xs
xsm
sm
md
lg

รายงานล่าสุดของ OECD-FAO ชี้อีก 10 ปีราคาอาหารยังคงแพงต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกจ้างนั่งกินข้าวหน้าร้านขายข้าวในกรุงมะนิลา
เอเจนซี - ราคาอาหารจะยังคงแพงไปตลอด 10 ปีข้างหน้า ถึงแม้จะลดต่ำลงมาจากระดับสูงทำสถิติครั้งแล้วครั้งแล้วในปัจจุบัน และนั่นหมายความว่ามีพลโลกอีกหลายล้านคนที่ต้องเผชิญภัยคุกคามว่าจะต้องยากลำบากหรืออดอยากหิวโหยกันต่อไป ทั้งนี้เป็นรายงานที่ร่วมกันจัดทำโดยโออีซีดี และเอฟเอโอ ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้(29)

นอกเหนือจากเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแล้ว รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) และ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ยังเสนอแนะให้ใช้ประโยชน์จากพืชตัดต่อทางพันธุกรรม (GMOs หรือ GM) ให้มากขึ้น ตลอดจนขบคิดพิจารณากันใหม่เกี่ยวกับโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่ผลิตจากธัญญาหารที่ผู้คนรับประทานได้หรือนำมาเลี้ยงสัตว์ได้

รายงานฉบับนี้ซึ่งนำออกเผยแพร่ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดด้านอาหารโลกที่กรุงโรมในสัปดาห์หน้า ระบุว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารน่าที่จะลดต่ำลงมาจากระดับสูงสุดซึ่งทะยานขึ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ ทว่าตลอดช่วง 10 ปีต่อจากนี้ไป ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์อาหารก็ยังจะสูงกว่าเมื่อรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ดี

โดยรายงาน แจกแจงว่า สำหรับราคาเนื้อวัวและเนื้อหมูในระยะ10 ปีข้างหน้า อาจจะอยู่ในระดับสูงกว่ารอบ 10 ปีที่แล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ข้าวสาลี,ข้าวโพด และนมผงที่สกัดไขมันออกแล้ว น่าจะสูงกว่าในระดับ 40-60 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว เมื่อคำนวณจากตัวเลขของราคาโดยยังไม่คิดเรื่องอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับราคาของข้าว อันเป็นอาหารหลักของผู้คนในเอเชีย อีกทั้งคาดหมายว่าจะยิ่งกลายเป็นอาหารหลักที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในแอฟริกาในระยะต่อจากนี้ไป รายงานนี้ คาดหมายว่า รอบ 10 ปีข้างหน้าจะแพงขึ้นโดยเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์จากช่วงระหว่างปี 1998-2007

"ในประเทศรายได้ต่ำจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายด้านอาหารโดยเฉลี่ยแล้วสูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทีเดียว ราคาอาหารที่สูงขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในรายงานนี้ จึงจะผลักไสประชาชนจำนวนมากขึ้นให้ตกอยู่ในภาวะโรคขาดสารอาหาร" รายงานกล่าว

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารจำนวนมากได้พุ่งทะยานขึ้นเป็นกว่า 2 เท่าตัวในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรายงานฉบับนี้บอกว่าเนื่องมาจากปัจจัยจำนวนมาก อาทิ ภัยแล้งในเขตผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ใหญ่ๆ อย่างเช่นออสเตรเลีย,ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตเร็ว อย่างเช่น จีนและอินเดีย

แต่รายงาน ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญมากๆ ที่ทำให้ราคาอาหารแพง ก็คือ แรงขับดันที่จะใช้ธัญญาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังให้ความอุดหนุนอย่างมากมาย รวมทั้งทางฟากยุโรปด้วย

"ความต้องการในเชื้อเพลิงชีวภาพ คือแหล่งที่ทำให้เกิดอุปสงค์ใหม่ๆ แหล่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีมานี้ อีกทั้งเป็นปัจจัยอันมีบทบาทแข็งขันอยู่เบื้องหลังการปรับทะยานสูงขึ้นในราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกาตร" รายงานกล่าว พร้อมกับเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องพิจารณาหาทางเลือกทางอื่น

ผลประโยชน์ของการหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่ว่าในทางด้านสิ่งแวดล้อมและในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนในแง่ของความมั่นคงทางด้านพลังงาน "อย่างดีที่สุดก็มีเพียงพอประมาณ และบางครั้งยังกลับกลายเป็นให้ผลลบด้วยซ้ำ" รายงานชี้

รายงานยังเน้นย้ำถึงผลกระทบจากพวกนักลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าด้านสินค้าโภคภัณฑ์ หรือที่เรียกกันว่า ตลาดตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สด้านคอมโมดิตีส์ โดยรายงาน บอกว่า การแห่เข้าไปลงทุนในตลาดล่วงหน้าเช่นนี้ เป็นการเพิ่มแรงผลักดันให้ราคาพุ่งขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจตัดสินได้ว่ามันจะส่งผลกระทบอย่างไรในระยะยาว นอกเหนือจากก่อให้เกิดความผันผวนปั่นป่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น