xs
xsm
sm
md
lg

จัดสรรคลื่น 3 G เพื่อใคร ? หยุดจัดสรรคลื่น 3 G เพื่อธุรกิจบางราย ! จัดสรรคลื่น 3 G มิใช่หน้าที่ กทช. ตาม รธน.2550 !

เผยแพร่:   โดย: เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ถาม : โทรศัพท์มือถือ 3 จี (3G) ที่กำลังพูดถึงกันอยู่ในขณะนี้ คืออะไร ?

ตอบ : ที่พูดๆ กันว่า “3 จี” จริงๆ ก็คือระบบโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 3 หรือ “Third Generation Mobile Network” มันก็คล้ายๆ กับคนที่มีหลายรุ่น เช่น รุ่นพ่อ รุ่นลูก และรุ่นหลาน ระบบการให้บริการโทรศัพท์มือถือก็เหมือนกัน ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เขาเรียกกันว่า รุ่นที่ 2 หรือ “2 จี” (2G) แล้วมันก็มีรุ่นที่ทันสมัยกว่า (เหมือนรุ่นหลานว่างั้นเถอะ) คือ รุ่นที่ 3 (3G)

ระบบโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 3 หรือ 3 จี นั้น จะมีศักยภาพในการใช้งานสูงกว่าปัจจุบันมาก ทั้งในแง่ความรวดเร็ว และประโยชน์ใช้สอย

เรียกว่า เป็นมากกว่าโทรศัพท์ถือถือ

ยกตัวอย่าง แค่คุยโทรศัพท์กัน ก็สามารถเห็นภาพสดๆ ของคู่สนทนาอีกฝ่ายได้ด้วย เหมือนใช้โทรศัพท์มือถือเป็นกล้องถ่ายทอดสดภาพและเสียง ส่งสัญญาณไปยังปลายสายอีกทางได้เลย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือดูโทรทัศน์ ดูภาพยนตร์ (ประสิทธิภาพดีกว่าปัจจุบัน) ประชุมทางไกล หรือติดต่อเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลในอินเทอร์เนต ฯลฯ แทบไม่ต่างจากที่สามารถใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเลยทีเดียว

พูดง่ายๆ ว่า ย่อส่วนคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่อง ลงมาอยู่ในรูปโทรศัพท์มือถืออันเล็กๆ เท่านั้น

ถาม : โอ้โห! อย่างนี้ ถ้าออกมาให้ใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ คนจะไม่แย่งกันเป็นลูกค้าหรือ?

ตอบ : ก็นั่นแหละครับ คือเหตุผลที่ทำให้คลื่นความถี่ 3 จี หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในระบบ 3 จี แบบนี้ มันถึงได้มีมูลค่าสูงมาก

มันไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือแบบเดิมอีกต่อไป แต่มันเป็นระบบที่สามารถรวมเอาเทคโนโลยีสื่อสารสนเทศสมัยใหม่หลายชนิดเข้ามาผสมผสาน และใช้งานร่วมกันอย่างครอบจักรวาล

เพราะฉะนั้น ก็อย่าแปลกใจ เมื่อเห็นว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ รวมถึง ทศท. และ กสท. จะแสดงท่าทีกระตือรือร้นกับการจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี หรือการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการระบบ 3 จี ในประเทศไทย เป็นพิเศษ ก็เพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มูลค่าหลายแสนล้านบาท

ดูอย่างในหลายๆ ประเทศ ที่เขามีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี สามารถสร้างรายได้เข้าแผ่นดินมหาศาล เช่น อังกฤษ 1.6 ล้านล้านบาท, เยอรมนี 1.9 ล้านล้านบาท เป็นต้น

สูงกว่ายอดรวมงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยทั้งประเทศ ในปี 2552 มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท !

ถาม : ถ้าอย่างนี้ ก็ควรรีบเปิดประมูลเลยสิครับ เห็นข่าวว่า คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะรีบจัดสรรคลื่น 3 จี ไปทีเดียว ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ 4 ราย อย่างนี้ ประเทศไทยเรามีโอกาสจะได้ผลประโยชน์มากๆ เหมือนในต่างประเทศไหม?

ตอบ : ถ้าทำอย่างนั้นจริง ผมเกรงว่า ผลประโยชน์ของแผ่นดินมูลค่ามหาศาลที่พูดๆ กันนั้น จะมลายหายไปทันที เพราะผู้ประกอบการ 4 ราย จะไม่แข่งขันกันประมูล และยิ่งกว่านั้น ผลประโยชน์จากสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมอันเดิม ที่เอกชนเหล่านี้มีสัญญาผูกพันจะต้องจ่ายให้แก่รัฐไปจนสิ้นสุดสัญญาในอีก 6-10 ปีข้างหน้า อาจจะถูกเล่นแร่แปรธาตุ จนหายไปด้วย

ถาม :
อ้าว! ทำไมจะเป็นซะอย่างนั้นล่ะครับ?

ตอบ : ลองดูข้อเท็จจริง แล้วก็ลองคิดตามนี้ดูนะครับ

ขณะนี้ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือเอกชนในบ้านเรา มีอยู่ 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ โดยแต่ละรายมีสัญญาผูกพันอยู่กับหน่วยงานของรัฐว่า จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐทุกปี จนกว่าจะสิ้นสัญญา

เอไอเอส ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ร้อยละ 20 สำหรับมือถือระบบพรีเพด (บัตรเติมเงิน) และร้อยละ 30 สำหรับระบบระบบรายเดือนทั่วไป แบ่งให้รัฐเป็นค่าสัมปทาน ไปจนถึงปี 2558

ดีแทค และทรูมูฟ ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ ร้อยละ 25 ไปจนถึงปี 2554 และหลังจากนั้นไปจนกว่าจะหมดสัญญาในปี 2561 ก็จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30

ประเมินค่าส่วนแบ่งรายได้ ที่เอกชนทั้ง 3 ราย จะต้องจ่ายให้แก่รัฐ คำนวนถึงแค่ปี 2558 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท

เอกชนเหล่านี้ ได้ตกลงทำสัญญาว่าจะตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่รัฐไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อแลกกับสิทธิในการได้ประกอบกิจการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจากโทรศัพท์มือถือ 2 จี มานานหลายปี

ลองคิดดูว่า หากเอกชนเหล่านี้ รายหนึ่งรายใด หรือทุกราย ได้ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในระบบ 3 จี ซึ่งตามข่าวปรากฏว่า อนุญาตให้จ่ายค่าธรรมเนียมแก่ กทช. เพียงร้อยละ 6.5 ต่อปี เอกชนที่ต้องการแสวงหากำไรสูงสุดย่อมจะหาวิธีผ่องถ่ายหรือสร้างเงื่อนไขจูงใจลูกค้าเดิมของตนให้เข้ามาอยู่ในระบบ 3 จีอันใหม่ เพราะจะช่วยให้เอกชนได้จ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐแค่ร้อยละ 6.5 ถูกกว่าสัญญาที่มีอยู่กับรัฐเดิมที่ร้อยละ 20-30

เท่ากับว่า เอกชนจะประหยัดเงินได้ร้อยละ 13.5 – 23.5 ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี !

คิดเป็นเงินมูลค่าหลายแสนล้านบาท !

ทั้งๆ ที่ เงินผลประโยชน์ส่วนนี้ ตามสัญญาเดิม ควรจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน !

นี่แค่ผลประโยชน์ก้อนเดิม ที่รัฐควรจะได้ แล้วเสี่ยงว่าจะต้องสูญเสียไปเท่านั้นนะครับ ยังไม่รวมผลประโยชน์ก้อนใหม่จากการประกอบกิจการ 3 จี อีกต่างหาก

ถาม :
โอ้โห! แค่นี้ ก็กินไม่หวาดไหวแล้วมั๊งครับ?

ตอบ : แต่มันก็ยังน้อยกว่าผลประโยชน์จากคลื่น 3 จี ไม่เชื่อ ลองตามดูต่อไปนะครับ

ขณะนี้ ถ้ารัฐเปิดประมูลใบอนุญาตให้ 4 ราย ในขณะที่เรามีเอกชนที่ประกอบกิจการอยู่เดิมเพียง 3 ราย ก็เท่ากับว่า จำนวนใบอนุญาต มีมากกว่าผู้ประกอบการเดิม ดังนั้น หากไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาประมูลแข่งขัน ผู้ประกอบการเดิมก็คงไม่มีใครโง่พอที่จะไปเสนอราคาค่าใบอนุญาตแข่งขันกันแพงๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่า จำนวนใบอนุญาตมันมีมากกว่าผู้เข้าประมูล

อุปมาเหมือนมีที่จอดรถมากกว่าจำนวนรถ มันก็ย่อมไม่มีเจ้าของรถคนไหนไปประมูลแย่งที่จอดรถกันแพงๆ เพราะมีที่เหลือให้จอดแน่ๆ อยู่แล้ว

ถ้าทำอย่างนี้ รัฐก็จะได้ค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ 3 จี น้อยกว่าที่ควรจะได้อย่างแน่นอน ในขณะที่เอกชน ก็จะได้ประกอบกิจการ 3 จี สมใจปรารถนา ในราคาถูกแสนถูก รับรองว่าจะดีใจยิ่งกว่าถูกหวย

ถาม :
แต่ถ้าช่วยให้เอกชนประมูลคลื่นได้ถูกๆ จ่ายค่าสัมปทานต่ำๆ ประชาชนผู้บริโภคก็จะได้ใช้โทรศัพท์ราคาถูกด้วย ไม่ใช่หรือ?

ตอบ : ไม่จริงครับ

ในโลกความจริง ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเข้าประมูลนั้น เขาทำการบ้านมาหมดแล้วครับ คำนวณเสร็จสรรพว่า ต้นทุนการประกอบกิจการน่าจะเป็นเท่าไหร่ รายได้จะแค่ไหน กี่ปีจะคุ้มทุน กำไรน่าจะเป็นอย่างไร แล้วเขาจึงประเมินตัวเลขดูว่า จะสามารถจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐได้แค่ไหน

พูดง่ายๆ ว่า จะแบ่งกำไรเอกชนให้รัฐได้แค่ไหน

การประมูลจึงเป็นการดูดซับกำไรส่วนเกินกลับคืนมาให้แผ่นดิน !

การตั้งราคาค่าบริการของเอกชนนั้น เขาจะดูว่า เขาสามารถตั้งราคาระดับที่เขาจะได้กำไรสูงสุดได้แค่ไหน โดยพิจารณาจากการแข่งขันในตลาด คุณภาพของสินค้า กำลังซื้อและความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนเงื่อนไขของทางการ

พูดง่ายๆ ว่า ต่อให้ต้นทุนถูกแสนถูก แต่ถ้าประกอบการแล้วมีคู่แข่งน้อยราย และปรากฏว่า ผู้บริโภคต้องการใช้บริการของเขามากๆ ผู้ประกอบการก็จะตั้งราคาสูงสุด เพื่อกำไรสูงสุดของเขาอยู่ดี

ดูง่ายๆ กรณีการประกอบกิจการของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ อย่างช่อง 7 เป็นช่องที่จ่ายค่าสัมปทานถูกมาก แต่เขาก็ยังคิดเวลาค่าโฆษณาแพงแสนแพง (ไม่เห็นถูกเหมือนค่าสัมปทาน) นั่นก็เพราะเวลาโฆษณาของเขามีลูกค้าต้องการมาก เขาก็ตั้งราคาเพื่อให้ตนเองมีกำไรสูงสุด

ถาม : การจัดสรรคลื่น 3 จี ควรทำอย่างไร ?

ตอบ : ผมยันยันว่า หลักใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ ในการประมูลจะต้องให้มีการแข่งขันกันให้มากที่สุด และในการประกอบกิจการ ก็ดูแลให้ผู้ประมูลได้ต้องแข่งขันกันให้มากที่สุด(เท่าที่จะมากได้) โดยต้องวางกฎเกณฑ์ดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคให้รัดกุมด้วย

ปัญหาเรื่องจำนวนใบอนุญาต ที่บอกว่าให้ได้ 4 คลื่น (4 ราย) นั้น ไม่ควรจะเปิดประมูลไปในคราวเดียวทั้งหมด แต่ควรให้ประมูลครั้งละ 1-2 คลื่น (โดยแจ้งให้ทราบตั้งแต่ต้น ว่าจะมีการประมูลคลื่นที่เหลือในอนาคตเมื่อใด แต่ผู้ได้สิทธิประกอบการก่อน ย่อมได้ประโยชน์ในการสร้างฐานลูกค้าก่อนรายอื่น)

ควรต้องเปิดให้มีผู้เข้าแข่งขันเสนอราคามากที่สุด เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเสนอราคาสูงสุด

ข้อที่ผู้ประกอบการในประเทศบางรายยกขึ้นมาในทำนองว่า ผู้จะเข้าประมูลต้องร้องเพลงชาติไทยได้เท่านั้น อันหมายถึงการกีดกันผู้ลงทุนต่างชาติ เพื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการไทยเท่านั้นที่มีโอกาสได้คลื่น 3 จี น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อลดคู่แข่งขันในการประมูลให้ได้คลื่นความถี่ 3 จี ในราคาถูกๆ เท่านั้น เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับเอาไว้อยู่แล้วว่า ผู้ประกอบการต้องมีสัญชาติไทย

และสิ่งสำคัญที่ไม่ควรแกล้งลืม คือ ที่ผ่านมาในอดีต ธุรกิจที่ได้สัมปทานมือถือรายใหญ่ของประเทศไทย ก็คือนายทุนไทยอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือบริษัทเอไอเอส มิใช่หรือ ที่กอบโกยทำกำไรสูงสุดกับผู้บริโภคคนไทยอย่างยาวนาน จนสามารถสั่งสมทุนจากสัมปทานผูกขาด เข้าไปสร้างระบบผูกขาดในการเมือง เอื้อประโยชน์แก่กิจการสัมปทาน จนเกิดปัญหาตามมาถึงปัจจุบัน

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าจะเป็นนายทุนไทย หรือนายทุนต่างชาติ รัฐก็ไม่ควรเปิดโอกาสให้กอบโกยหรือแสวงหากำไรจากการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคคนไทยอย่างเด็ดขาด

หากรัฐต้องการให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการในราคาถูก ย่อมสามารถกระทำได้ ด้วยการกำหนดราคาค่าบริการขั้นสูงสุดที่ผู้ประกอบการจะสามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภค เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้บริโภคจะได้ใช้บริการในราคาไม่แพงไปกว่านี้ โดยระบุให้ชัดเจนไว้ในเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่ต้น เพื่อว่าเอกชนที่เข้าประมูลแต่ละรายจะได้นำไปประเมินต้นทุนและประมาณการรายรับ ก่อนจะเสนอราคาสูงสุดที่ตนเองสามารถให้แก่รัฐ


ถ้ารัฐกำหนดราคาค่าบริการขั้นสูงสุดเอาไว้ต่ำๆ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์มาก แต่เอกชนก็อาจจะเสนอราคาค่าใบอนุญาตให้รัฐได้น้อยลง

ตรงกันข้าม หากกำหนดราคาขั้นสูงสุดเอาไว้สูงๆ เอกชนก็มีแรงจูงใจที่จะเสนอราคาค่าใบอนุญาตให้รัฐได้แพงมากขึ้น


ถาม : แต่ปัญหาว่า เอกชนที่มีสัญญาผูกพันเรื่องค่าส่วนแบ่งรายได้ตามสัมปทานในระบบ 2 จี อันเดิม (ต้องจ่ายร้อยละ 20-30) ซึ่งเอกชนเหล่านั้นอาจใช้วิธีผ่องถ่ายลูกค้าเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญาเดิม จะแก้ปัญหา หรืออุดช่องโหว่ อย่างไร ?

ตอบ : สามารถทำได้หลายทางครับ เช่น เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการมือถือระบบ 3 จี ในอัตราร้อยละ 20-30 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการในระบบ 2 จี ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ ทั้งนี้ เพื่อดึงรายได้กลับเข้ารัฐ ชดเชยส่วนที่หายไปจากค่าส่วนแบ่งรายได้เดิม

หากทำเช่นนี้ เอกชนก็ไม่มีแรงจูงใจพิเศษที่จะผ่องถ่ายลูกค้าเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ เพราะหลบไม่พ้น เนื่องจากหลบค่าส่วนแบ่งรายได้ ก็ยังต้องมาเจอค่าภาษีสรรพสามิตเท่าเดิม

ถาม :
แต่ทั้งหมดนี้ กทช. มีอำนาจดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือไม่?

ตอบ : นี่คือประเด็นปัญหาสำคัญในเวลานี้

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 47 กำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่องค์กรเดียว คือ กสทช. (แตกต่างจากเดิม ที่จะมี กทช. และ กสช.)

โดยแต่เดิมนั้น วางระบบให้ กทช. จัดสรรและดูแลคลื่นโทรคมนาคม ส่วน กสช. ก็จัดสรรและดูแลคลื่นโทรทัศน์และวิทยุ แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นว่า โทรศัพท์ก็สามารถดำเนินการในลักษณะโทรทัศน์และวิทยุก็ได้ รัฐธรรมนูญ 2550 จึงกำหนดให้มีองค์กรเดียวดูแลทั้งคลื่นความถี่โทรทัศน์วิทยุและโทรคมนาคมทั้งหมด โดยตั้งขึ้นมาใหม่ คือ “กสทช.” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ส่วนรวม

องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 จึงเป็น “กสทช.” มิใช่ “กทช.” และปัจจุบัน กสทช. ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการสรรหา

ปรากฏว่า กทช. ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า เคยมีจำนวน 7 คน แต่ลาออกไป 1 คน อีก 3 คน พ้นจากตำแหน่งไปตามกฎหมาย (ขณะนี้แค่เพียงรักษาการ) คงเหลือ กทช.อยู่จริงๆ 3 คนเท่านั้น กลับจะเร่งรีบดำเนินการจัดสรรคลื่น 3 จี เสียเอง ทั้งๆ ที่ มีปัญหาทั้งในแง่อำนาจหน้าที่ขององค์กร และความครบถ้วนในองค์ประกอบของคณะกรรมการเอง จึงน่าเป็นห่วงว่า จะเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบธรรม หรือจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่?

ประเด็นนี้ สภาทนายความได้ทำหนังสือแจ้งเตือนในการกระทำของ กทช.ออกมาแล้ว ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ยิ่งถ้าการเร่งรีบจัดสรรคลื่นนั้น ไปเข้าทางผลประโยชน์ของผู้ประกอบการรายเดิม หรือมีลักษณะเป็นการแบ่งคลื่นกันเอง มากกว่าจะเป็นการจัดสรรให้ผลประโยชน์สูงสุดตกแก่ส่วนรวมอย่างแท้จริง ความเสียหายต่อแผ่นดินย่อมจะสูงจนเกินกว่าที่ กทช.เพียง 3 คน จะรับผิดชอบได้ไหว

หยุดจัดสรรคลื่น 3 จี เพื่อธุรกิจบางราย !

การจัดสรรคลื่น 3 จี มิใช่หน้าที่ กทช. ตาม รธน.2550


กทช. โปรดหยุดก่อน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม !

กำลังโหลดความคิดเห็น