สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ สร.รฟท. คงจะคิดว่าคนไทยกินแกลบเป็นอาหาร เพราะเหตุผลในการหยุดเดินรถที่อ้างว่า หัวรถจักรอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่ปลอดภัยในการให้บริการ พนักงานขับรถเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงหยุดเดินรถนั้น เด็ก ป.สี่ก็รู้ว่า พูดโกหก
ทำไมจึงไม่กล้ายอมรับกันตรงๆ ว่า สร.รฟท.ต้องการขับไล่นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่วันแรกที่นายยุทธนาเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปีที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จสักที เพราะในการรถไฟฯ เองก็มีฝ่ายที่สนับสนุนนายยุทธนาอยู่เหมือนกัน
นายยุทธนานั้นเป็นลูกหม้อดั้งเดิมของการรถไฟฯ ได้รับการสรรหาให้เป็นผู้ว่าการ การรถไฟฯมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2549 แต่เมื่อเกิดการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย ในขณะนั้น ยกเลิกมติการสรรหา ทำให้นายยุทธนายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ คณะกรรมการ การรถไฟฯ แต่งตั้งนายยุทธนา เป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ เพราะเห็นว่าผ่านกระบวนการสรรหาโดยถูกต้อง
นายยุทธนารับตำแหน่งเป็นผู้ว่า การรถไฟฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในช่วงที่นายยุทะนา เป็นรองผู้ว่าฯ นั้น ว่ากันว่าเขาคือคนที่ชงเรื่องโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ให้เกิดขึ้น และทำให้บริษัท บี กริม แอนด์โก และบริษัท ซิโน-ไทย คอนสตรัคชั่น ของ นายชวัรตน์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้งานก่อสร้างมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทไป
เรื่องนี้ ประกอบกับ ความไม่คืบหน้าในคดีที่ตระกูลชิดชอบ ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินการรถไฟฯ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงมีเสียงกล่าวขานว่านายยุทธนาเป็นคนของพรรคภูมิใจไทย
นอกจากนั้น นายยุทธนายังถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ชี้มูลความผิดในกรณีนำพื้นที่บริเวณตลาดซันเดย์ให้บริษัท ธนสารสมบัติ จำกัด เช่าเพื่อก่อสร้างอาคารและดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ โดยมิได้ดำเนินการประมูลตามระเบียบรถไฟ ในสมัยที่นายยุทธนาเป็นรองผู้ว่าฯ
อีกเรื่องหนึ่งที่นายยุทธนาถูกโจมตี คือ เปิดช่องให้นักการเมืองกลุ่มเพื่อนเนวิน ฮุบการรถไฟฯ โดยแยกสลายการรถไฟฯ เอาทรัพย์สิน และบริการการเดินรถแยกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนศกนี้ จะเป็นชนวนให้สหภาพฯ ประกาศหยุดเดินรถทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน
ล่าสุด คือ กรณีรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกมีข่าวว่านายยุทธนาจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่ไปๆ มาๆ ความรับผิดชอบไปตกอยู่กับพนักงานขับรถและช่างเครื่องเท่านั้น โดยถูกไล่ออกทั้งคู่ แต่ผู้บริหารไม่มีความผิดอะไรเลย ซึ่งสหภาพเห็นว่าไม่ยุติธรรมที่ผู้บริหารโยนความรับผิดชอบให้พนักงานเพียงฝ่ายเดียว เพราะสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนั้น เกิดจากอุปกรณ์ในหัวรถจักรชำรุดด้วย จึงเป็นที่มาของการประชด หยุดเดินรถในครั้งนี้
เรื่องทั้งหมดในการรถไฟฯ จึงเป็นปัญหาในองค์กร เป็นเรื่องในบ้าน ที่ผู้ว่าฯ กับสหภาพทะเลาะกันมานาน สหภาพไม่ชนะสักที ไม่รู้จะสู้อย่างไร สุดท้ายก็จับประชาชนเป็นตัวประกัน ด้วยการหยุดเดินรถไฟ
การรถไฟฯ ได้ชื่อว่า เป็นองค์กรที่ล้าสมัย ไม่พัฒนา ความล้าสมัยนี้แสดงออกในทุกๆ ส่วนขององค์กร ทั้งการบริหารที่ขาดประสิทธิภาพ รางรถไฟ หัวรถจักร ตู้รถไฟ อุปกรณ์ที่ชำรุดทรุดโทรม การบริการที่ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งสหภาพแรงงานที่ยังใช้ยุทธวิธีที่ล้าหลัง
การนัดหยุดงานควรจะเป็นอาวุธในการต่อสู้ในเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ ที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่น การต่อสู้ทางการเมือง หรือคัดค้านนโยบายที่มีผลบกระทบต่อองค์กร และต้องประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้า แถลงให้ชัดเจนว่าจะหยุดกี่วัน และต้องการอะไร แต่นี่นึกจะหยุดก็หยุด แล้วหยุดเพื่ออะไร ก็ไม่กล้าบอกตรงๆ
ที่ตลกคือ ทำผิดแล้วไม่กล้ารับผิด กลับมีข้อต่อรองไม่เอาผิดกับการหยุดเดินรถครั้งนี้
ทำไมสหภาพไม่ใช้การชุมนุมในที่ทำงาน อภิปรายโจมตีผู้ว่าฯ การรถไฟ เหมือนสหภาพแรงงาน กฟผ. เมื่อครั้งคัดค้านการแปรรูป ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเป็นวิธีที่ ศิวิไลซ์กว่า
สร.รฟท. ไม่สงสารผู้โดยสาร 2,000 คน ที่ถูกทิ้งกลางทางไว้ที่สถานีรถไฟละแม และสถานีรถไฟหลังสวนบ้างหรือ เขาเหล่านี้ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องได้รับความเคารพ ไม่ใช่ใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของตัวเอง
หรือว่า คำว่าศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่มีอยู่ในอุดมการณ์ของนักลัทธิสหภาพแรงงานแห่ง สร.รฟท.
การต่อสู้โดยจับประชาชนเป็นตัวประกันไม่มีวันชนะ กลับจะยิ่งทำให้ แผนการยึดการรถไฟฯ ผ่านการตั้งบริษัทลูกของนักการเมือง ที่ สร.รฟท.อ้าง มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนมากขึ้น