"ผ่าประเด็นร้อน"
กว่าจะกลายเป็น นายทักษิณ ชินวัตร หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 2 ปี ในคดีที่ดินย่านรัชดาภิเษก ซึ่งในคดีดังกล่าวถือว่าคดีถึงที่สุด ซึ่งตามขั้นตอนปกติสำหรับบุคคลที่มียศ ไม่ว่าตำรวจหรือทหารจะต้องดำเนินการถอดยศและริบคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ทุกคนก็ต้องถูกดำเนินการแบบนี้เหมือนกันหมด
ที่ผ่านมาในกรณีของข้าราชการตำรวจทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ดำเนินการถอดยศเป็นปกติทุกเดือนอยู่แล้ว
กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลังจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี โดยพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี
คดีถึงที่สุดมาตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงวันนี้เวลาผ่านมาร่วมปี เพิ่งจะมีการชี้ขาดคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะต้องมีการถอดยศและริบคืนเครื่องราชฯ
เจตนาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการโยกโย้ ซื้อเวลาออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เป็นการสะท้อนการเลือกปฏิบัติ การมีอภิสิทธิ์เหนือคนไทยทั่วไป และยังเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ยุติธรรม และนี่คือภาพสะท้อนความด้อยพัฒนาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้อีกหลายกรณี
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หากทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติโดยไม่มีการลูบหน้าปะจมูกผิดถูกว่ากันไปตามกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าแต่ละคนมีที่มาเป็นอย่างไร บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสงบสุข เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อแต่ละคน หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบทำตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด
กรณีที่เกิดขึ้นกับ ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเด็ดขาด แต่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องมีการตำหนิว่าดำเนินการล่าช้ากว่าปกติ เข้าข่ายสองมาตรฐาน ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนกับข้าราชการตำรวจที่ถูกต้องโทษและถูกดำเนินคดีจนถึงที่สุดเหมือนเช่นรายอื่นๆ
เพียงแต่ว่า คนอย่างทักษิณที่แม้ว่าจะเคยเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะทุกคนต้องเสมอภาคกันทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ตาสีตาสา อยู่บ้านนอก อยู่ในเมือง รวยหรือจนแค่ไหนก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
หากกล่าวเฉพาะเจาะจงก็ต้องมองได้อย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาสังคมมักได้รับข่าวการดองเรื่อง เตะถ่วง ทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านทาง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายการเมืองคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่กำกับดูแลหน่วยงานดังกล่าว
สังเกตได้จากหนังสือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยความเห็นชอบของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เพิ่งทำหนังสือไปขอหารือข้อกฎหมายจากกฤษฎีกา ลงวันที่ 4 กันยายน 2552 ที่ผ่านมานี่เอง ขณะที่ศาลฎีกาสั่งจำคุก มาตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2551 เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม
คำถามก็คือทำไมถึงล่าช้าปานนี้
ทั้งที่ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว
คำชี้แจงจากโษฆกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่บอกว่า กระบวนการถอดยศในแต่ละปีจะดำเนินการปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนเมษายนและตุลาคม ซึ่งในกรณีของ ทักษิณ ยังมีขั้นตอนดำเนินการอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหมายความว่ายังใช้ยศพันตำรวจโทนำหน้าได้อีก เพราะขั้นตอนทางราชการยังไม่เรียบร้อย
ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งรับรองว่า กลุ่มเสื้อแดงและเครือข่ายของทักษิณ ก็จะป่าวร้องทันทีว่านี้คือการดิสเครดิตทางการเมือง ทั้งที่หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นการเลือกปฏิบัติ เลือกการบังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียม เปรียบเหมือนอภิสิทธิ์ชนอย่างแท้จริง
เพราะหากไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ แล้วถือว่าต่างกันราวกับฟ้ากับเหว
ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นหากมองในภาพรวมก็ย่อมสะท้อนได้อย่างดีว่านี่คือความด้อยพัฒนาของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ยังเล่นพรรคพวก ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม
และนี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของความอยุติธรรมที่แท้จริง!!