นายกฯ เปิดเสวนาเขตการค้าเสรีอาเซียน ชี้ ม.190 ในรัฐธรรมนูญ 50 ช่วยให้คนมีส่วนร่วมมาก รับต้องเร่งแก้ไขกระบวนการให้มีความพร้อมมากขึ้น เชื่อหากผลักดันสำเร็จจะนำไปสู่การสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำแข่งขันสู้ชาติอื่นได้ พร้อมติดตามและเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในการเปิดการเสวนา
วันนี้ (24 ธ.ค.) ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดการเสวนาเรื่อง เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) : ไทยพร้อมหรือยัง ว่าในอนาคตประเด็นในเรื่องการเปิดหรือทำข้อตกลงในเรื่องการค้าเสรีจะมีการขยายวงออกไปอีก ในอดีตการเจรจาเรื่องการค้าเสรีที่ทำในหมายระดับ มีการทำมาก แต่กระบวนการเจรจาที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมค่อนข้างจำกัดมาก และเมื่อมีการดำเนินการตามข้อตกลงแล้ว กระบวนการในการติดตาม ประเมิน เยียวยา แก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น มีปัญหามาเกือบตลอด ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งของที่มาของมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลนี้เข้ามานั้นอยู่ภายใต้สภาวะข้อเท็จจริงที่หลายเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว โดยที่ไม่เคยผ่านกระบวนการของมาตรา 190 เพราะฉะนั้นก็ต้องเร่งแก้ไขกระบวนการต่างๆเพื่อให้กลไกต่างๆที่จะรองรับข้อตกลงต่างๆ มีความพร้อมมากขึ้น การที่เศรษฐกิจขนาดกลาง หรือขนาดเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะยืนโดยลำพังจะไม่สามารถแข่งขันกับเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้การผลักดันเขตการค้าเสรีอาอาเซียนที่ในที่สุดจะนำไปสู่เรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเป็นความเร่งด่วนเป็นพิเศษในปัจจุบัน เพราะถ้าสามารถสร้างตลาดที่มีประชากรประมาณ 580 ล้านคน จะเป็นอีกแนวทางที่ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ได้
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในปี 2553 ใน 6 ประเทศอาเซียน จะต้องมีการลดอัตราภาษีระหว่างกันให้เป็นศูนย์ ก่อนที่ประเทศที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ที่เหลืออีก 4 ประเทศก็จะดำเนินการในลักษณะเดียวกันในปี 2558 ดังนั้น ในต้นปี 2553 ก็ถือว่าเป็นปีของการเปลี่ยนแปลง หรือก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของการรวมตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และจะเห็นได้ว่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีเขตการค้า เสรีอาเซียน และอาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 2 หรืออันดับ 1 ของประเทศไทยแล้ว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ความสามารถหรือความพร้อมของการแข่งขันที่เบื้องต้นอยู่ที่การปรับตัวของภาคเอกชน ถ้าภาคเอกชนมีความพร้อมให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพการผลิต ต้นทุน การทำการตลาด การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตนเองตลอดเวลานั้น ก็ย่อมที่จะแข่งขันได้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างมากมาย
“หน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งของรัฐบาล คือ ต้องสร้างกฎกติกาที่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัวได้ง่าย ซึ่งอันนี้ก็เป็นสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันอยู่แล้ว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กับประเทศไทยตนอยากจะย้ำคือ ในภาพรวมแล้วการเดินหน้าไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นจะเป็นประโยชน์กับคนไทยและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม คนไทยความจริงต้องย้ำว่าทุกคนไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ผลิตอย่างเดียว แต่อยู่ในฐานะผู้บริโภคด้วย การทำเขตการค้าเสรีก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค คือ การเพิ่มทางเลือกในกับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าที่ถูกมีคุณที่ดีในราคาเดิม แต่ผู้ผลิตบางรายอาจจะได้รับผลกรระทบจาการแข่งขันทางรัฐบาลเองก็กำลังดำเนินการหาหนทางแก้ไขในหลายๆ เรื่องแล้ว เช่้น การปรับกลไกโครงสร้าง, การนำเข้าสินค้าเกษตรบางตัวอาจจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์, มาตรการด้าน สุขอนามัย หรือมาตรฐาน GMO และมีความมั่นใจว่าการเปิดการค้าเสรี และการดำเนินการตามขั้นตอน คงจะสามารถทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ขยายการค้ากับอาเซียนได้ และได้เปรียบในเรื่องดุลการค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป
“ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญและติดตามผลที่เกิดขึ้นจากการเปิดตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้มีมาตรการในการที่จะเยียวยา หรือชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจะส่งเสริมให้ประกอบการสามารถที่จะแข่งขันได้ในอนาคตด้วยการปรับตัวตามความจำเป็นที่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว