xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุด สั่งอุทธรณ์คัดค้านคุ้มครองมาบตาพุดชั่วคราว ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมาคมต่อต้านโลกร้อน-ชาวบ้านมาบตาพุด” แถลงศาลปกครองสูงสุด เรียกเอกสารเพิ่ม กรรมาธิการจากวุฒิสภา 5 ชุด-สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ-คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ-มูลนิธิบูรณะนิเวศ ลงพื้นที่วิจัยปัญหามลภาวะ หลังไต่สวนพยานบุคคลเสร็จ 2 ฝ่าย ขณะที่นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน คาด ศาลสั่งอุทธรณ์ กก.สิ่งแวดล้อมคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ได้ ม.ค.ปีหน้า ปัด ไม่คิดประวิงเวลาร้องศาลไต่สวนเอกสารเพิ่ม ด้าน “สุทธิ อัชฌาสัย” เผย จ่อร้อง ศปค.ส่งศาล รธน.ตีความผลบังคับใช้ รธน.มาตรา 67

วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายเกษม คมสัตย์ธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนคดีอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมาบตาพุด นัดไต่สวนกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.อุตสาหกรรม, รมว.พลังงาน, รมว.คมนาคม, รมว.สาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีมาบตาพุด รวมทั้ง บมจ.ปตท.และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการก่อสร้างมาบตาพุด ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลปกครองกลางสั่งระงับการก่อสร้างลงทุน 76 โครงการในพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง ไว้เป็นการชั่วคราว

โดย นายสุทธิ อัชฌาศัย ตัวแทนชาวบ้าน อ.มาบตาพุด ผู้ฟ้อง กล่าวว่า การนัดไต่สวนวันนี้ เป็นการนัดให้คู่ความ มาฟังรายงานกระบวนพิจารณาคดีของศาลที่ไต่สวนพยานฝ่ายชาวบ้าน ผู้ฟ้อง และตัวแทนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กับพวกฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ไปก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้งเมื่อวันที่ 2 และ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ขณะนี้กลุ่มชาวบ้าน ผู้ฟ้องคดี มีแนวคิดว่าอาจจะเสนอให้ศาลปกครองกลางเจ้าของสำนวนคดีมาบตาพุด ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เกี่ยวกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ว่า มีผลใช้บังคับทันทีที่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่ายังไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งเห็นต่างกับศาลปกครองที่เห็นว่ามีผลใช้บังคับทันที อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมาบตาพุด คงจะรอให้การพิจารณาคดีอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดที่เวลานี้อยู่ในขั้นตอนไต่สวนและส่งเอกสารชี้แจง มีผลออกมาก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง ส่งประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดต่อไป

นายสุทธิ ยังกล่าวถึงกรณีที่จะมีการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหา 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ว่า จะเป็นการกำหนดกรอบกติกา ซักซ้อมความเข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง จะได้เป็นแนวทางให้การเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและการประกาศโครงการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า คณะกรรมการนี้จะสามารถหาทางออกได้บางเรื่องเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ในการนัดไต่สวนครั้งที่ 3 นัดสุดท้ายนี้ กลุ่มผู้ฟ้องได้แถลงด้วยวาจา ต่อองค์คณะศาลปกครองสูงสุด ให้เรียกพยานเอกสารเพิ่มจาก 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรรมาธิการจากวุฒิสภา 5 ชุด ซึ่งลงไปตรวจสอบปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุด, สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งลงไปทำการวิจัยในพื้นที่ ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ฝ่ายผู้ฟ้อง จัดคำแถลงยื่นต่อศาลภายในวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งหลังจากนั้นศาลจะแจ้งให้ 4 หน่วยงานส่งข้อมูลมาให้ศาล และศาลจะแจ้งให้ผู้ถูกฟ้อง ทำคำชี้แจงกลับมาอีกครั้ง เมื่อรวมทุกขั้นตอนแล้ว ตนจึงคาดว่า ผลอุทธรณ์คำร้องคุ้มครองชั่วคราวระงับ 76 โครงการมาบตาพุด ศาลปกครองสูงสุดน่าจะพิพากษาในเดือนมกราคม 2553

“เหตุผลที่ต้องให้ศาลไต่สวนเพิ่มเพราะเป็นหลักฐานที่เห็นว่าศาลยังไม่ได้รับรู้จึงจำเป็นต้องขอให้ศาลเรียก ไม่ได้คิดจะประวิงคดี หรือทำให้ศาลตัดสินล่าช้า” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนจะเรียกร้องต่อ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหา 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขอให้เปลี่ยนตัวนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกจากกรรมการร่วม 4 ฝ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาได้เพิกเฉยในการออกกฎหมาย และในการดำเนินการแก้ปัญหาต่างๆ มาโดยตลอด เป็นเหตุให้ภาคประชาชนต้องมาฟ้องร้อง ดังนั้นอยากให้เอารองปลัดกระทรวงฯมาเป็นแทน นอกจากนี้ อยากให้ นายอานันท์ ดำเนินการตรวจสอบโครงการทั่วประเทศไปเลย ซึ่งมี 500 กว่าโครงการ

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า แม้จะไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ 4 ฝ่าย แต่ได้รับการติดต่อจากนายอานันท์ เพื่อขอหารือแลกเปลี่ยนความเห็น คาดว่า จะมีโอกาสได้คุยกันวันนี้และจะเสนอให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้ผนวกประเด็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลของ 181 โครงการไว้เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ หลังจากที่สมาคมส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการ 181 โครงการลงทุนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชนนั้น เชื่อว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการดังกล่าวน่าจะได้รับหนังสือแล้ว สมาคมจะขอรอดูท่าทีก่อนว่าผู้ประกอบการเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร

“ผมมองว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่รัฐตั้งขึ้นมานี้ทำหน้าที่เหมือนหนังหน้าไฟที่รับเป็นตัวแทนของภาครัฐเท่านั้น เพราะหากมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแล้วอาจจะไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากติดขัดตามข้อประกาศเดิมที่มีอยู่ซึ่งออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจำแนกประเภทอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบรุนแรงตลอดจนการทำงานบางอย่างอาจมีความซ้ำซ้อนกันได้ หากจะให้การทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประสบผล อาจจำเป็นต้องยกเลิกบางประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ก็จะคล้ายกับการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีในการแก้ไขปัญหามลพิษบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายศรีสุวรรณ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น