มีทั้งแรงคัดค้านและสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ที่มีทั้งการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในการดำเนินการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี (3rd generation) ที่จะเป็นการพลิกโฉมหน้าการสื่อสารโทรคมนาคมครั้งใหญ่ของประเทศไทย
ก็อย่างที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นักวิชาการชื่อดังแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งรู้จริงเรื่องธุรกิจโทรคมนาคมได้ระบุไว้ว่า
ในบางประเทศ การประมูลคลื่นทำรายได้ให้แก่รัฐบาลมหาศาล เช่น 1.6 ล้านล้านบาทที่อังกฤษ 3G จึงเป็นสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาล แต่หากกทช. ดันทุรังเปิดประมูล 3 จี ในราคาต่ำเกินจริง ผลเสียจะเกิดขึ้นมากกว่าผลดี”
ใบอนุญาต 3 จี ที่กำลังจะมีการเปิดประมูลในปลายปีนี้ มันจึงเป็นโปรเจกต์ใหญ่สุดของวงการโทรคมนาคมไทยในรอบทศวรรษ ที่บริษัทซึ่งทำธุรกิจโทรคมนาคมทั้งของคนไทยและต่างชาติ พากันจ้องตาเป็นมัน
แต่ที่น่าสนใจคือ พบความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารืออย่างไม่เป็นทางการในวงประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลตัวจริงเสียงจริง ที่บ้านพิษณุโลกเมื่อ 13 ตุลาคม 52 ที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วงสนทนา 3 จี ดังกล่าวประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,บรรหาร ศิลปอาชาและสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล จากพรรคชาติไทยพัฒนา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ จากพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ จากพรรคเพื่อแผ่นดิน เนวิน ชิดชอบ-สมศักดิ์ เทพสุทินและสรอรรถ กลิ่นประทุม จากพรรคภูมิใจไทย
ที่มีรายงานข่าวเล็ดลอดออกมาว่า แกนนำจากพรรคเพื่อแผ่นดินได้หยิบยกเรื่อง 3 จี ขึ้นมาพูดว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำลังดำเนินการจะเปิดประมูล 3 จี เพราะกทช. กีดกันไม่ให้ทีโอทีและกสท. เข้าร่วมประมูล แต่กลับเปิดกว้างให้ต่างชาติร่วมวงประมูลได้ อันจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์
นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต่างก็จับจ้องความคืบหน้าของโครงการ 3 จี แบบเกาะติด
แม้งานด้านกิจการโทรคมนาคม จะดูแลโดยพรรคเพื่อแผ่นดินที่คุมกระทรวงไอซีที และเป็นพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีหุ้นส่วนสำคัญของพรรคในยามนี้เพียงแค่ 3 แกนนำหลัก
พินิจ จารุสมบัติ ปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ และไพโรจน์ สุวรรณฉวี สามี ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที แสบสันต์ทั้งนั้น
มันก็น่าคิดไม่น้อยว่า เหตุใดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจากหลายพรรคจึงติดตามและสนใจในโครงการนี้ แถมมีข่าวว่าแกนนำพรรคร่วมต่างพรรคแต่มีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ยังเห็นด้วยกับการที่ไม่ควรต้องรีบเร่งประมูลใบอนุญาต 3 จี อันเป็นสิ่งที่กระทรวงไอซีทีโดย ระนองรักษ์ ก็เคลื่อนไหวในแนวทางนี้มาตลอด โดยมีแนวร่วมสำคัญคือ กลุ่มสหภาพแรงงานบริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลว่า
คณะกรรมการ กทช.ตอนนี้แม้มีอยู่ 7 คน แต่เป็นรักษาการ 4 คน จึงไม่ครบองค์ประชุมตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ อีกทั้งต้องการให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ เสียก่อนเพื่อให้ไม่เกิดการโต้แย้งในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะตามมา
แต่ทว่าเมื่อ กทช.ยืนกรานเดินหน้าเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการมือถือระบบ 3 จีได้ภายในธันวาคมปีนี้ หลังเคาะราคากลางใบอนุญาต 3 จี โดยราคาคลื่นความถี่ 10 เมกะเฮิรตซ์อยู่ที่ใบละ 4,600 ล้านบาท และคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์อยู่ที่ 5,200 ล้านบาท รวม 4 ใบอนุญาตอายุ 15 ปี ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ก็ทำให้ทั้ง กสท.-ทีโอที ต้องเตรียมรองรับ 3 จี เช่น กสท. ก็เตรียมจะขอมีส่วนร่วมในการประมูลที่จะเกิดขึ้นด้วยการเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3 จี เพื่อจะให้ผู้ชนะประมูลมาเช่าใช้ โครงข่ายของ กสท
ส่วนทีโอที ก็ไม่รอช้า ประกาศแผนลงทุนขนาดใหญ่เพียบ เช่น ลงทุนอัพเกรดสถานีฐานของไทยโมบาย 1900 จำนวน 533 สถานีฐาน ให้เป็นโครงข่าย 3 จี และงัดแผนสร้างโครงข่ายใหม่ อีก 3,500 สถานี รวมแล้วจะต้องงัดเงินมาลงทุนเพื่อการนี้อย่างน้อยๆก็ 20,000 ล้านบาท เพื่อรองรับมือถือ 3 จี
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เอง ก็รู้ดีว่าจำเป็นต้องทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบกับภาพลักษณ์การลงทุนในประเทศไทย เพราะบริษัทธุรกิจโทรคมนาคมหลายประเทศทั่วโลก ก็ติดตามข่าวการประมูลโครงการนี้ในไทยอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นหากโครงการหยุดชะงัก เช่นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติไม่น้อย
อีกทั้ง นายกฯอภิสิทธิ์ ก็รู้กันดีว่า หาก 3 จี เกิดขึ้นแม้จะตามหลังเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา เวียดนาม แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเสถียรภาพการเมืองไทยมั่นคงจนมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ได้ ผลที่ตามมาคือ ทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจอื่นๆมากขึ้นตามลำดับ ที่ทำให้นายกฯอภิสิทธิ์นำเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลได้ทันที
เพียงแต่สิ่งที่นายกฯอภิสิทธิ์รวมถึงสังคม ต้องจับจ้องให้ดี เมื่อเห็นแล้วว่า ขนาด 3 จี ยังไม่เกิด ก็พบว่าเริ่มมีข่าวในทางไม่สู้ดีออกมามากมาย
ตอนนี้เห็นแล้วว่า มีการเตรียมโครงการมากมายเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของ 3 จี อันไม่ใช่แค่ที่ทีโอทีกำลังจะสร้างโครงข่ายใหม่ อีก 3,500 สถานีใช้งบ 2 หมื่นล้านแค่นี้
แน่นอน ยังต้องมีอีกหลายสิบโครงการ งบหลายหมื่นล้านบาทที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับโครงข่าย 3 จี เมื่อ 3 จี เริ่มตอกเสาเข็ม เช่นล่าสุดกระทรวงไอซีทีก็ประกาศให้ทีโอที- กสท ต้องทุ่มงบพีอาร์เต็มที่เพื่อโฆษณาองค์กรทีโอที-กสท จะได้สู้กับคู่แข่งที่จะประมูล 3 จี ได้สูสี
เพราะในความชุลมุนของแรงต้าน-หนุน ที่มีทั้งผู้ได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ ก็อาจมีนักการเมืองบางกลุ่ม ก็อาจกำลังคิดหาช่องทางจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการ
“ปาดหน้าเค้ก”ชิ้นนี้ตาเป็นมัน
ด้วยวิธีการที่สุดเนียน จนยากจะรู้ได้ว่ากำลังมีผู้วางแผนหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้อยู่ ในยามที่ผู้คนมัวแต่ไปจับจ้องนักการเมืองบางกลุ่ม เช่นซีกภูมิใจไทยกันเป็นหลัก
จนลืมเหลียวมองอีกบางกลุ่มการเมืองที่ทำตัวเงียบๆ โลว์โปรไฟล์ เป็นเด็กดีในรัฐบาลมาตลอด จนสังคมเบนความสนใจไปที่กลุ่มการเมืองอื่น ทว่าตอนนี้กำลังวางแผนอันแยบยลเพื่อเตรียมกระสุนไว้ใช้ในการเลือกตั้งเลยต้องหาช่องหวังจะได้ทั้ง “ออเดิฟ-เค้กก้อนใหญ่” จาก 3 จี แบบเงียบๆ
จึงไม่แน่ว่า บางกลุ่มการเมืองที่คนภายนอกคิดว่ากำลังจะแตก หรือจะกลายเป็นกลุ่มการเมืองขนาดเล็กต้องไปรวมกับพรรคใหญ่ เผลอๆ พอได้”ชิ้นปลามัน” 3 จี เข้าท้องแบบเงียบๆ ไอ้ที่คิดกันว่าจะเป็นพวกกลุ่มการเมือง ”บอนไซ ที่ไม่มีวันโต”
เผลอแพลบเดียว จะกลายเป็นกลุ่มที่นักเลือกตั้ง-ส.ส.-อดีตส.ส.-กลุ่มทุนธุรกิจการเมือง พากันพาเหรดตบเท้าขอร่วมแจมการเมืองด้วย
จนอาจกลายเป็นพรรคที่มีกระสุนดินดำและมีนักการเมืองที่เบียดสู้กับเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ในความเป็นพรรคอันดับ 3 ได้อย่างสูสีเสียด้วยซ้ำ