"ผ่าประเด็นร้อน"
ในที่สุดพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวน 6 คน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ก็ถูกไล่ออกตามคำสั่งของ ผู้ว่าการรถไฟฯ ยุทธนา ทัพเจริญ โดยเป็นการใช้คำสั่งที่ลงวันที่ย้อนหลัง
น่าสังเกตก็คือเป็นคำสั่งไล่ออกหลังจากที่ทางสหภาพแรงงานการรถไฟสาขาหาดใหญ่กับตัวแทนฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองรวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่มีถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานสามารถบรรลุข้อตกลงจนเปิดการเดินรถตามปกติ
แต่คำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าการรถไฟฯเสมือนจงใจทำให้ปัญหาบานปลาย รวมไปถึงเจตนาที่จะทำลายพนักงานโดยเฉพาะสหภาพการรถไฟที่กำลังเรียกร้องให้มีการปลดเขาให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมส่อไปทางทุจริต และปัดความรับผิดชอบ
แม้ว่าต้องยอมรับความจริงอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่มีการหยุดเดินรถไฟในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ และภาพความเป็นผู้ร้ายได้ตกอยู่กับสหภาพรถไฟสาขาหาดใหญ่ รวมไปถึงสหภาพการรถไฟทั้งหมดอีกด้วย
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าได้พ่ายเกมมวลชน จนถูกมองเป็นลบจากสังคม !!
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาอีกมุมหนึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มปะทุมาจากอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบครีรีขันธ์เมื่อต้นเดือนตุลาคม จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
แต่กลับกลายเป็นว่าฝ่ายที่ตกเป็นแพะมีความผิดเพียงฝ่ายเดียวคือพนักงานขับรถ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ผู้บริหารตั้งแต่ผู้ว่าการรถไฟฯไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย จะปฏิเสธไม่ได้เป็นอันขาด
หรือแม้แต่การแสดงสปิริตเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดกรณีเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกันที่ประเทศอียิปต์เมื่อสองสัปดาห์ก่อนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่รัฐมนตรีขนส่งก็ได้ยื่นใบลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบในทันที แล้วปล่อยให้มีการสอบสวนหาสาเหตุอย่างเต็มที่
แต่กรณีของไทยกลับตรงกันข้ามฝ่ายบริหารกลับปัดความรับผิดชอบ นั่งทับปัญหา
นอกจากนี้ยังไม่นับกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยสรุปความผิดของ ยุทธนา ทัพเจริญ สมัยที่เป็นรองผู้ว่าฯการรถไฟฯในกรณีที่เป็นประธานพิจารณาเช่าที่ดินบริเวณตลาดนัดซันเดย์เมื่อหลายปีก่อน
ขณะที่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โสภณ ซารัมย์ ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองอิทธิพลในบุรีรัมย์ที่บุกรุกที่ดินการรถไฟบนเขากระโดงและยังมีพฤติกรรมอันอื้อฉาวมานับไม่ถ้วน
เมื่อกลับมาพิจารณาถึงข้อเรียกร้องของพนักงานและสหภาพการรถไฟฯก็จะพบว่าเป็นการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสภาพหัวรถจักรและอุปกรณ์การเดินรถให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อความปลอดภัยของพนักงานขับรถเองและผู้โดยสาร ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเรื่องสวัสดิการหรือผลประโยชน์ของตัวเอง
และแม้ว่าการหยุดเดินรถในครั้งนี้จะต้องมีการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาผู้กระทำผิด ซึ่งต้องกระทำกันอย่างตรงไปตรงมาและไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง
แต่การด่วนออกคำสั่งไล่ออก 6 พนักงานของผู้ว่าการรถไฟถือว่ามีเจตนาที่น่าสงสัย เสมือนสมคบกับฝ่ายการเมืองที่ต้องการสำทับให้สังคมมองว่าพนักงานทำผิด ตกเป็นผู้ร้ายเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นธรรม
ซึ่งวิธีการดังกล่าวน่าจะเป็นการทำร้ายการรถไฟให้ปั่นป่วนตามมาอีกทั้งที่น่าจะคลี่คลายลงได้ในระดับหนึ่ง
อีกทั้งเมื่อวานนี้(29 ต.ค.) ฝ่ายบริหารยังมีการแถลงผลการดำเนินการของรถไฟในปี 2551 ว่ามีการขาดทุนเป็นประวัติการณ์คือ 10,202 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2550 ที่ขาดทุนจำนวน 7,864 ล้านบาท และพยายามชี้ให้เห็นว่าจากการประท้วงของสหภาพแต่ละครั้งทำให้ขาดทุนครั้งละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว นี่คือการประจานผลงานการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง แต่ปัดความรับผิดชอบ
ล่าสุดวานนี้(29 ตุลาคม) รถไฟขบวนวงเวียนใหญ่-มหาชัยได้เกิดอุบัติเหตุตกรางอีก แต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กรณีที่เกิดขึ้นจะชี้หน้ากล่าวโทษพนักงานขับรถแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกหรือ
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือ การนัดหารือกันทุกฝ่ายทั้ง กระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการรถไฟฯและสหภาพการรถไฟ โดยมีนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน เพื่อหาทางออกในการปฏิรูปการรถไฟอย่างขนานใหญ่ ซึ่งต้องมาพิจารณากันต่อไปว่าจะออกมาในรูปไหน
เพราะ โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แย้มออกมาล่วงหน้าแล้วว่าจะเพิ่มรายได้ลดการขาดทุนด้วยการนำเอกชนเข้ามาทำประโยชน์บนที่ดินของการรถไฟ ซึ่งก็พอมองออกว่าเป็นเอกชนกลุ่มไหน และใครได้ประโยชน์
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปัญหาทั้งหมดก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปการรถไฟกันทั้งระบบ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ประโยชน์ และได้รับความสะดวกในการเดินทาง ไม่ใช่นักการเมืองและกลุ่มที่ใกล้ชิดการเมืองเข้ามาแสวงหาประโยชน์อย่างที่เป็นอยู่ และถึงเวลากวาดล้างทุจริต เอาเหลือบที่เกาะกินออกไปให้หมด
ที่สำคัญต้องมีการสอบสวนคนที่กระทำผิดอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม นี่แหละคือหลักการที่จะทำให้การรถไฟพัฒนารุดหน้าไปได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรีด้วย !!