xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ถก 3G ครม.ศก.ปรับงบทีโอทีเหลือแค่ 1.5 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มาร์ค” ย้ำเป็นอำนาจ กทช.ในการตัดสินใจประมูล 3G แต่ต้องตอบ 2 ประเด็นเรื่องบทบาทภาพรวมทีโอที กสท กติกาที่ยุติความเหลื่อมล้ำ และภาระที่จะส่งต่อผู้บริโภคหากคำนึงแต่เรื่องราคาประมูลที่ส่งต่อเข้ารัฐ รวมทั้งไม่ให้เสียเปรียบทุนต่างชาติ เตรียมถก 3G ทีโอทีใน ครม.ศก.วันนี้ (14) คาดปรับลดงบลงอีกให้เหลือ 1.5 หมื่นล้าน ด้านสหภาพเพิ่งตื่นกลัวตกกระแสต้าน 3G บุกยื่นหนังสือนายกฯ กมธ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงนโยบายคลื่นความถี่ 3G ว่า เรื่องนี้จะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ในวันพุธที่ 14 ต.ค.2552 ส่วนที่มีหลายฝ่ายคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กทช.) นายกฯ กล่าวว่า เป็นอำนาจของ กทช.ในการตัดสินใจโดยอยากให้ชัดเจน 2 เรื่องใหญ่คือประเด็นแรก การเปิดบริการ 3G อยากให้ กทช.คำนึงถึงภาพรวมซึ่งครอบคลุมทั้งบทบาทของบริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท โทรคมนาคมด้วย เพราะไม่ต้องการให้การบริการโทรคมนาคมมีลักษณะของการเหลื่อมล้ำกันอยู่ คนหนึ่งมาอีกทางหนึ่ง คนหนึ่งมาอีกทางหนึ่ง กติกาการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาของโทรคมนาคมของไทยมาโดยตลอด เพราะใช้ระบบสัมปทานบ้าง ทำเองบ้าง แล้วต่อมาก็จะมาเปิดเสรี

ประเด็นที่สอง คือ การผลักภาระไปให้ประชาชน ถ้าหากการแข่งขันเป็นเพียงเรื่องการเสนอค่าตอบแทนให้กับ กทช.และให้กับรัฐ และให้ดูเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรมไม่ให้ทุนต่างชาติได้เปรียบ เป็นสิ่งที่ได้ให้ความเห็นไปแล้วก็หวังว่า กทช.จะมีการพิจารณา มีคำอธิบายการตัดสินใจ ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจก็มีการพิจารณาในส่วนของรัฐบาล เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีกฎหมาย กสทช.ออกมาก่อนหรือไม่ เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ไปได้เลย นายกฯ กล่าวว่า ก็เป็นข้อกฎหมายน่าจะดำเนินการไปได้เพียงแต่ว่ากระบวนการสรรหาของ กทช.เองยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังมีการหารือในส่วน 3G ของทีโอทีที่รัฐบาลดูแล โดยในการประชุม ครม.วานนี้ (13 ต.ค.) ทีโอทีได้รายงาน ครม.ว่า ทีโอทีกำลังดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขยายโครงข่าย 3G ทั่วประเทศโดยจะปรับลดวงเงินลงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 2.9 หมื่นล้านบาท และคาดว่า จะเปิดให้บริการในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลในเดือน ธ.ค.2552 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง

แหล่งข่าวกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ มีความต้องการให้ทีโอทีปรับลดงบประมาณลงอีกจาก 2 หมื่นล้านบาทให้เหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าน่าจะเพียงพอในการวางโครงข่ายให้บริการ แต่ในด้านทีโอที เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็น 2 หมื่นล้าน หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท ก็สามารถทำได้ แต่พื้นที่ให้บริการครอบคลุมหรือจำนวนสถานีฐานทั้งในและนอกอาคาร จะมีจำนวนที่แตกต่างกันไปตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ เพียงแต่หากต้องขออนุมัติงบประมาณจากครม.ทุกครั้งที่ขยายโครงข่าย ก็อาจไม่ทันกินหรือไม่ทันกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดมือถือได้

สหภาพเพิ่งตื่น

ที่รัฐสภา นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที กับ นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการ โดยทั้ง 2 สหภาพก็ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯพร้อมถือป้ายผ้าประท้วงการประมูล 3G ของกทช.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

นายสุขุม กล่าวว่า ตามที่ กทช.จะดำเนินการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G สหภาพ กสท และทีโอที เห็นว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะมาตรา 47 ที่กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ดังนั้นคณะกรรมการ กทช.จึงไม่ใช่คณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องผ่านการตีความอย่างเคร่งครัด เพราะขณะนี้คณะกรรมการ กทช.มีจำนวนกรรมการเหลือ 3 คน จากที่กำหนดไว้จะต้องมี 7 คน จึงไม่ครบองค์ประชุมตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่

นอกจากนี้ ไม่ควรนำคลื่นความถี่ 3G มาจัดประมูลอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้ยังไม่มีความพร้อม อีกทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญต่อประเทศชาติ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสช.จึงทำให้ไม่มีคณะกรรมการร่วมทำหน้าที่บริหารคลื่นความถี่ตามมาตรา 62 ดังนั้ กทช.จึงไม่มีอำนาจที่จะจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ในครั้งนี้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดว่ามีอำนาจหรือไม่

นายสุขุม กล่าวต่อว่า คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรของชาติ จึงจำเป็นต้องรักษาไว้สำหรับหน่วยงานรัฐ หรือธุรกิจของคนไทยเท่านั้น จึงควรกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติให้ชัดเจนและเหมาะสมก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นความถี่ 3G ตกเป็นของต่างชาติ และเกรงว่าจะทำให้เอกชนที่มีต่างชาติถือหุ้นและมีเงินลงทุนสูงจะได้เปรียบในการประมูล อย่างไรก็ตามการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่มีข้อความกีดกันหน่วยงานรัฐไม่ให้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ดังนั้นกสท และทีโอที จึงไม่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ ประเทศชาติ และผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค

ด้านนายสมชาย กล่าวว่า จะรับดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ ในวันที่15 ต.ค.นี้ และจะตรวจสอบ กทช.เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของประชาชน รวมถึงจะตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลที่เร่งรีบการจัดประมูลในครั้งนี้

นายประสาร กล่าวว่า กรรมาธิการจะต้องไปดูว่าการเปิดประมูลของ กทช.ในครั้งนี้มีความชอบธรรมหรือไม่ และการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติหรือไม่ รวมทั้งหากมีการถ่ายโอนลูกค้าจะทำให้รัฐเสียหายกว่าแสนล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้อยากให้รัฐบาลนึกถึงความมั่นคงของประเทศชาติมากกว่าคำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น