กว่าร้อยปีที่เสด็จพ่อ ร.5 ทิ้งสมบัติการรถไฟไว้ให้ แทนที่ลูกหลานจะช่วยกันพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองเพื่อเจ้าของประเทศตัวจริงจะได้ประโยชน์ได้รับความสะดวกสบาย แต่เจ้าลูกชายคนโตซึ่งถือดีว่าเป็นพี่ใหญ่มีอำนาจบริหารประเทศกับเจ้าลูกชายคนรองซึ่งไร้ฝีมือแต่ดันได้กุมอำนาจบริหารกิจการ ก็เอาแต่ครุ่นคิดแปรรูปปฏิรูปแบบแบ่งแยกกองมรดกดึงเอาพวกพ้องมาช่วยรุมทึ้ง ส่วนเจ้าลูกชายคนเล็กซึ่งถูกพี่ใหญ่กับพี่รองปล่อยทิ้งแถมกดหัวไว้ ทนเห็นพฤติกรรมโฉดฉาวไม่ไหวก็เอะอะโวยวาย อาละวาดจับชาวบ้านเป็นตัวประกันเหมือนพวกเมายาบ้าจนถูกก่นด่าทั่วเมือง
ความเหลวแหลกเละเทะจนขาดทุนบักโกรกในการรถไฟฯ เกิดขึ้นมานมนานกว่าครึ่งศตวรรษจนยากเยียวยา ยิ่งเวลานี้ 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลัก คือ รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีคมนาคม พรรคภูมิใจไทย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ต่างฝ่ายต่างมีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังและต่างมีท่าทีแข็งกร้าวไม่มีใครยอมใคร
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมุ่งหวังจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของชาติ ด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ คือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้วยการพัฒนาระบบราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและลดต้นทุนพลังงานของประเทศ ซึ่งจะต้องใส่เงินลงไปอีกหลายแสนล้านนั้น ยอมไม่ได้ที่จะให้มีเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานโดยอ้างว่าลาหยุดของสหภาพฯ ซ้ำๆ ซากๆ ไม่นับการทิ้งผู้โดยสารกลางทางที่ยังเถียงกันอยู่ว่าใครสั่งให้ทำ ใครซ้อนแผนใคร
ดังนั้น จึงดูเหมือน อภิสิทธิ์ จะซีเรียสอย่างยิ่งกับเรื่องการลาหยุดของพนักงานการรถไฟฯ ว่าลากันมากมายในเวลาเดียวกันได้อย่างไร จนต้องหยุดเดินรถ ท่าทีขึงขังของนายกฯ ทำเอาบอร์ดรถไฟ และโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ร้อนรนถึงขั้นจะดึงเอาอัยการมาตรวจใบลาพนักงาน ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกแต่จริงอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในการรถไฟ รวมไปถึงเรื่องดึงเอาคนแก่และเด็กมาเป็นพลขับเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ความโกลาหลครั้งนี้ แม้จะทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยมไปมากโข เพราะดันเกิดเรื่องในเส้นทางสายใต้ ฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มิหนำซ้ำความวุ่นวายที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบสัปดาห์รัฐบาลก็ยังบ้อท่าแก้ปัญหาให้เดินรถเต็มสตรีมไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งนี่คือโอกาสที่มาพร้อมวิกฤตหากคิดจะทุบสหภาพรัฐวิสาหกิจอย่างการรถไฟที่เข้มแข็งหนักหนาให้อยู่หมัด
อภิสิทธิ์ จึงไม่รอช้าที่จะประกาศ “ปฏิรูปการรถไฟ” ครั้งใหญ่ โดยอาศัยเสียงมหามวลประชาที่สวดส่งสหภาพฯ เป็นแรงหนุน และภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ก็จะเห็นรูปร่างหน้าตาของแผนปฏิรูปรถไฟ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับ “แผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟฯ” ซึ่งแบ่งแยกการรถไฟโดยถ่ายโอนกิจการเดินรถและบริหารทรัพย์สินออกไปตั้งเป็นบริษัทลูกให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ จนเป็นเหตุให้สหภาพฯ ออกมาเคลื่อนไหวหยุดเดินรถประท้วงขัดขวางแผนดังกล่าวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง
อย่าลืมประวัติศาสตร์ยุคไอเอ็มเอฟเมื่อไม่นานมานี้ สิ่งที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ชอบอ้างหนักหนาว่าปฏิรูปนั้น มันมักจะเป็นเนื้อเดียวกันกับ “การแปรรูป” หรือเรียกง่ายๆ ว่า การแปรรูปแบบซ่อนรูป
แน่นอน สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง การรถไฟ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูป แต่การปฏิรูปที่ว่านั้นมันนำไปสู่อะไร ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง การเคลื่อนไหวของสหภาพฯ เพื่อเปิดเผยข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้เสื้อคลุมปฏิรูปนั้น นับจากนี้ไปจะมีใครเชื่อ เพราะเครดิตตกต่ำจาการทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
หรือว่าสหภาพรถไฟ เจอแผนซ้อนแผน ทะเล่อทะล่าเดินเข้าสู่กับดักมรณะของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ??
ข้างฝ่ายพรรคภูมิใจไทย องค์กรสังกัดของ โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ลูกพี่ ยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟ นั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหภาพฯ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาบริหารกระทรวง เพราะลูกพี่ยี้ห้อย “เนวิน ชิดชอบ” ของโสภณ นั้น มีคดีบุกรุกที่ดินรถไฟบุรีรัมย์ แต่ยังลอยนวลอยู่จนบัดนี้ไม่ว่าผลสอบของคณะกรรมการชุดไหนๆ จะออกมาว่าโฉนดที่ดินของยี้ห้อยนั้นออกทับที่ดินรถไฟจริงก็ตามที
เสียงเรียกร้องของสหภาพฯ ที่ต้องการให้โสภณจัดการเอาที่ดินรถไฟบุรีรัมย์คืนกลับมาเป็นของหลวง เป็นเหมือนลมพัดผ่าน พอๆ กับเสียงเรียกร้องให้โสภณจัดการกับยุทธนา ผู้ว่าการรถไฟฯ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมือชงมือจ่ายชั้นเซียน
ก็คนแบบนี้แหละที่นักการเมืองชอบนัก โสภณ กับ ยุทธนา จึงเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย
ยุทธนา เป็นลูกหม้อของการรถไฟ ด้วยคุณสมบัติข้อนี้เขาจึงรู้ปัญหาในการรถไฟดีคนหนึ่ง พอๆ กับรู้ช่องทาง รู้วิธีการเอาตัวรอด แทบไม่น่าเชื่อว่า ยุทธนา ซึ่งมีแผลเหวอะหวะเต็มตัวด้วยข้อกล่าวหาเช่น การหาผลประโยชน์บริเวณตลาดซันเดย์ แอร์พอร์ตลิงค์ ทั้งเล่นพรรคเล่นพวก แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นไปกินตำแหน่งสูงๆ โฉบไปฉายมา ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
นับรวมไปถึงดัชนีชี้วัดการบริหารจัดการโดยเฉพาะด้านการบริการในยุคของเขาตกต่ำลงทุกด้าน ส่วนผลประกอบการปี 2551ขาดทุนบักโกรกถึง 10,200 ล้าน เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่ขาดทุน 7,864 ล้าน แถมสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่รับรองงบการเงินมาถึง 7 ปี เพราะซุกค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลงานฉาวที่เขาต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะสมัยเป็นรองผู้ว่าฯ เขาคือรองฯ บริหารฝ่ายทรัพย์สิน จนขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ แต่ยุทธนากลับเหนียวหนึบอยู่ในตำแหน่งได้สบายๆ
ขณะที่สหภาพฯ ที่รุกไล่เปิดโปงเขากลับแทบเอาตัวไม่รอด ดูจากการหยุดเดินรถประท้วงเพื่อให้รัฐบาลทบทวนการแปรรูปรถไฟ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่สหภาพฯ อ้างหัวรถจักรชำรุดไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากการโยนบาปให้พนักงานขับรถตกรางที่เขาเต่า หัวหิน รับผิดไปเต็มๆ
เหตุการณ์ประท้วงสองครั้งนี้สหภาพฯ ถูกด่ามากกว่าได้รับคำชมว่าออกมาเพื่อปกป้ององค์กรและประชาชน ถึงแม้สหภาพฯ จะออกแถลงการณ์ร่ายยาวถึงที่มาที่ไปเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องหยุดเดินรถ เพราะประชาชนผู้ใช้บริการมีความเสี่ยง ไม่มีความปลอดภัย แต่กลับไม่มีใครฟัง ทั้งที่โศกนาฎกรรมครั้งล่าสุดที่เขาเต่านั้น คำให้การของพนักงานขับรถและช่างเครื่อง ระบุว่า เกิดขึ้นเพราะระบบป้องกันพนักงานหลับไม่สามารถใช้งานได้ ก็ตาม
ความเพลี่ยงพล้ำของสหภาพฯ เป็นโอกาสอันดีที่ โสภณ กับ ยุทธนา จะผนึกกำลังอย่างแข็งขันเดินหน้าแผนปฏิรูปองค์กรและแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟ ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่การตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน ที่ยังคาราคาซังอยู่เพราะสหภาพฯ เข้ามาขวาง ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มมีการละเมิดข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับสหภาพฯ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 โดยมีการออกคำสั่งตั้งคณะทำงานถ่ายโอนทรัพย์สินของการรถไฟไปยังบริษัทลูก
ไม่เพียงแต่การตั้งสองบริษัทลูกตามแผนปฏิบัติการข้างต้นเท่านั้นที่จะใช้โอกาสนี้ดันออกไปให้ได้ ยังมีการจัดตั้งบริษัทเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ ที่สหภาพฯ คัดค้านเพราะอยากให้ตั้งเป็นหน่วยธุรกิจเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ในการรถไฟมากกว่า แต่การรถไฟฯ ก็ทำรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทลูกเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง และเชื่อขนมกินได้เลยว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต่างเห็นพ้องต้องกันตามที่การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคม เสนอมา เพราะเรื่องดังกล่าวข้างต้นคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผนฟื้นฟูฯ หรือบริษัทลูกแอร์พอร์ตลิงค์
เหตุที่เป็นงึกๆ งักๆ ติดๆ ขัดๆ ก็เพราะสหภาพฯ เข้ามาขวางทั้งนั้น
หากไม่ลดทอนพลังของสหภาพฯ ลง ไม่เพียงแต่แผนการต่างๆ ข้างต้นจะถูกตรวจสอบครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น โครงการประมูลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามแผนการพัฒนาระบบราง ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1.7 แสนล้าน ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ระยะที่ 2 มีหวังทั้งรัฐบาล นักการเมืองเจ้ากระทรวงคมนาคม และผู้บริหารการรถไฟ ถูกสหภาพฯ ตรวจสอบอานแน่ๆ
การร่วมมือกันจัดการกับสหภาพรถไฟเสียตั้งแต่ตอนนี้ของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย