ทีมทนายเดือด “พ่อแม้ว” จะถูกถอดยศ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ออกแถลงการณ์โต้ถอดยศ เป็นอำนาจพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ “สตช.-นายกฯ” อ้าง กม.รัฐธรรมนูญ มาตรา 11 เรื่องการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ อัด รบ.เลือกปฎิบัติ มุ่งดิสเครดิต “นช.แม้ว”
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิปทั้งหมด
วันนี้ (28 ต.ค.) นายพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีที่ดินรัชดา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ เรื่อง “ถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ลงวันที่ 28 ตุลาคม โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่ารัฐบาล โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหาแนวทาง เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งกรณีนี้น่าจะมุ่งหมายเพื่อดำเนินการถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1(2) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และย่อมอยู่ในเหตุตามข้อ 7(2) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548
คณะที่ปรึกษากฎหมายและทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตรวจสอบความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า กรณีนี้ยังไม่สามารถนำมาเป็นเหตุที่สมควรโดยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในอันที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี จะอาศัยเป็นเหตุให้มีการถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ โดยมีเหตุผลในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้
(1) ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะนี้ คือ ได้มีประชาชนจำนวนหลายล้านคนเข้าชื่อจัดทำฎีกาทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ในการขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตามความหมายในการขอพระราชทานอภัยโทษ หมายถึง “การยกโทษทางอาญา เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 191 ซึ่งพระราชอำนาจในการยกโทษทางอาญาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะและมีความเป็นอิสระเด็ดขาด
ดังนั้น กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นกรณีที่อยู่ในระยะเวลาที่รัฐบาลมีหน้าที่จัดทำความเห็นถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่อง การขอพระราชทานอภัยโทษให้เสร็จสิ้นกระบวนการเสียก่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะอาศัยเหตุตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณฯ มาดำเนินการเพื่อถอดยศและริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งจะเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว
(2) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 11 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์” และมาตรา 192 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์”
การถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 191 และ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตามมาตรา 192 อีกทั้งรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติว่า พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายใด จึงถือเป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ที่จะประกาศเป็นพระราชบรมราชโองการ
ดังนั้น ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 28 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 ถือเป็นระเบียบที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องห้ามตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวไปกำหนดกฎเกณฑ์ เงื่อนไข การใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ไม่มีหน้าที่ในอันที่จะถอดยศหรือริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงมีหน้าที่เพียงถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ว่ามีข้อเท็จจริงใดที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น และการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นไปตาม มาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องยึด “ตามหลักนิติธรรม” และ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และหลักความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30, 31
(3) ก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมิได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจดังเช่นเดียวกันกับการที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในอันที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548
ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินการในเรื่อง “ถอดยศ” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด เพราะจะเป็นก้าวล่วงต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และไม่อาจจะอ้างว่าระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ได้ เพราะ อำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่อาจขัดหรือแย้งกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 192
(4) โดยข้อเท็จจริงการดำเนินการเพื่อถวายรายงานต่อพระมหากษัตริย์ในการขอถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น มิใช่เป็นการบังคับว่าต้องทำทุกเรื่อง ซึ่งข้อเท็จจริงที่ผ่านมามีข้าราชการตำรวจและข้าราชการพลเรือนจำนวนมากที่อยู่ในเงื่อนไขของระเบียบทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ก็ปรากฎว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเพื่อขอถอดยศตำรวจมีน้อยรายมาก รวมถึงการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของข้าราชการเหล่านั้นด้วย กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พฤติการณ์ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก มิใช่เป็นเรื่องของการกระทำโดยตรงของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง และมิใช่เป็นเรื่องของการทุจริตหรือการประพฤติชั่วร้ายแรงใดๆ รัฐบาลกลับเลือกปฏิบัติที่จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อมุ่งหวังทำลายเกียรติยศชื่อเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะ กรณีจึงเห็นเจตนาของรัฐบาลโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณและนายกรัฐมนตรีว่าต้องการใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นเครื่องมือทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณในทางการเมืองเท่านั้น