xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายต้าน3Gชี้กทช.ไร้อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ทรูลั่นย้ำจุดยืนเดิมประชาพิจารณ์ 3G รอบสอง ค้านใช้วิธีประมูล และการเปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจต่างชาติเข้ามาตักตวงทรัพยากรชาติ เผยในภูมิภาคเอเชียไม่มีประเทศใดใช้วิธีการประมูลและเปิดโอกาสให้ต่างชาติเหมือนไทย ด้านสภาทนายความคัดค้านประมูล 3 G ชี้บทบาทกทช.มีหน้าที่แค่รักษาการรอ “กสทช”เกิด ด้านกทช.เดินหน้าให้ความรู้วิธีประมูล3G เผยสัปดาห์หน้าได้ราคาเริ่มต้นประมูล

นายอธึก อัศวานนท์  รองประธานกรรมการ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย  บริษัท  ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ทรูยังคงยืนยันจุดยืนเดิมในการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างหลักเกณฑ์ ข้อสรุปข้อเสนอการจัดสรรคลื่นความถี่ ไอเอ็มที หรือ 3G and beyond เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.จะจัดขึ้นในปลายเดือนนี้

โดยทรูยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีประมูลใบอนุญาต 3 G เนื่องจากในภูมิภาคเอเชียไม่มีประเทศไหนใช้วิธีการประมูลเพราะมีผลเสียต่ออุตสาหกรรม เช่น หากทำการประมูลโดยสนใจแต่ราคาที่จะได้จากการประมูลเพียงอย่างเดียวเหมือนที่กทช.คำนึงถึงในขณะนี้ ผลที่เกิดขึ้นภาระจากต้นทุนประมูลก็จะถูกผลักต่อไปยังผู้บริโภค

“เรายืนยันไม่สนับสนุนให้มีการประมูลไลเซ่นส์ 3 G เพราะในภูมิภาคนี้ไม่มีประเทศไหนทำไม่ว่าจะเป็น เขมร เวียดนาม  มาเลเชีย และอินโดนีเชีย การประมูลมีแต่จะเป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค และตัวอย่างในต่างประเทศก็มีให้เห็นว่าล้มเหลว ”นายอธึกกล่าว

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการที่กทช.พยายามยัดเยียดคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศให้กับรัฐบาลต่างชาติ ทั้งรัฐบาลเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และรัฐบาลจากแดนไกลอย่างนอร์เวย์ การดำเนินการดังกล่าวถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันในภูมิภาคเอเชีย 2 ใน 3ของผู้ประกอบการต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศ

“ตามหลักผู้กำกับดูแลควรทำหน้าที่ผลักดันหรือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการได้ แต่ประเทศไทยกลับยัดเยียดให้ต่างชาติเข้าแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย “นายอธึกกล่าว

ทั้งนี้คาดหวังว่าครั้งนี้กทช.จะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกียวข้องและนำไปปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่รับฟังเฉยๆแต่ไม่นำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับใช้และดันทุรังใช่ร่างหลักเกณฑ์เดิมประกาศใช้เหมือนการประชาพิจารณ์หลายครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้หวังว่าการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ กทช.จะส่งรายละเอียดร่างหลักเกณฑ์เพิ่มเติมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนการประชาพิจารณ์ 15 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษาอย่างระเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนแสดงความเห็นในการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งการประชาพิจารณ์ร่าง 3 G ครั้งแรก กทช.จัดส่งเอกสารไม่ครบและยังล้าช้ากว่ากำหนด 15วันทำให้ผู้ประกอบการหลายรายศึกษารายละเอียดไม่รอบคอบเท่าที่ควร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทช.ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ถึงการจำลองสถานการณ์การประมูลคลื่นความถี่ 3G (Mock Auction) โดยวานนี้(8 ต.ค.52 ) ได้จัดให้ที่ปรึกษามาให้ความรู้เกี่ยวกับการประมูล เช่นประโยชน์ของการประมูล และวันนี้(9 ต.ค. 52 ) จะทำการทดลองการประมูล 3 G เต็มรูปแบบ

ด้าน นายเดชอุดม  ไกรฤทธิ์  นายกสภาทนายความเปิดเผยว่า สภาทนายความ ขอคัดค้านและให้ กทช.ทบทวนเรื่องการเปิดประมูลใบอนุญาต 3 G เพราะ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.มีอำนาจรักษาการเพื่อรอการตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เท่านั้น หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ดังนั้นหากมีการออกแผนแม่บทที่มีผลผูกพันธ์กับ กสทช.อย่าง 3G หรือ เลขหมายเดียวทุกระบบ( นัมเบอร์พอร์ทบิลิตี้) ถือว่ามิชอบตามกฎหมาย

“กทช.ออกแผนแม่บทมาในขณะนี้ ถือว่าเข้าข่ายประกาศมิชอบ ซึ่งสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ และถ้าในกรณี กทช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกประกาศดังกล่าวแต่ยังมีการดำเนินต่อ ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งแผนแม่บทที่ กทช.เขียนขึ้นมานั้น กสทช.มีสิทธิ์จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้”นายเดชอุดมกล่าว

อย่างไรก็ดี 3 G เป็นบริการที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ และ ถึงแม้ที่ผ่านมาสำนักงานกฤษฎีกาจะให้ความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ แต่เป็นการตีความในปี 2549 ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว กทช.ยังไม่เคยหารือกับสำนักงานกฤษฎีการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการทำแผนแม่บทหลังจากที่กฎหมายใหม่บังคับใช้จึงถือว่าไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่

นายเดชอุดมกล่าวต่อว่า  ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เร่งจัดตั้ง กสทช.โดยเร็วที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด และไม่ควรปล่อยให้มีการทำธุรกิจที่หมิ่นเหม่ขัดรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเรื่องดังกล่าวล่าช้ามากมามากเพราะรัฐบาล 3 ชุดที่ผ่านมายังไม่สามารถขับเคลื่อนให้คืบหน้าหรือแล้วเสร็จได้   

นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กทช. เปิดเผยว่า การจำลองสถาการณ์การประมูล 3 Gในครั้งนี้ ถือว่าทำให้ผู้เข้าร่วมงานมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และทำให้เห็นแนวทางในการเปิดประมูลมากยิ่งขึ้น อาทิ หากกทช.กำหนดราคาใบประมูลเบื้องต้นน้อยจนเกินไปก็จะทำให้เป็นภาระต่อภาครัฐบาลโดยรัฐบาลจะต้องมาอุ้มส่วนต่างที่เหลือ แต่หาก กทช. กำหนดราคากลางการประมูลที่สูงเกินไปก็จะดูเหมือนกับว่า กทช.ดำเนินงานด้วยความไม่โปร่งใส ซึ่ง กทช.ต้องคำนึงถึงราคากลางการประมูลมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นาย ประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการกทช. เปิดเผยว่า กทช.จะสามารถเปิดเผยราคาเริ่มต้นการประมูลไลเซ่นส์ 3 G ได้ในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น