อายุครบขวบปีไปหมาดๆ สำหรับรัฐนาวา 6 พรรคร่วมรัฐบาล ที่มีนายอภิสทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการก้าวข้ามปีการเมืองที่เรียกว่าดุเดือดพอสมควร และเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบริหาร ศึกใน ศึกนอก ที่และเห็นอยู่ข้างหน้าจะทำให้รัฐบาลนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างสะดวกดายหรือไม่ เปิดมุมมอง 2 นักรัฐศาสตร์ จาก 2 สถาบัน ถึงอนาคตการเมืองไทย
อายุครบขวบปีไปหมาดๆ สำหรับรัฐนาวา 6 พรรคร่วมรัฐบาล ที่มีนายอภิสทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการก้าวข้ามปีการเมืองที่เรียกว่าดุเดือดพอสมควร และเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของการบริหาร ศึกใน ศึกนอก ที่และเห็นอยู่ข้างหน้าจะทำให้รัฐบาลนี้ผ่านพ้นไปได้อย่างสะดวกดายหรือไม่ เปิดมุมมอง 2 นักรัฐศาสตร์ จาก 2 สถาบัน ถึงอนาคตการเมืองไทย
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ยังมองว่าการเมืองไทยจะยังคงอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง ไม่สงบ แต่ไม่น่าจะเกิดความรุนแรง ด้วยปัจจัย 3 ประการ
1. ปัจจัยจากคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินยกคำร้อง ก็จะทำให้ผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งพรรคเพื่อไทย กลุ่มนปช. ใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลมากขึ้นอีก ทำให้เสถียรภาพรัฐบาลลดน้อยลง และถ้ารัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ โอกาสที่จะนำไปสู่การยุบสภาก็มีมากขั้น
แต่หากมีคำตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดไม่ว่าจะลงโทษในด้านใด ความน่าเชื่อถือของพ.ต.ท.ทักษิณ จะลดลงเพราะคำพิพากษาจะชี้มูลว่า ทำอะไรผิดบ้าง และเมื่อข้อมูลความผิดถูกเผยแพร่ออกไปมากขึ้น คนก็จะรู้ความจริงมากขึ้น และกลายเป็นประโยชน์กับฝ่ายที่ต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ส่งผลให้พลังของฝ่ายค้านที่กดดันรัฐบาล ก็จะลดลง
2. หากรัฐบาลยังใช้ความนิ่งสงบ ประคับประคองการเมือง แล้วหันไปเร่งรัดแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน ทำให้ปรากฏผลจริงจัง จนประชาชนรู้สึกดีขึ้นอย่างชัดเจนก็จะทำให้รัฐบาลสามารถอยู่ต่อไปได้ตลอดปี และมีโอกาสสร้างผลงานที่สำคัญที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น
3. สังคมไทยวันนี้ประชาชนเริ่มรู้แล้วว่า กลุ่มไหนเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของใคร มีจุดยืนเพื่อใคร และประชาชนวันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนกลุ่มใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง ทำให้โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงทางการเมืองขึ้นในปี 53 อาจจะน้อย เพราะฝ่ายใดเริ่มต้นใช้ความนรุนแรงก็จะเพลี่ยงพล้ำทันที จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดการยุบสภาอย่าง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท เห็นว่า การอภิปรายฯนั้น เมื่อมองในแง่การต่อสู้ทางการเมือง ประเด็นทางการเมือง ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างชัดเจน การทุจริตที่ชัดเจนก็ยังไม่ปรากฏ ด้วยฝีไม้ลายมือการอภิปรายในสภา ฝ่ายค้านยังไม่เหนือกว่าฝ่ายรัฐบาล จึงไม่น่าจะมีการเพลี่ยงพล้ำง่ายๆ และตราบใดที่รัฐบาลกับพรรคร่วมจับมือกันแน่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ไม่มีผล
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านมีธงชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมแก้ไข แล้วเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้สนใจจะแก้ ทำให้คนที่ต้องการแก้ไขเหลือเพียงพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น และเมื่อรวมกับกระแสต่อต้านการแก้ไข ทำให้เชื่อว่า ความมุ่งมั่นของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะแก้ลดน้อยลง
สำหรับกรณีการยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้นทำให้รัฐบาลมีปัญหา แต่อาจไม่มาก เพราะคนที่เป็นหัวหน้าพรรคในขณะที่กระทำผิด เป็นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งก็อาจจะมีแกนนำรัฐบาลในขณะนี้บางคนร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่ และอาจต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ แต่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องก็สามารถหาพรรคใหม่สังกัด และก็ยังมาร่วมกับพรรคร่วมเดิม จัดตั้งรัฐบาลได้
“ถามว่าตัวรัฐบาลเองทำไมต้องยุบสภา ถ้ายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่โอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลน้อย จึงต้องพยายามประคับประคองให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป การยุบสภาจะเป็นทางออกสุดท้าย ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ก็เชื่อว่าเขาก็ต้องการอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดเช่นกัน เพราะถ้ายุบสภาแล้วเลือกตั้งกลับเข้ามา การที่เขาจะไปรวมกับพรรคอื่น โอกาสที่จะต่อรองได้ดูแลกระทรวงสำคัญเหมือนที่อยู่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ไม่มีเลย ซึ่งจะว่าไปแล้วถือเป็นรัฐบาลผสมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พรรคร่วมฯ ได้ดูและกระทรวงสำคัญๆ ทั้งหมด โดยที่พรรครัฐบาลไม่ได้กระทรวงสำคัญเลย ฉะนั้นสภาพแบบนี้ถ้ายังประนีประนอมกันได้อยู่ พรรคร่วมฯ ก็จะไม่พยายามแตกหักกับประชาธิปัตย์ โอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ต่อไปก็มีสูง แล้วถ้าพรรคประชาธิปัตย์เร่งทำงานหลัก ผลสำเร็จก็จะเป็นหลักประกันการเลือกตั้งต่อๆไปว่า อาจจะมีโอกาสชนะกลับเข้ามา ดังนั้นภายใต้เงื่อนไข และสภาพการณ์เมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้การเมืองปี 53 ไม่น่าจะดุเดือดเท่ากับปี 52 ”
นายสมบัติ ระบุว่าการยุบสภาเป็นเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มพ.ต.ท.ทักษิณ เพียงฝ่ายเดียวที่ต้องการทำให้สำเร็จ จึงต้องกดดันรัฐบาล เพราะการเลือกตั้งใหม่จะเป็นโอกาสที่ทำให้พรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มที่สนับสนุนฯได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจนว่า จะนำรัฐธรรมนูญปี 40 กลับมาใช้ มีการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้พ.ต.ท.ทักษิณ โดยพรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ ส.ส.กลับเข้ามาจำนวนมาก สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ถึงตรงนั้นก็มีการอ้างฉันทานุมัติจากประชาชน และดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ คือ เอารัฐธรรมนูญปี 40 กลับมา นิรโทษกรรมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การเมืองไม่ราบรื่น ฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะออกมาเคลื่อนไหว และนำไปสู่ความไม่สงบทางการเมืองอีกรอบของประเทศไทย
"สำหรับประชาธิปัตย์แล้ว เลือกตั้งเร็วยิ่งเสียเปรียบมาก ยังมีหลายเรื่องที่น่าติดตามนโยบายประชานิยมรัฐสวัสดิการของประชาธิปัตย์ ที่ไปแจกเบี้ยคนชรา คนพิการ อสม. ดอกผลมันถึงประชาธิปัตย์บ้างหรือเปล่า และมันจะมีผลเรื่องความนิยมให้ประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งกลับมามากขึ้นหรือไม่ ถ้ามีผลก็จะทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยนไป อย่างเบี้ยคนชรา 5-6 ล้านคน มันก็มากเหมือนกัน และจะว่าไปมันมากกว่ากองทุนหมู่บ้านด้วยซ้ำ ซึ่งก็ต้องดูว่าถ้ารัฐบาลออกเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ก็จะเป็นการตอกย้ำว่านโยบายที่ออกมาพอจะได้ผลบ้าง แต่ถ้ายังทำไม่ค่อยได้ ก็บ่งชี้ว่าความนิยมค่อนข้างน้อย เพราะเวลานี้หลายพื้นที่รัฐบาลก็ยังเข้าไม่ถึง”
ด้านนายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์การปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมุมมองในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมประท้วงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในปีนี้ คงจะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา และคงไม่สามารถทำให้รัฐบาลต้องล้ม หรือทำให้การเมืองเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้งหนึ่ง
แต่สิ่งที่จะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนกลับเป็นคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่หากมีการยุบพรรคฯเกิดขึ้น การเมืองจะเกิดสภาพการณ์เช่นเดียวกับตอนตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ในสภาจะมีการจับขั้วกันใหม่ โอกาสพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นจากการรวมกันของสมาชิกประชาธิปัตย์ที่รอดจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่
“ ตรงนี้จะเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ถามว่าพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าเป็นนายชวน หลีกภัย สมาชิกประชาธิปัตย์เดิม ก็คงจะอยู่รวมกันได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ตกลงกันไม่ได้ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็จะแตกไปคนละทาง และเท่าที่จำได้ กรรมการบริหารพรรคในขณะนั้นราว 30 กว่าคน หากถูกตัดสิทธิทั้งหมด เสียงที่หายไปก็จะมีผลต่อจำนวนเสียงของรัฐบาลที่เวลานี้มากกว่าฝ่ายค้านไม่กี่สิบเสียง ดังนั้นขั้วรัฐบาลมีโอกาสพลิกกลายมาเป็นขั้วพรรคเพื่อไทยมาก เพราะจะรอเลือกตั้งใหม่กลับเข้ามาก็ไม่ทัน เว้นแต่ประชาธิปัตย์ คุยกับพรรคร่วมไว้คร่าว ๆ ว่าถ้ายุบพรรคแล้วใครจะมาเป็นต่อ ซึ่งดูแล้วมันมองไม่ออก ก็เหลือแต่ นายชวนคนเดียว ”
ปัญหาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายไชยันต์ วิเคราะห์ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้กลิ่นว่าพรรคจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นอาจทำให้รัฐบาลโดยนายอภิสทธิ์ ชิงตัดสินใจยุบสภาก็ได้ เพราะหากปล่อยรัฐบาลเดินไปถึงจุดที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคแล้ว เวลานั้นนายกฯ จะไม่มีสิทธิยุบสภา เพราะไม่มีเหตุผลให้ยุบ
“ คิดว่าถ้าประชาธิปัตย์ได้กลิ่นนี้ เขาจะปล่อยให้ยุบพรรคก่อนไม่ได้ เพราะมันจะยุบสภาไม่ได้ แต่มันสอดคล้องกับช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่แม้เรื่องคะแนนเสียงจะไม่เป็นปัญหาทำให้เขาได้รับเสียงไม่ไว้วางใจ แต่ตรงนั้นเขาสามารถยุบสภาได้ แล้วค่อยให้ยุบพรรคเกิดขึ้นทีหลัง และถ้าสมมุติมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการยุบสภา และมีการยุบพรรคตามมาอีก พี่น้องเสื้อแดงเขาก็อาจจะมองว่า ทุกอย่างมันได้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มันไม่มี 2 มาตรฐานอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน อีกทั้งมันเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยรับได้ด้วย เพราะมันคือการยุบสภา และถือโอกาสนี้เลือกตั้งล้างไพ่ใหม่ ดูว่าใครได้คะแนนเสียงข้างมาก ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย”
และเมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล แม้จะเหมือนว่าการเมืองวนกลับมาทีเดิม แต่เชื่อว่ามันจะสงบลง การชุมนุมอาจจะไม่มี ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ต้องใช้โอกาสจากการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าจบ พอแล้วพอกันที แล้วก็ใช้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้พรรคเข้มแข็งโดยจะใช้ประชานิยมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ริเริ่มไว้เป็นตัวสร้างความเข้มแข็งก็ได้ โดยปล่อยให้พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ต่างประเทศไป เพราะจะให้กลับมาแบบไม่ต้องรับโทษ มันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็แก้ปัญหาทำเพื่อประเทศชาติ การต่อต้านมันก็จะไม่มี เพราะมันไม่มีเหตุผล แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วยังดึงดันจะเอาพ.ต.ท.ทักษิณกลับมา จะมีการนิรโทษกรรม กลุ่มพันธมิตรฯก็ออกมาแน่ แล้วก็จะเป็นเหมือนเดิม
นอกจากนี้มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการยุบสภา แต่ต้องเป็นกรณีพรรคฝ่ายค้านร่วมแก้ในสภาผู้แทนราษฎร เพราะนายกฯ ก็ประกาศว่าพร้อมจะยุบสภาเมื่อมีการแก้ไขเสร็จสิ้น จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านเอาด้วยหรือไม่ เพราะกระบวนการแก้ไขกว่าจะแล้วเสร็จก็ราว 8 เดือน เท่ากับว่ารัฐบาลจะอยู่ได้อีก 8 เดือนอย่างแน่นอน ซึ่งระหว่างนี้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมันก็อาจจะออกดอกผลแล้ว ทำให้ประชาธิปัตย์ก็หวังว่า ถ้าเลือกตั้งคะแนนนิยมของพรรคจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง
อย่างไรตาม หากที่สุดแล้วไม่มีการยุบพรรค แต่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐบาลยังสามารถประคับประคองกันไปได้เรื่อยๆ การชุมนุมประท้วงต่างๆ มันก็ไม่มีผล สิ่งที่จะสั่นคลอนรัฐบาลได้ ก็คือผลงานของเขาเองที่มันไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาภาคใต้ก็ไม่ดี การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่เป็นไปตามคาดากรณ์ พอประชาธิปัตย์มันเน่ามากจริง ๆ พรรคร่วมมันก็ไม่เอาอยู่ดี รัฐบาลก็คงต้องจบด้วยตัวเอง