"ชวนนท์" ย้ำ "บัวแก้ว" ทุ่มสุดความสามารถ ช่วยวิศวกรไทย ยัน ไม่มีคำสั่งล้วงลูกเขมร เมิน "แม่ศิวรักษ์" แบมือขอความช่วยเหลือ "เพื่อไทย" ลั่น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ด้าน อดีตทูต "อัษฎา" ติง "บัวแก้ว" เลิกตื่นตูมช่วย "ศิวรักษ์" ชี้วิศวกรไทย ไม่ได้ทำผิดยอมรับทำไม แนะ ร้ององค์กรสิทธิมนุษยชนฯ หรือ ยูเอ็น ช่วยบีบเขมร
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน เวลา 20.30-22.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม โดยมี นายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ วันนี้ได้เชิญ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอัษฎา ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ มาร่วมพูดคุยถึงคดี นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรไทยที่ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี พร้อมปรับเงินอีก 1 แสนบาท ในข้อหาจารกรรมข้อมูลเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคง
นายเติมศักดิ์ กล่าวเปิดรายการด้วยประเด็น หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าคดี นายศิวรักษ์ จะนำพามาซึ่งความขัดแย้งระยะยาวของรัฐบาลไทยและกัมพูชา รวมทั้ง นางสิมารักษ์ ณ นครพนม มารดานายศิวรักษ์ ได้ออกมากล่าวโทษว่า นายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอกทูตไทยฯ ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ นายศิวรักษ์ ต้องถูกศาลกัมพูชาสั่งจำคุก
นายชวนนท์ กล่าวประเด็นนี้ ว่า ตนยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้มอบหมายคำสั่งใดๆให้ นายคำรบ ไปสั่งการ นายศิวรักษ์ ให้ล้วงข้อมูลกัมพูชา ซึ่งเท่าที่ได้สอบถามข้อเท็จจริงกับ นายคำรบ ได้มีการยืนยันว่า เนื้อหาการพูดคุยกับ นายศิวรักษ์ ไม่ได้มีอะไรที่เป็นความลับและภัยต่อความมั่นคงกัมพูชา อีกทั้ง กำหนดการเดินทางไปเยือนกัมพูชาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้มีสิ่งใดต้องปิดบัง เพราะสื่อมวลชนหรือแม้กระทั่ง สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็ออกมาประกาศชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมารับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลกัมพูชา
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า สำหรับ นางสิมารักษ์ ตนเข้าใจหัวอกคนเป็นแม่ ว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นภาพลูกชายต้องมาติดคุก 1 เดือนเต็ม แล้วต่อมาก็ถูกศาลกัมพูชาสั่งจำคุกถึง 7 ปี พร้อมปรับเงิน 1 แสนบาท ซึ่งหลังศาลกัมพูชาตัดสินเช่นนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็พร้อมยอมรับคำตัดสินดังกล่าว เพราะไม่อยากเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา ส่วนเรื่องที่มีข้อมูลว่า พบคู่สายติดต่อกันเป็นจำนวนมากระหว่าง นายศิวรักษ์ และนายคำรบ จากการสอบถามเรื่องนี้ ทั้งคู่แค่ปรึกษากันเรื่องจิปาถะ ไม่ได้มีอะไรเป็นความลับ
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี นางสิมารักษ์ ขอเปลี่ยนตัวทนายความ ทั้งที่ทนายคนเก่าเป็นผู้มีฝีมือ และมีความเชี่ยวชาญทางกฏหมาย เรื่องนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ โดยมองว่าเป็นสิทธิ์ที่ นางสิมารักษ์ สามารถทำได้ แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ได้ช่วยเหลือคดี นายศิวรักษ์ อย่างเต็มที่
นายอัษฎา กล่าวว่า ตนขอตำหนิการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ที่หลังมีการจับกุมตัววิศวกรไทย ก็ออกอาการตื่นเต้นเกินเหตุ จนทำให้คนคิดว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังและสั่งการให้ นายคำรบ ไปไหว้วาน นายศิวรักษ์ ให้ล้วงข้อมูลลับกัมพูชา โดยเรื่องนี้ที่จริง กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ควรรีบร้อนมากนัก อีกทั้ง ควรชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุที่ต้องการรีบช่วยเหลือ นายศิวรักษ์ เนื่องจากเป็นคนไทย ดังนั้น ในฐานะรัฐบาลจึงต้องยื่นมือมาช่วยเหลือเต็มที่ แต่อีกสิ่งที่ตนรู้สึกสงสัย คือ ทำไมบริษัทต้นสังกัด นายศิวรักษ์ ไม่แสดงอาการอะไร หลังจากที่พนักงานของตัวเองถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวไป
นายอัษฎา กล่าวต่อว่า ด้านประเด็นการดักฟังโทรศัพท์ ที่คาดว่าทำให้ล่วงรู้คำพูดระหว่าง นายคำรบ และนายศิวรักษ์ ตนคิดว่า หากกัมพูชาทำการดักฟังโทรศัพท์จริง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ อยากให้ลองคิดตามดูว่า หาก นายคำรบ ต้องการสั่งการ นายศิวรักษ์ ให้ไปจารกรรมข้อมูลสำคัญกัมพูชาจริง ทำไมต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกันด้วยเรื่องสำคัญเช่นนี้ เพราะสมควรเดินทางไปพบพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวมากกว่า ดังนั้น หากศาลกัมพูชา นำข้อมูลจากการดักฟังโทรศัพท์มาตัดสินคดีนี้ แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมกัมพูชาต้องมีปัญหา
นายเติมศักดิ์ กล่าวว่า กัมพูชาอาจใช้ประเด็นนี้ โจมตีรัฐบาลไทยให้เสื่อมเสียในเวทีนานาชาติ
นายอัษฎา กล่าวประเด็นนี้ ว่า ทางที่ดี กระทรวงการต่างประเทศ ควรจะเตรียมข้อมูลเรื่องนี้ไว้ เพื่อใช้ชี้แจงความจริงให้ทุกฝ่ายทราบว่า เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับไทยและกัมพูชา โดยต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่า คนไทยไม่ได้เข้าไปจารกรรมข้อมูลใดๆ ของกัมพูชา เป็นเพียงแต่บอกกล่าวตารางการบินพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เปิดเผยได้ ไม่ใช่ความลับที่ต้องปกปิด ส่วนเรื่องที่ นายศิวรักษ์ ไปยอมรับความผิด เพื่อหวังเข้าสู่ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ ตนคิดว่าสุดแล้วแต่การตัดสินใจของ นายศิวรักษ์ แต่แค่อยากถามว่า ทำไมถึงอยากรับผิดทั้งที่ไม่ได้ทำผิด โดยจริงๆแล้ว หากจะสู้คดีนี้ยังมีหลายวิธีที่สามารถทำได้ เช่น การส่งหนังสือไปถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือองค์การสหประชาชาติ ให้เข้ามาช่วยบีบกัมพูชา
นายเติมศักดิ์ กล่าวว่า คดีนายศิวรักษ์ จะนำพามาซึ่งความขัดแย้งที่บานปลายระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่
นายชวนนท์ กล่าวประเด็นนี้ ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความนิ่มนวล และทำตามหน้าที่ทุกประการ ส่วนเรื่องกัมพูชา นำประเด็นนี้ไปปะปนกับประเด็นอื่น อย่างเช่น การจะไม่ขอกู้เงินจากรัฐบาลไทย เพื่อนำไปดำเนินโครงการสร้างถนน สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของกัมพูชา แต่ทางรัฐบาลไทยได้ชี้แจงไปแล้วว่า เรื่องความช่วยเหลือต่างๆ กับคดีนายศิวรักษ์ มันคนละส่วนกัน
นายอัษฎา กล่าวว่า ตนคิดว่าต้นเหตุจริงๆ ที่ทำให้ไทยไม่พอใจ สมเด็จฯ ฮุนเซน คือ เมื่อครั้งที่มาประชุมอาเซียนที่หัวหิน และวิพากษ์วิจารณ์ศาลไทย หาว่ากลั่นแกล้ง พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้ง ท้าให้ นายอภิสิทธิ์ ยุบสภา ถ้าไม่กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ จะชนะคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้ทุกฝ่ายเห็นว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน แสดงความถ่อยเช่นไรกับประเทศไทย
นายอัษฎา กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่กัมพูชาไม่ขอกู้เงินรัฐบาลไทย เพราะไม่พอใจ นายอภิสิทธิ์ ตนคิดว่าหากกัมพูชาไม่แยกแยะ และต้องการทำเช่นนั้น ก็เป็นสิทธิ์จะไม่กู้ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นผลดีที่ประเทศไทยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปช่วยเหลือฝ่ายที่เต็มใจยอมรับการช่วยเหลือ แต่สิ่งหนึ่งที่ สมเด็จฯ ฮุนเซน อาจจะลืมไป นั่นคือ นายอภิสิทธิ์ อยู่ในฐานะผู้นำของประเทศไทย ดังนั้น ต้องให้เกียรติ ไม่ใช่ไม่พอใจส่วนตัวแล้วลามไปเรื่องอื่น หรือจะมาแสดงอำนาจบาทใหญ่ เหมือนที่เคยทำในกัมพูชาไม่ได้ นั่นนับเป็นการเผด็จการเบ็ดเสร็จอำนาจไว้คนเดียว หากกัมพูชาไม่ขอกู้ รัฐบาลไทยก็ไม่ต้องง้อ