xs
xsm
sm
md
lg

“ประสพสุข” ลังเลยกเลิก MOU ต้องขอความเห็นชอบรัฐสภาหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสพสุข บุญเดช
กมธ.ศึกษาบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ยื่นผลสรุปการศึกษาต่อ “ประธานวุฒิสภา” จี้วิปวุฒิถอนตัวร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย หลังสมานฉันท์ไม่เกิดแน่เพราะวิปฝ่ายค้านไม่ร่วมสังฆกรรม ด้าน “ประสพสุข” ไม่แน่ใจเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา 2544 ขัด รธน.190 แนะเสนอกฤษฎีกาตีความ



วันนี้ (9 พ.ย.) ที่รัฐสภา พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้ยื่นรายงานสรุปผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดย พ.ท.กมล กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าหมดหน้าที่ของวุฒิสภาแล้ว เพราะถือว่าตัวแทน 3 ฝ่ายหมดไปแล้ว ส่วน ส.ว.บางคนที่ไปร่วมดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับทางวิปรัฐบาลนั้น หากไปในนามส่วนตัวคงไม่เป็นไร แต่ถ้าไปในนามวุฒิสภาก็ไม่เห็นด้วย

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทย ต้องอาศัยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา แต่ปรากฏว่าฝ่ายค้านได้ขอถอนตัวออกไปแล้ว ดังนั้นการร่วมยกร่างเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพรรคร่วมรัฐบาลและตัวแทนจากคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เพียงสองฝ่ายจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ ในเรื่องความสมานฉันท์ได้ คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่จึงมีความเห็นว่า ควรให้ตัวแทนจากวิปวุฒิสภาถอนตัวออกมาทันที นอกจากนี้ยังเห็นควรให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำการประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ศึกษาข้อดีข้อเสียถึงที่มาของ ส.ว. ทั้งมาจากการสรรหาและเลือกตั้ง และส่งผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอแนะมายังวุฒิสภาต่อไป จึงขอให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาดำเนินการต่อ

นายประสพสุขกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการศึกษาบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มีมติให้วิปวุฒิสภาถอนตัวจากการเป็นตัวแทนร่วมประชุมวิป 3 ฝ่ายว่า ตนจะพิจารณาเรื่องนี้โดยละเอียดว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จะต้องขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภาหรือไม่ โดยใช้เวลาไม่นาน โดยในสัปดาห์นี้ก็ไม่มีการประชุมวุฒิสภา

ประธานวุฒิสภากล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.2544 เกี่ยวกับความตกลงจะเจรจา เรื่องการแบ่งเขตแดนทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยนั้นว่าจะต้องนำเข้ารัฐสภาหรือไม่ว่า คงต้องศึกษารายละเอียดมาตรา 190 ว่าเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ตนเข้าใจคงต้องขออนุญาตจากรัฐสภา ส่วนที่หลายฝ่ายเห็นไม่ตรงกันแล้วจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความนั้นก็ถือเป็นสิทธิที่จะส่ง แต่จู่ๆ จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่นายกฯ จะต้องตัดสินใจ พูดแทนนายกฯ ไม่ได้ เพราะท่านมีที่ปรึกษากฎหมาย ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้หารือข้อกฎหมายอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น