xs
xsm
sm
md
lg

จม.พันธมิตรฯ ถึงนายก จี้ยกเลิกแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน-ขับไล่เขมรพ้นดินแดนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายละเอียดจดหมายจากพันธมิตรฯ ถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ดำเนินการยกเลิกแผนที่แสดงเส้นเขตแดน ระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว และผลักดันทหารและชาวกัมพูชาออกจากดินแดนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข โดย นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ จะยื่นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 9 พ.ย.นี้
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯแถลง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แถลง

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลง

นายสมศักดิ์ โกสัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลง

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลง

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลง
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒

เรื่อง ขอให้ดำเนินการยกเลิกแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว และ ผลักดันทหารและชาวกัมพูชาออกจากดินแดนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ราชอาณาจักรสยามตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ยึดถือเส้นเขตแดนตาม “อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔” (พ.ศ. ๒๔๔๗) ซึ่งได้ยึดหลักสันปันน้ำในการแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารมาโดยตลอด โดยไม่ได้ยึดแผนที่อื่นใด อันเป็นการยึดถือแนวทางการปฏิบัติตามหลักสากลทั่วโลก

ต่อมาคณะกรรมการฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ขึ้นมาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเรียกแผนที่ดังกล่าวว่า “แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน และจัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) และสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐)”

แผนที่ดังกล่าวซึ่งได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น เป็นการจัดทำแผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ มีความผิดพลาดในทางภูมิศาสตร์หลายประการ และไม่ยึดถือหลักสันปันน้ำในการแบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งขัดแย้งกับอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ที่ฝ่ายไทยยึดถืออย่างสิ้นเชิง

ราชอาณาจักรสยามมาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงไม่เคยยอมรับแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ตามที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว

แม้ต่อมาจะได้มีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และกัมพูชาพยายามที่จะยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้พิพาษาสถานภาพของ “แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐”และ “เส้นเขตแดนตามแผนที่ฉบับมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ดังกล่าว” แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ไม่ได้พิพากษายอมรับทั้งแผนที่และเส้นเขตแดน ตามแผนที่มาตรา ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ตามที่ฝ่ายกัมพูชาร้องขอแต่ประการใด

จึงย่อมเท่ากับว่า ประเทศไทยและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่เคยยอมรับสถานภาพของแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ นับตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมาเป็นเวลาถึง ๓๘ ปี

ต่อมาพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตย ได้พบหลักฐานว่ารัฐบาลไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้นมาได้มีพฤติกรรมนำพาประเทศเข้าสู่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนอย่างมหาศาล ด้วยการใช้อำนาจไปยอมรับแผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยยอมรับนับถือตามลำดับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ นายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
ได้ลงนาม บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (ต่อไปนี้เรียกว่า “MOU ๒๕๔๓”) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.

ตามเอกสาร MOU ๒๕๔๓ พบข้อความที่ระบุเอาไว้ในข้อ ๑ (ค) ว่า

ข้อ ๑.จะร่วมกันดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาให้เป็นไปตามเอกสารต่อไปนี้

(ค) แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๔ สนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ๑๙๐๔ และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ.๑๙๐๗ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

การระบุข้อความดังกล่าวย่อมหมายถึงแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักการเมืองต่างประเทศที่โดยนายวรกรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติราชการแทน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นำเรียนนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ก็ได้อนุมัติ ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ ๒ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒.) ซึ่งมีการระบุข้อความอย่างชัดเจนในหน้าที่ ๑ ว่า

-พื้นฐานทางกฎหมาย การสำรวจและปักปันหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๐๔ สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ กับพิธีสารแนบท้าย และแผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกัมพูชามาตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน

MOU ๒๕๔๓ จึงเป็นเอกสารจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลได้ไช้อำนาจในการยอมรับแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ และทำให้รัฐบาลหลายชุดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการและอ้างอิงตามเอกสาร MOU ๒๕๔๓ มาโดยตลอด

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๔๔
สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการลงนามเอกสารการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ๒ ฉบับ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ อันประกอบไปด้วย

๑.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ลงนามโดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย กับ นายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา (ต่อไปนี้เรียกว่า “MOU ๒๕๔๔”) (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๓.)

๒.แถลงการณ์ร่วมในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ลงนามโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กับ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๔ ต่อไปนี้เรียกว่า (ต่อไปนี้เรียกว่า “แถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๔๔”) (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๔.) ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีการรับรอง MOU ๒๕๔๔ และยังมีการระบุอีกในข้อ ๑๓ ดังต่อไปนี้
๑๓. ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความตั้งใจมั่นที่จะดำเนินการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างกันให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ บนพื้นฐานของมิตรภาพ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลักการของความเสมอภาค และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เพื่อให้พรมแดนของทั้งสองประเทศ เป็นพรมแดนแห่ง เสถียรภาพ และมิตรภาพที่ยั่งยืนระหว่างกัน

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันระหว่างข้อตกลงและผลประโยชน์ในเรื่องการปักปันเขตแดนทางบกกับทางทะเล ทั้งนี้ยังปรากฏเป็นรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการฝ่ายเทคนิคครั้งที่ ๑ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ความตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาตกลงแก้ไขประเด็นต่างๆที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน”

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๖ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
จาก MOU ๒๕๔๓ ได้เป็นผลทำให้ คณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ได้มีการจัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมทางบก ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) (ต่อไปนี้เรียกว่า “TOR ๒๕๔๖”) (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๕.)โดยระบุอย่างชัดเจนให้ใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เป็นพื้นฐานของการดำเนินงานในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ตามที่ระบุเอาไว้ในข้อ ๑.๑.๓ และ หัวข้อที่ ๔ เรื่องขั้นตอนและการสำรวจและจัดวางหลักเขตแดน

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในนามรัฐบาลราชอาณาจักรไทย ได้ลงนามร่วมกับ กับ นายซก อัน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบสำนักคณะรัฐมนตรี
โดยมีนางฟรองซัวส์ ริวีเร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโกเป็นพยาน ในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ไว้ในบัญชีมรดกโลก และสำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโก กรุงปารีส (ต่อไปนี้เรียกว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑) (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๖.)

ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ ดังกล่าวได้มีการแนบแผนผังแสดงอาณาบริเวณที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนด เช่น พื้นที่บริเวณอาณาบริเวณรอบตัวปราสาทพระวิหาร, พื้นที่กันชน, พื้นที่บริหารจัดการร่วม ซึ่งแผนผังดังกล่าวได้ทำให้ดินแดนไทยรอบปราสาทพระวิหารกลายเป็นของกัมพูชา อันเสมือนหนึ่งเป็นการยอมรับแผนที่มาตรา ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ อันเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภานั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งรราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเลขที่ ๖-๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งเลขที่ ๕๔๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ให้ “แถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑” ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีหนังสือถึงนาย ฮอร์ นัม ฮง
รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๗.)โดยระบุเนื้อความบางตอนในหนังสือดังกล่าวระบุว่า:

ในการประชุมรัฐมนตรีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-กัมพูชา ครั้งที่ ๑ ที่เมืองเสียมราฐ ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาไม่ถือว่าคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณสำหรับความเข้าใจของท่านว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามความในคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นเดียวกันว่า สภาวการณ์หลังการลงนาม และข้อจำกัดที่เป็นผลตามมา ทำให้แถลงการณ์ร่วมเองนั้นเป็นเอกสารที่สิ้นผลแล้ว

หนังสือดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องการอ้างให้ฝ่ายกัมพูชาไม่ยึดถือแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ ว่าไม่ใช่สนธิสัญญาเท่านั้น เพียงเพื่อให้นักการเมืองและข้าราชการรอดพ้นจากการกระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่มีการอ้างคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทยให้มีความชัดเจนในการยกเลิกแต่ประการใด จึงย่อมทำให้ขาดน้ำหนักในยกเลิกแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ เพราะเสมือนอ้างว่าแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ สิ้นผลเพราะฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ยึดถือเป็นสนธิสัญญาเท่านั้น

วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑
นาย ฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ถึง นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยตอบกลับจดหมายของนายเตช บุนนาค (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๘.) ความตอนหนึ่งว่า:

การประชุมระหว่างอาหารมื้อกลางวันของเราที่เสียมราฐ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ พูดคุยเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ผมได้กล่าวว่า “มันไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ” ดังนั้น มันมีคุณค่าเท่าที่มันเป็น

หนังสือฉบับดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ยอมรับการยกเลิกแต่ประการใด เพียงแต่การอ้างคำพูดคุยและยึดถือว่าเอกสารแถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ มีความผูกพันอย่างที่มันเป็น ไม่ได้มีข้อสรุปว่า “คำพูดคุยว่าไม่ใช่สนธิสัญญา” กับ “ข้อผูกพันในเอกสารแถลงการณ์ร่วม ๒๕๕๑” จะเป็นสิ่งเดียวกัน โดยมีข้อน่าสังเกตว่า คำแถลงการณ์ร่วม ๒๕๕๑ ได้ถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและออกเป็นมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ ๓๒ แล้วตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และยังคงมีผลอยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังปรากฏอยู่ในเวบไซต์ขององค์การยูเนสโกซึ่งได้ระบุมติคณะกรรมการมรดกโลกเอาไว้ในข้อ ๑๕

วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
รัฐบาลได้จัดทำเอกสารกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร และเอกสารกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆภายใต้กรอบนี้ ที่เสนอวาระให้สมาชิกรัฐสภาลงคะแนนในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ ครั้งที่ ๕ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๙.) ซึ่งผลปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาเกือบทั้งหมด ทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ส.ส. ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา มีมติเห็นชอบกับกรอบการเจรจาดังกล่าว (ตามสิ่งทีส่งมาด้วย ๑๐.)

ซึ่งกรอบการเจรจาข้อตกลงดังกล่าวได้มีการรับรองสถานภาพของ MOU ๒๕๔๓ และ TOR ๒๕๔๖ อันเป็นการยอมรับแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ โดยสมาชิกรัฐสภาไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการสูญเสียดินแดนไทยในอนาคตอันใกล้ หากมีการดำเนินการต่อไปตามกรอบการเจรจาและแผนแม่บทดังกล่าว

แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ปรากฏว่ายังมีการดำเนินการตามกรอบการเจรจาที่สมาชิกรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ อย่างต่อเนื่อง อันเท่ากับเป็นการดำเนินการและยอมรับแผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เพิ่มมากขึ้น

วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ได้เสนอบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา “เพื่อขอความเห็นชอบ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๙๐ อันเป็นการเดินตามกรอบการเจรจาที่สมาชิกรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเอาไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ รวมบันทึกการประชุม ๓ ฉบับดังต่อไปนี้

บันทึกการประชุม ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๑๐-๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (สมัยรัฐบาลนายสมชาย)

บันทึกการประชุม ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๓-๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์)

บันทึกการประชุม ฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๖-๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา (สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์)

โดยหนังสือที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงประธานรัฐสภานั้น มีความชัดเจนว่าเพื่อ “ขอความเห็นชอบ” จากรัฐสภา โดยเนื้อความของหนังสือดังกล่าวได้ระบุว่า

“จึงขอเสนอบันทึกการประชุมรวม ๓ ฉบับ ดังกล่าว มาเพื่อขอได้โปรดนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”

อย่างไรก็ดีปรากฏว่าได้มีการแนบเอกสารประกอบการประชุมสมาชิกรัฐสภาครั้งนี้เป็น “ร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ (ไทย-ปราสาทพระวิหารในภาษาไทย) (กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวีเฮียร์) ลงวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ กรุงพนมเปญ แนบเข้ามาสู่การพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาด้วย (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑๑) (ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ร่างข้อตกลงชั่วคราว ๒๕๕๒”)

ร่างข้อตกลงชั่วคราว ๒๕๕๒ มีสาระสำคัญที่มีผลผูกพันตามแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ หลายประการ ดังปรากฏเป็นข้อความบางส่วนดังตัวอย่างต่อไปนี้

ยืนยันอีกครั้ง ถึงสิทธิและพันธกรณีภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๓ (ต่อไปนี้เรียกว่า “บันทึกความเข้าใจฯ ค.ศ. ๒๐๐๐”) รวมถึงแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วม ค.ศ. ๒๐๐๓ ซึ่งกล่าวถึงในนั้น

ความหมายดังกล่าวมีความหมายให้สมาชิกรัฐสภายืนยันอีกครั้งตาม MOU ๒๕๔๓ และ TOR ๒๕๔๖ ซึ่งได้อ้างอิงแผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ทั้งสิ้น

นอกเหนือไปจากนี้ร่างข้อตกลงดังกล่าวยังไปสอดคล้องกับเงื่อนไขสำคัญของคณะกรรมการมรดกโลกที่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างสองประเทศ คือจะต้องแสดงให้เห็นการยอมรับหรือผ่านกระบวนการตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศโดยสมบูรณ์แล้ว (เพื่อใช้เป็นหลักฐานเพื่อให้เห็นถึงการปราศจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ)

ร่างข้อตกลงชั่วคราว ๒๕๕๒ จะเป็นข้อผูกพันระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา และเป็นการยอมรับการยึดครองพื้นที่และการเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร เพราะในข้อ ๘ ของร่างข้อตกลงชั่วคราว ๒๕๕๒ ได้ระบุเอาไว้ว่า:

ข้อ ๘ ข้อตกลงชั่วคราวฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือแจ้งภาคีแต่ละฝ่ายว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายใตของตนเสร็จสิ้นแล้ว และคงมีผลบังคับใช้ จนกว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะเสร็จสิ้นลงในพื้นที่ประชิดกับ (ไทย-ปราสาทพระวิหารในภาษาไทย) (กัมพูชา-ปราสาทเปรียะวิเฮียร์) คู่ภาคีจะพยายามเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายภายในโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของตน

หากรัฐสภาไทยและรัฐบาลไทยยังคงยืนยันที่จะดำเนินการต่อไปโดยยึดถือแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เท่ากับว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนเส้นเขตแดนจากเส้นสันปันน้ำ มาเป็นแผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ดินแดนไทยอาจจะต้องสูญเสียอย่างมหาศาลนับแสนไร่ ตั้งแต่จังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด ทำให้เกิดการเปลี่ยนสิทธิและวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย กระทบต่อความมั่นคงต่อสังคมและความมั่นคงของรัฐ ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา

นอกจากนี้การสูญเสียดินแดนไทยภายใต้แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางทะเลของชาติในอนาคตได้

และจากการที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงออกในความไม่พอใจในความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขอสนับสนุนและให้กำลังใจ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินการทบทวนพันธะผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมกับแก้ไขความผิดและความพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

ประการแรก ขอให้ยกเลิก MOU ๒๕๔๓ ที่ได้เริ่มต้นดำเนินการให้ใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เป็นครั้งแรก โดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอันอาจเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ อีกทั้งฝ่ายกัมพูชายังได้ละเมิดข้อตกลงใน MOU ๒๕๔๓ ข้อ ๕ เพราะฝ่ายกัมพูชามีการดำเนินการที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เช่น การตัดไม้สร้างถนน สร้างชุมชน สร้างตลาด สร้างวัด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลไทยได้ทำการประท้วงเป็นหลักฐานหลายครั้งแล้ว

ประการที่สอง ขอให้ยกเลิก MOU ๒๕๔๔ และ แถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๔๔ ที่รับรองเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไม่ได้ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลไทยยังได้ดำเนินการโดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอันอาจเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๒๔ เช่นเดียวกัน

ประการที่สาม ขอให้ประกาศยกเลิก แถลงการณ์ร่วมฯ ๒๕๕๑ กับประเทศกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลก และองค์การยูเนสโก อย่างเป็นทางการโดยยกเหตุผลให้ชัดเจนว่ามาจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด พร้อมทั้งประกาศคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาให้มีความชัดเจน

ประการที่สี่ ขอให้สมาชิกรัฐสภาได้ดำเนินการเพิกถอนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นมติที่ได้ยอมรับแผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ เป็นครั้งแรก อันจะนำไปสู่การสูญเสียดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ประการที่ห้า ขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจยกเลิก TOR ๒๕๔๖ เพราะได้อ้างอิงและใช้แผนที่ตามมาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐

ประการที่หก ขอให้รัฐบาลได้ถอนเรื่องร่างข้อตกลงชั่วคราว ๒๕๕๒ ออกจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา และหยุดนำผลการประชุมของ JBC ทั้ง ๓ ครั้ง ให้ที่ประชุมของรัฐสภาเห็นชอบ และให้สมาชิกรัฐสภาทบทวนพิจารณากรอบการเจรจาเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับชายแดนที่ได้ผ่านการรับรองจากสมาชิกรัฐสภาไปแล้ว

ประการที่เจ็ด ให้รัฐบาลและกองทัพบกดำเนินการปกป้องอธิปไตย โดยอาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ ๕๑ และกฎอัยการศึก ทำการผลักดันชาวกัมพูชาที่ได้รุกล้ำและยึดครองพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง ให้ออกจากดินแดนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

ประการที่แปด ในกรณีที่ประเทศกัมพูชาได้ประกาศแต่งตั้งให้นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษารัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นการย่ำยีหลักนิติรัฐและศาลไทยที่กระทำในพระปรมาภิไธยอย่างร้ายแรง จึงขอให้รัฐบาลไทยได้พิจารณายกเลิกโครงการและงบประมาณที่ช่วยเหลือประเทศกัมพูชาทั้งหมด ตลอดจนพิจารณาหามาตรการอื่นเพื่อกดดันฝ่ายกัมพูชาเพิ่มเติมต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายพิภพ ธงไชย
แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย





กำลังโหลดความคิดเห็น