การพิจารณาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ที่กระบวนการกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น และน่าระทึกยิ่ง กับผลคำพิพากษาที่คาดกันว่าน่าจะได้รับทราบคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า
มีประเด็นเชื่อมโยงที่สะท้อนชัดถึงการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะเกี่ยวพันไปถึงคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเมื่อปี 2550 “สุนัย มโนมัยอุดม” เป็นอธิบดีดีเอสไอ สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เพ็ญโสม และบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท เอสซี แอสเสท ฐานกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในการปกปิดการถือครองหุ้นเอสซี แอสเสท ที่แท้จริง และไม่รายงานต่อ ก.ล.ต.
โดยคดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ นช.ทักษิณ ถูกหมายจับของพนักงานสอบสวน จนเจ้าตัวต้องหลบหนีไปกบดานอยู่ในประเทศอังกฤษ แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2551 “พรรคพลังประชาชน” ขึ้นเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาล พล.อ.สรุยุทธ์ จุลานนท์
เกมล้างแค้นก็เริ่มต้นขึ้น...
นับจากการปลด “สุนัย” ฟ้าผ่า จนต้องกลับไปเป็นผู้พิพากษา และโหดร้ายถึงขั้นมีการออกหมายจับ จัดชุดไปตะครุบตัว“สุนัย” ถึงสนามบิน ราวกับเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์ ซึ่งในที่สุดศาลยุติธรรมก็ได้มีคำสั่งยกเลิกหมายจับที่ออกโดยมิชอบไปแล้ว
แต่คดีเอสซี แอสเสท ก็เกิดการพลิกผันตามมาทันทีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก้าวขึ้นเป็นอธิบดี ดีเอสไอ แทน “สุนัย” เพราะถูกสงสัยว่ามีการดึงเรื่องให้ล่าช้า กระทั่งเมื่อส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการก็ถูกครหาอย่างมากว่า “ทำสำนวนอ่อน” จนอัยการสั่งไม่ฟ้อง ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เมื่ออัยการส่งเรื่องกลับมายังดีเอสไอ
พ.ต.อ.ทวี ก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตามอัยการทันที รวดเร็วเสียยิ่งกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดเปิดปุ๊บติดปั๊บเสียอีก
ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้นเท่ากับ “คดีเป็นที่สุด” ผู้ต้องหาทั้ง 4 หลุดพ้นข้อกล่าวหาไปโดยปริยาย
มาถึงวันนี้จากการไต่สวนในศาลฎีกาฯ อันสืบเนื่องจากคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ปรากฏหลักฐานสำคัญบ่งชี้ว่า นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา เป็นเจ้าของกองทุนส่วนบุคคลที่ตั้งในมาเลเซีย 2 กองทุน คือ โอเวอร์ซี โกรว์ธ ฟันด์ (OGF) และออฟชอร์ ไดนามิค (ODF) ที่ถือหุ้นใน เอสซี แอสเสท รวมกว่า 61.165 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.05% ของหุ้นจดทะเบียน และครอบครัวชินวัตร ยังเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการลงทุนเสียด้วย
หลักฐานโครงสร้างการลงทุนของกองทุนทั้ง 2 ในเอสซี แอสเสท ที่ ก.ล.ต.และดีเอสไอ ไปเปิดเผยต่อศาลฎีกาฯ มีตัวละครเกี่ยวข้องทั้งหมด 7 ราย ประกอบด้วย 1.ซิเนตรา ทรัสต์ 2.บริษัท บลูไดมอน 3.บริษัท วินมาร์ค 4.กองทุน VAF 5.กองทุน OGF และ 6.กองทุน ODF และ 7.เอสซี แอสเสท โดยมีการซื้อขายไปจนถึงการทำนิติกรรมอำพรางในกลุ่มหุ้นของบริษัทเหล่านี้ และมีคำยืนยันจาก นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.ต่อศาลศาลฎีกาว่า
การซื้อขายหุ้นระหว่าง นช.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เมื่อปี 2543 จำนวน 1,500 ล้านบาท เป็นเงินที่มาจากบัญชีวินมาร์ค ในต่างประเทศ 1,200 ล้านบาท
เท่ากับว่า มีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซี แอสเสทจริง
พยานหลักฐานชัดขนาดนี้ ทำไมอัยการและ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จึงเห็นสอดคล้องไม่สั่งฟ้องคดี เป็นเรื่องที่น่าค้นหาคำตอบ
มีเรื่องเล่าจากวงในดีเอสไอว่า อดีตผู้ยิ่งใหญ่ในหน่วยงานนี้ ชื่นชอบการเขมือบ “ปู” เป็นพิเศษ แถมวิธีการลิ้มรสก็แหวกแนวไม่เหมือนใคร เพราะมักจะเลือกไปสนองความอยากกลางร้านอาหารชื่อดัง ก่อนปอกเปลือกปูเข้าสู่ปาก ก็ไม่ใช้วิธีทุบเหมือนชาวบ้านชาวช่อง แต่จะตระกองกอดไว้ในอ้อมอกอย่างทะนุถนอม ส่วนขั้นตอนต่อจากนั้น คนสายตาดีไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะไม่ได้กระทำต่อในร้านอาหาร!
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงวันที่ 14-17 เมษายน 52 อันเป็นห้วงเวลาวางแผนก่อการร้ายลอบยิง “สนธิ ลิ้มทองกุล”
ช่วงนั้นมีอิสตรีนางหนึ่งเดินทางไปดูไบ เพื่อพบญาติสนิท และมีการสื่อสารผ่านมือถือกับอดีตผู้ยิ่งใหญ่ที่ชอบกิน “ปู” ถึง 24 ครั้ง ภายในเวลาแค่ 4 วัน ในจำนวนนั้นทำสถิติคุยกันนานสุดถึง 37 นาที!
ส่วนเรื่องเล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างใครกับใคร และเกี่ยวพันจนทำให้คดีเอสซี แอสเสท ถูกเป่าทิ้งอย่างน่าอดสูหรือไม่ ถ้ายังคิดไม่ออกให้ย้อนกลับไปอ่านอีกที