xs
xsm
sm
md
lg

โมเดลโรคติดต่อใหม่ในกลุ่มสังคม ข้อมูลชี้เพื่อนเลิกบุหรี่..เราเลิกด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงยั่วยุในการสูบบุหรี่อาจเป็นโรคติดต่อ เช่นเดียวกับการเลิกสูบ ทีมนักวิจัยฮาร์วาร์ดที่ก่อนหน้านี้โชว์หลักฐานว่าโรคอ้วนสามารถติดต่อระหว่างคนได้ พบโมเดลเดียวกันนี้สำหรับการหันหลังให้มัจจุราชสีเทา กล่าวคือมีแนวโน้มว่าสิงห์อมควันจะเลิกบุหรี่ถ้าแฟน เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือพี่น้องเลิก
นอกจากนั้น ยังมีแนวโน้มว่าผู้สูบบุหรี่มักเลิกบุหรี่พร้อมกันเป็นกลุ่ม และคนในกลุ่มที่ยังไม่ยอมเลิกพ่นควันจะรู้สึกตัวเองว่าถูกผลักไสให้อยู่รอบนอกของวงจรทางสังคม
ดร.นิโคลัส คริสเตกิส นักสังคมวิทยาการแพทย์จากฮาร์วาร์ด เมดิคัล สกูล และผู้นำการจัดทำรายงานฉบับนี้ อธิบายว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่การสูบของคนที่เรารู้จักเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับพฤติกรรมของคนที่รู้จักเราด้วย
การค้นพบนี้สนับสนุนการศึกษาในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าเพื่อนมีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจในการสูบบุหรี่ อีกทั้งเป็นการแสดงหลักฐานว่า ‘ระบบบัดดี้’ ในโครงการเลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก หรือเลิกเหล้า สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพติดได้จริง
“เราเคยได้ยินมาเหมือนกันว่ามีคนเลิกบุหรี่เพราะแฟนหรือเพื่อนเลิก เพราะฉะนั้น ถ้าคุณสามารถจูงใจให้คนกลุ่มเล็กๆ เลิกได้ คนเหล่านั้นก็จะส่งอิทธิพลต่อไปให้คนรอบข้างเลิกบุหรี่ด้วย” เจนนิเฟอร์ อังเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญการป้องกันการสูบบุหรี่ของมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย เห็นด้วย
ปีที่แล้ว คริสเตกิสและเจมส์ ฟาวเลอร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซานดิเอโก ตีพิมพ์รายงานที่บ่งชี้ว่าโรคอ้วนสามารถระบาดในหมู่เพื่อนเหมือนโรคติดต่อ โดยอ้างอิงจากการศึกษาและติดตามผลเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่นานสามทศวรรษ ซึ่งพบว่าหากคนใดคนหนึ่งอ้วนขึ้น เพื่อนสนิทของคนนั้นมีแนวโน้มน้ำหนักตัวเพิ่มตามไปด้วย
สำหรับการศึกษาล่าสุดของทั้งคู่ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันภาวะสูงวัยแห่งชาติของสหรัฐฯ นั้น มุ่งประเด็นพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเครือข่ายสังคมกลุ่มเดียวกัน
นักวิจัยทีมนี้ได้ศึกษาชีวิตทางสังคมของกลุ่มตัวอย่าง 12,067 คนที่อาศัยอยู่ในบอสตันระหว่างปี 1971-2003 และเป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการศึกษาด้านหัวใจฟรามิงแฮม
นักวิจัยสามารถสร้างแผนผังความสัมพันธ์ด้วยการขอให้คนเหล่านี้ให้ข้อมูลการติดต่อกับครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงานและเพื่อนบ้าน และบังเอิญที่คนกลุ่มหลังอยู่ในโครงการศึกษาด้วย จึงกลายเป็นว่านักวิจัยทำการสังเกตการณ์และติดตามผลครอบครัว กลุ่มทางสังคม และกลุ่มทางวิชาชีพรวมทั้งสิ้น 53,228 กลุ่ม
สิ่งที่ไม่น่าประหลาดใจเลยคือ ผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดคือผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด กล่าวคือเมื่อแฟนหรือคู่ครองเลิกบุหรี่ อีกฝ่ายมีแนวโน้มจะเลิกตามถึง 67% เช่นเดียวกัน เมื่อเพื่อนเลิก โอกาสที่คนเป็นเพื่อนจะเลิกจะลดหลั่นลงมาอยู่ที่ 36% พอๆ กับเมื่อเพื่อนร่วมงานหรือพี่น้องเลิก
จิลล์ ปาล์มเมอร์ วัย 28 ปี ที่เคยสูบบุหรี่วันละซองจนกระทั่งเข้าโครงการเลิกบุหรี่เมื่อปีที่แล้วที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เล่าว่าใช้หมากฝรั่งนิโคตินและคุยกับที่ปรึกษาเพื่อกำหนด ‘วันเลิก’
หลายวันผ่านไปหลังจากปาล์มเมอร์หยุดบุหรี่ สามีของเธอก็โยนบุหรี่และไฟแช็กทิ้งตาม ปาล์มเมอร์ยังบอกว่า ตัวเธอเองถูกโน้มน้าวจากเพื่อนร่วมงานให้ไปเข้าโครงการอดบุหรี่
จากการสุ่มวิเคราะห์ตัวอย่างของกลุ่มผู้สูบบุหรี่ นักวิจัยยังพบว่าเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งคนทั้งกลุ่มจะเลิกบุหรี่ และคนที่ยังเลิกไม่ได้จะรู้สึกตัวเองว่ากำลังจะกระเด็นหลุดจากวงเพื่อน
อย่างไรก็ตาม สแตนลีย์ วัสเซอร์แมน นักสถิติของมหาวิทยาลัยอินเดียนาที่ศึกษาเกี่ยวกับเครือข่ายสังคม ตั้งข้อสังเกตว่า แม้การวิจัยของฮาร์วาร์ดให้ผลชัดเจน แต่ยังมีข้อจำกัดในตัวเอง เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าอิทธิพลทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญจริงๆ ในการทำให้คนทั้งกลุ่มเลิกบุหรี่ เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการเผยแพร่ผลการศึกษาที่เน้นย้ำพิษภัยจากการสูบบุหรี่
วัสเซอร์แมนทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ควรเอาข้อมูลสถิติมาเป็นตัวบ่งชี้ แต่ควรสอบถามกลุ่มตัวอย่างให้ชัดเจนไปเลยว่า เลิกบุหรี่เพราะอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น