xs
xsm
sm
md
lg

สคบ.แจ้งดีเอสไอฟัน "เสี่ยอู๊ด" ต้มตุ๋น "พระสมเด็จเหนือหัว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคบ.แจ้งความดำเนินคดี"เสี่ยอู๊ด"ต่อ ดีเอสไอ พร้อมพ่วงความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค กรณีโฆษณาเป็นเท็จ จัดสร้าง"สมเด็จเหนือหัว 5 สี" ไปกับข้อหาฉ้อโกงประชาชน ชี้มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 700 ล้านบาท

วานนี้ (21 เม.ย.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไปแจ้งความกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายสิทธิกร บุญฉิม กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด

ทั้งนี้ นายสิทธิกร เป็นผู้จัดสร้างวัตถุมงคล"สมเด็จเหนือหัว" ตามที่สำนักราชเลขาธิการได้ทำหนังสือร้องมา โดยถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เนื่องจากใช้ข้อความโฆษณาทางสื่อป้ายโฆษณาเป็นเท็จ เช่น "สมเด็จเหนือหัว สร้างจากดอกไม้พระราชทาน..." แต่ความจริงแล้วดอกไม้พระราชทางดังกล่าว เป็นการพระราชทานแด่พระวิสุทธาธิบดี เพื่อติดกัณฑ์เทศน์ในพิธีพระราชกุศล ในวาระทรงครองราชย์ครบ 60ปี เท่านั้น มิใช่เป็นการพระราชทานเพื่อใช้เป็นมวลสารประกอบในการจัดสร้างวัตถุมงคลสมเด็จเหนือหัวแต่อย่างใด

"ความผิดนี้มีหลายคดี และอยู่ระหว่างการดำเนินการของดีเอสไอ ที่จะฟ้องร้องตามกฏหมายที่มีความผิดหลายบท สูงสูดคือ การแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีโทษจำคุก 15 ปี และนำไปสุ่การยึดทรัพย์ด้วย"

นางรัศมี วิศทเวทย์ เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า สคบ.จะไปดำเนินการกล่าวโทษนายสิทธิกร และบริษัทฯ ต่อดีเอสไอในช่วงเช้าวันนี้ (22 เม.ย.) ซึ่งทราบว่า ดีเอสไอ ได้ดำเนินการเรื่องนี้คืบหน้าไปมากแล้ว หลังจากมีประชาชนจำนวนมากไปกล่าวโทษไว้ และทราบว่า ดีเอสไอ ได้รวบรวมความผิดไว้หลายคดีด้วยกัน โดยเหตุผลหนึ่งที่ สคบ.ไม่ดำเนินการฟ้องร้องนายสิทธิกรเอง เพราะเห็นว่าความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มีอัตราโทษปรับเพียง 50,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน จึงเห็นควรให้ดีเอสไอ ฟ้องร้องไปทีเดียวหลายคดีเลย

เลขาธิการ สคบ.กล่าวด้วยว่า ความผิดเกี่ยวกับการจัดสร้างวัตถุมงคลสมเด็จเหนือหัว มีผลกระทบต่อความเข้าใจผิดของประชาชนทั่วไปในทุกระดับ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงกว่า 700 ล้านบาท และมีเจตนาที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการของตน อันเป็นการมิบังควรยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ภาพที่มีลักษณะคล้ายพระมหามงกุฏ ประกอบด้านหลังองค์พระ โดมมิได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อว่า การจัดสร้างวัตถุมงคลสมเด็จเหนือหัวเกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ตามมาตร 22 วรรคสอง(2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
กำลังโหลดความคิดเห็น