xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” แย้มกลิ่นยุบสภาโชย! อ่านเกมลึก “แม้ว” โค่นระบอบคืนสู่อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“อภิสิทธิ์” ชักปลงตก เผยไม่คิดนั่ง หน.พรรคยาวนาน พร้อมเตรียมนับถอยหลังชีวิตการเมือง ยอมรับแก้ปัญหาความแตกแยกในบ้านเมืองเหลว แต่ยังเดินหน้าแก้ รธน.เพื่อสมานฉันท์ต่อไป กร้าวไม่ขอประนีประนอมกับการทุจริต หากมีปัญหาพร้อมยุบสภา อ่านเกมลึก “แม้ว” คือตัวปัญหาชาติ อย่างแท้จริงเตรียมโค่นระบอบคืนสู่อำนาจ เรียกร้องให้สังคมไทยเข้มแข็ง ต่อต้านกระบวนการดึงสถาบันเข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง

วันนี้ (22 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “อภิสิทธิ์คนเดิม บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี” เขียนโดย น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวการเมืองสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเนื้อหาในหนังสือเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญนับตั้งแต่นายอภิสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงการบริหารงานในปัจจุบัน สะท้อนถึงวิธีคิดในการบริหารประเทศและแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยยืนยันภารกิจที่จะต้องยุติการเมืองที่ล้มเหลว เพราะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งภาค แบ่งสีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ยอมรับว่าหลังบริหารประเทศมานานกว่า 10 เดือน ยังมาสามารถยุติความล้มเหลวทางการเมืองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพยายามเดินหน้าต่อไป โดยนำระบบรัฐสภาเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับฉันทามติจากประชาชนด้วยการทำประชามติ

“นักการเมืองเป็นคนหมู่น้อยที่มีอำนาจ แต่ไม่ได้หมายความว่า การมีอำนาจแล้วจะทำอะไรได้ทุกอย่าง ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะเห็นจากสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้านักการเมืองมีอำนาจจริงก็คงแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่ ผมคิดว่าจากนี้ไปเป็นจุดที่ท้าทายเรามากทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถ้าเราพ้นตรงนี้ไปได้ แล้วทำให้เราเข้มแข็งขึ้น มันเป็นโอกาสใหม่สำหรับเศรษฐกิจลัถ้าเราถือโอกาสปรับในเรื่องพื้นฐานด้วย เช่น ภาคเกษตร ระบบสวัสดิการ ความไม่เป็นธรรมด้วย มันก็น่าจะแข็งแรงขึ้น ส่วนการเมืองถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ ผมว่าเราก็เหมือนกับขึ้นชั้นในแง่ของความมีวุฒิภาวะในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ตรงกันข้ามถ้าเราผ่านไม่ได้ เราก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดกับดักวงจรเดิมนานแสนนานเลยกับความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ” นายอภิสิทธิ์กล่าวในตอนหนึ่งของหนังสือ “อภิสิทธิ์คนเดิมบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความไม่เข้าใจกันบ้างแต่ก็พูดคุยด้วยเหตและผล โดยยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และจะไม่ยอมให้มีการต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ เพราะจะไม่ประนีประนอมกับการทุจริต เพียงเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจดี

“ใครที่คิดว่าการต่อรองเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือโครงการ คิดว่าผมจะให้ความสำคัญเพียงแต่การอยู่รอดของรัฐบาล ก็คงจะได้รับทราบจุดยืนแนวคิดของผมอย่าชัดเจนว่า ผมไม่ได้สนใจในเรื่องความอยู่รอดของรัฐบาล แต่สนใจในเรื่องของการที่จะทำให้ระดับหรือมาตรฐานทางการเมืองไทยเป็นไปอย่างโปร่งใสที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องมาต่อรอง สิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้คือเรื่องของกการทุจริต คอรัปชั่นหรือการที่จะไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม ซึ่งถ้าถึงที่สุดแล้วในทางการเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ ผมก็คิดว่าน่าจะยุบสภา ด้วยเหตุผลที่ว่าสภาชุดนี้ได้ตั้งรัฐบาลมาแล้ว ชุดนี้เป็นชุดที่สาม และดีที่สุดคือต้องกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” นายอภิสิทธิ์กล่าวในการตอบคำถามหัวข้อ “จุดเปลี่ยนประเทศไทย จุดยืนอภิสิทธิ์” ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ต้องระมัดระวังในการแสดงความเห็นที่อาจส่งผลกระทบ แต่ก็รักษาจุดยืนแนวทางและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ แม้มีบางเรื่องที่อยากจะแสดงความเห็นแต่ก็ต้องห้ามใจตัวเอง เพราะถ้าแสดงออกไปอาจจจะมีผลกระทบ แต่ทั้งนี้ก็จะไม่ทำอะไรที่ฝืนความรู้สึกหรือสำนึกของตัวเองในการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี

“ผมไม่ได้คิดถึงความคุ้มไม่คุ้ม เพราะการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ ไม่ใช่เรื่องกำไรหรือขาดทุน และถ้าหากว่าผมจะต้องขาดทุนทางการเมมือง แต่สามารถแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองได้ ผมพร้อมที่จะขาดทุนเพื่อให้ประเทศได้กำไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรียังวิเคราะห์ถึงเส้นทางการเมืองของตัวเองผ่านการให้สัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้ด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน ซึ่งตลอดการบริหารประเทศที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลหลายเรื่องประชาชนจับต้องได้และได้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังทำหน้าที่นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง แต่ไม่คิดว่าจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคยาวนานเหมือนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพราะคิดว่าขณะนี้เริ่มนับถอยหลังชีวิตการเมืองแล้ว

“ผมใช้คำว่าเราเผาผลาญทรัพยากรทางการเมืองเร็วขึ้นกว่าเดิม อายุการใช้งานนักการเมืองสั้นลง นักการเมืองหมดอายุเร็วขขึ้น อีกอย่างหนึ่งผมมมองตัวผมเองไม่ออกว่าอีกสิบกว่าปีข้างหน้าผมจะอยู่ในการเมืองได้อย่างไร ผมมองไม่ออก มันไม่เหมือนกับของท่านนายกฯชวน ท่านมีเวลาสะสม สะสมเครดิตอยู่นานมากนะ เป็นยี่สิบกว่าปีใช่ไหมครับ และวันนี้ท่านก็ดำรงอยู่ในฐานะผู้ที่อาวุโสสูงสุดในสภาด้วยซ้ำ แต่ว่าสำหรับผมมันไม่ใช่ (นิ่งคิดนิดหนึ่ง) การก้าวขึ้นมามันก็ไม่ได้มีเวลาสะสมอยย่างนั้น และวันที่พ้นไปก็ไม่ใช่คนที่อาวุโส” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า หากต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปก็อยากให้คนจดจำในภารกิจที่ได้ทำในเรื่องการกอบกู้วิกฤติกับการสมานแผล หรือการทำให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำได้อย่างนั้นก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่ถ้าคนจะมองเห็นด้วยว่าทำสิ่งเหล่านี้ได้บนความซื่อสัตย์ไม่ละทิ้งอุดมการณ์พื้นฐานของตัวเองก็ยิ่งวิเศษ ซึ่งตนจะพยายยามทำอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการแก้ปัญหาชาติจะต้องดึงพลังส่วนดีของสังคมอออกมา โดยยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาชาติ

“พ.ต.ท.ทักษิณยังคงมีบทบาทแน่นอน เพราะว่ายังคงมีความมุ่งหมายที่จะกลับเข้ามามีอำนาจ โดยมีความพยายามที่จะล้มล้างคดีต่างๆ ซึ่งได้มีการตัดสินไปแล้ว นั่นหมายถึงว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีการต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคานให้ได้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบหรือเปลี่ยนแปลงระบอบ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยว่าจะมองสถานการณ์ตรงนี้ทะลุหรือไม่อย่างไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกรัฐมนตรียังแสดงความเป็นห่วงกรณีที่มีคนบางกลุ่มพยายามจาบจ้วงเบื้องสูง หรือเคลื่อนไหวในลักษณะกระทบกับสถาบันหลัก โดยจะใช้ทั้งมาตรการทั้งทางกฎหมายและทางบริหารแต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนที่พยายาม จะใช้การกระทำของรัฐบาลไปเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสที่เกี่ยวข้องกับสถาบันไปในทางลบด้วย เพราะมีความพยายามที่จะดึงสถาบันเข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ถือเป็นเป้าหมายของคนบางกลุ่มที่มองว่า การมีกลไกต่างๆ ที่เป็นลักษณะของสถาบันสามารถที่จะยับยั้งความไม่ถูกต้อง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองได้ หรือเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนอยู่เป็นอุปสรรคของเขา แต่ก็ไม่คิดว่าคนเหล่านี้จะทำสำเร็จ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสังคมไทยด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น