เปิดระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานคืนเครื่องราชฯ ปี 48 “ทักษิณ” ลงนาม แต่ตัวเองกำลังจะถูกเรียกคืนตามระเบียบนี้ หลังถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ และหากยื่นฎีกาไม่สำเร็จ เครื่องราชฯ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือเทียบเท่า“เจ้าพระยา”มีสิทธิถูกยึดคืน
จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 และ 122 กำลังจะส่งผลต่อยศฐาบรรดาศักดิ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานในฐานะนายกรัฐมนตรีชั้น “เจ้าพระยา” นั้น ก็ส่อแววจะต้องถูกเรียกคืน เนื่องจากเป็นไปตามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ.2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548) นั้น ระบุว่า
การถูกศาลพิพากษาจำคุกถึงที่สุดเข้าเงื่อนไขที่สำนักนายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกดังกล่าว ดังนั้น ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยื่นฎีกาภายใน 30 วัน ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ก็ถือว่า คดีถึงที่สุด (ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ.2551) ซึ่งจะต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชฯ
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับมาแล้วมีดังนี้
พ.ศ.2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ.2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ.2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ.2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ.2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ.2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ.2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ.2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ.2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
ส่วนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 สาระสำคัญระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายฉบับได้กำหนดไว้ ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประกอบกับปัจจุบันยังมิได้กำ หนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและรวบรวมกรณีที่จะเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้เป็นระเบียบแน่นอน สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวางระเบียบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
“เครื่องราชอิสริยาภรณ์” หมายความว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยและเหรียญราชอิสริยาภรณ์ไทยแต่ไม่รวมถึงเหรียญรัตนาภรณ์และเหรียญราชรุจิ
“การเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์” หมายความว่า การดำเนินการถอนชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออกจากรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมทั้งประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานคืน
1.เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใด ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนต่อไป
2.ในกรณีที่ปรากฏเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดำเนินการเรียกคืนทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตรา
3.เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(4) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(5) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยคำสั่งอันถึงที่สุด
(6) เป็นผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(7) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
(8) เป็นผู้ประพฤติตนไม่สมเกียรติหรือนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปใช้ในกรณีไม่สมควร
4.เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ 7 ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปยังสำนัก
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะ
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
5.เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนจากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วแต่กรณี โดยพลัน
หากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่สามารถส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยประการใดๆ ให้ใช้ราคาตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดซึ่งมีเหตุที่จะต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วได้วายชนม์ลง ให้ดำเนินการเรียกคืนโดยพลัน
6.ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ โดยให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติตามระเบียบนี้ หากไม่ได้ข้อยุติให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยคำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด