 รายที่ฟ้อง ไม่ได้เจตนาจะทำลายภาพรวมธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ต้องการให้การดำเนินการธุรกิจใดๆ ก็ตาม อยู่ภายใต้กรอบของกฏหมาย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้มุ่งสร้างความชัดเจน เพราะไม่เคยมีปรากฏการณ์ประชาชน เดินทางไปเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงจะต้องปฏิบัติให้เกิดอย่างแท้จริง ซึ่งสมควรจะดำเนินการตามหลัก Win-Win" นายสุทธิ กล่าว

นายสุทธิ กล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เตรียมจะเดินทางลงพื้นที่มาบตาพุด ว่า นายกรัฐมนตรี เพียงแค่เดินทางมาสร้างกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว ก็หมายถึงจะใช้งบไทยเข้มแข็ง ในการนำไปสู่การสร้างโรงพยาบาลเพิ่มจาก 80 เตียง เป็น 200 เตียง รวมทั้งการเยียวยาด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เนื่องจากเชื่อหรือไม่ว่า หลายคนในมาบตาพุด ยังไม่มีน้ำปะปาใช้ ดังนั้น ก็ต้องแก้ไขเรื่องดังกล่าว โดยเรื่องการเยียวยานี้ ตนต้องขอย้ำว่า ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่แท้จริง ถือเป็นการบรรเทาเหตุที่ปลายเหตุเท่านั้น ดังนั้น จึงมีการประเมินว่ามาตรการของรัฐบาล สุดท้ายแล้วคือการใช้งบไทยเข้มแข็ง เพื่อมาใช้เป็นแคมเปญหรือการรณรงค์หาเสียงหรือไม่ เพราะมีสัญญาณไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเรื่องนี้

นายสุทธิ กล่าวถึงกรณี องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร ออกมาระบุว่า หลังจากเกิดปัญหามาบตาพุด ทำให้นักลงทุนหนีหน้าไปหมด ว่า ต้องดูว่าเจโทรเป็นองค์กรประเภทเงินกู้ ดังนั้น ความเห็นดังกล่าว ทางเราก็คิดว่า หากนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศไทย ยอมรับในส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดปัญหา เพราะเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิชุมชน ดังนั้น การสร้างกลไกอย่างมีกติกาที่ดี จึงเป็นการคัดกรองนักลงทุนที่มีธรรมาภิบาลเข้ามาลงทุน ส่วนนักลงทุนที่หวังกอบโกยผลประโยชน์อย่างเดียว ก็จะไม่กล้าเข้ามาอยู่ในกติกา ฉะนั้น จึงมาถูกทางแล้วที่ต้องการให้ประเทศไทย เดินหน้าสู่วิถีทางที่ดี

นายศรีสุวรรณ กล่าวกรณีมาบตาพุด ว่า ดูเหมือนปัญหามาบตาพุดจะจบ แต่สุดท้ายแล้วตนคิดว่าไม่จบง่ายๆ ประเด็นปัญหาก็คือ คณะกรรมการ 4 ฝ่าย พยายามทำตัวเป็นผู้ตัดสินทั้งหมด โดยตนเคยคาดหวังว่าหากคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้ข้อยุติใดแล้วควรไปรับฟังความเห็นประชาชนเสียก่อน ที่จะนำข้อสรุปส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี แต่สิ่งที่ปรากฏพอคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้ข้อยุติในที่ประชุม แล้วคิดเอาเองว่านั่นคือความเห็นของคนทั้งประเทศ โดยนำเสนอนายอภิสิทธิ์ ทันที ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับลูกแล้วนำไปสู่การออกระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี

"สังคมรู้อยู่แล้วว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เคยให้ความเห็นที่ผิดพลาด จนนำมาสู่ความขัดแย้งในวันนี้ โดยไปให้ความเห็นว่าขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ยังไม่มีกฏหมายลูกออกมารองรับ หน่วยงานจะให้การอนุมัติหรือให้อนุญาตโครงการใดๆ ที่มาขอได้หรือไม่ ซึ่งกฤษฏีกาให้ความเห็นว่า สามารถดำเนินการได้เลย ทำให้เกิดความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวินิจฉัยมาแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2552 และคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ออกมาว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ย่อมมีผลในทันที ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่จบง่ายๆ โดยวันจันทร์นี้ ประมาณ 10 โมงเช้า ผมจะเดินทางไปร้องศาลปกครองสูงสุด เพราะถือเป็นมติที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลพิจารณาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆหรือไม่ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ยืดอายุตัวเองออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด" นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายสุรชัย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ว่า โดยส่วนตัวตนคิดว่าสถานการณ์ค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ โดยสิ่งที่ละเลยที่ผ่านมา คือ การไม่ได้ออกกฏหมายที่ควบคุมสิทธิมนุษยชนของประชาชน รวมทั้งสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ดังนั้น จึงเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยกรณีมาบตาพุด ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ที่น่าจะเป็นกรณีสุดท้าย เพราะยังมีกฏหมายอีกหลายฉบับที่ยังไม่ออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนที่ ครม. แต่งตั้งองค์กรอิสระ เดิมทีแล้วมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นฝ่ายคอยประสานระหว่างภาคส่วนอื่นๆ ที่จะมาร่วมเจรจา ตนดูเหมือนว่า องค์กรดังกล่าวไม่มีความเป็นอิสระ เนื่องจาก ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจำเป็นต้องมีหน่วยงานดังกล่าวขึ้นมาทำไม

นายศรีสุวรรณ กล่าวประเด็นนี้ว่า ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะตราบใดที่องค์กรอิสระถูกต้องขึ้นโดยกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ และมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ย่อมไม่มีความเป็นอิสระอยู่แล้ว

นายสุรชัย กล่าวว่า องค์กรอิสระถูกออกมาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งขึ้นมาให้ความเห็นประกอบ แต่อำนาจในการพิจารณาว่าอนุญาตหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานประจำ ทั้งในเรื่องโครงการภาครัฐหรือภาคเอกชน ดังนั้น องค์กรนี้ต้องมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะโครงการที่จะเข้าสู่มาตรา 67 วรรค 2 นี้ คุมไปทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
นายเติมศักดิ์ จารุปราณ ผู้ดำเนินรายการ
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และเป็น 1 ในคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา
กำลังโหลดความคิดเห็น