xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ อภิสิทธิ์ก็พึ่งไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็คาดหวังไม่ได้ การเมืองใหม่พวกเราต้องสร้างขึ้นมาเอง (บทความที่พี่น้องประชาชนควรอ่าน)

เผยแพร่:   โดย: รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง,รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย

พี่น้องประชาชนทั้งหลายโปรดฟัง. . .

เพราะมนุษย์มีจินตนาการ มนุษย์ถึงบินได้ ทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะกระทำได้ การเมืองใหม่จึงเป็นเรื่องของจินตนาการ มิใช่เรื่องเพ้อฝันกันเล่นๆ

การกอบกู้พลังทางศีลธรรมให้ฟื้นคืนกลับขึ้นมาจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับสังคมไทย หลังจากที่โดนระบอบทักษิณทำลายคุณค่าทางศีลธรรมมานานปี นี่มิใช่เป็นการถอยหลังโดยไม่เดินหน้า หากแต่เป็นความพยายามจะกระโดดก้าวไปข้างหน้าโดยการกอบกู้อัตลักษณ์ที่ดีงามของสังคมไทยให้กลับคืนมาก่อน หาไม่แล้วคนรุ่นลูก รุ่นหลาน จะก้าวไปข้างหน้าด้วยรากฐานที่มั่นคงได้อย่างไร

การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราว เมื่อ 29 ก.ย. 52ที่ผ่านมา ก่อนพิพากษาคดีให้ระงับ 76 โครงการที่หน่วยงานของรัฐรวม 8 หน่วยอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามที่เอกชนรวม 43 รายได้ยื่นฟ้องตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่นายกฯ อภิสิทธิ์ได้ให้อัยการเป็นตัวแทนหน่วยงานดังกล่าวยื่นอุทธรณ์ จึงเป็นการเมืองเก่าที่ขาดวิสัยทัศน์ ประชาชนอย่างพวกเราจึงไม่อาจหวังพึ่งการเมืองเก่าและพรรคประชาธิปัตย์ได้จริงๆ

ประชาชนอย่างพวกเราได้เห็นการทำลายคุณค่าทางศีลธรรมของทุนนิยมสามานย์ที่ไร้ซึ่งหัวใจในพื้นที่ดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะมาจากปากของ “ผู้บริหาร ปตท.” ที่โวยแหลกว่าธุรกิจใหญ่แสนล้านทุกอย่างต้องสมดุล หากมองสิ่งแวดล้อม-สังคมมากเกินไป ก็ไปตั้งมูลนิธิดีกว่า แต่ที่แปลกก็คือแม้แต่หน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ออกความเห็นในลักษณะที่หากมีการระงับไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวรก็จะมีผลกระทบต่อการลงทุนและความเชื่อมั่นทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้า

มาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ว่า โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ จะได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ ให้องค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวเสียก่อน

สิ่งที่น่าสนใจอันเป็น ปฐมเหตุของความขัดแย้ง 3 ฝ่าย ระหว่าง (1) ชาวบ้านมาบตาพุด (2) หน่วยงานของรัฐทั้ง 8 แห่ง และ (3) เอกชนที่ลงทุนในบริเวณดังกล่าวและถูกระงับโครงการไป น่าจะมาจากหน่วยงานทั้ง 8 ของรัฐ ที่ยังคงรับเรื่องพิจารณา หรือให้ความเห็นชอบในการอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านมาบตาพุดในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงเกินกว่าที่จะรับได้

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 24 ส.ค. 50

เพราะหน่วยงานทั้ง 8 ไม่ได้คำนึงหลักสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่าจะต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายมาปฏิบัติในทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายเป็นการเฉพาะออกมาก่อน

เพราะมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอาไว้เป็นเกณฑ์ทั่วไปตามความในวรรคแรกเพราะ ได้ห้ามมิให้กระทำ แต่มีข้อยกเว้นเป็นการเฉพาะ ให้ตามความในวรรคสองซึ่งต้องกระทำตามเงื่อนไขให้ครบถ้วนเสียก่อนมิใช่หลังจากมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรม

เป็นการป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นมากกว่าที่จะมาบรรเทาหรือเยียวยาในภายหลัง เพราะในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติของประชาชน การเยียวยามิใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพเท่ากับการป้องกัน รัฐธรรมนูญในมาตรา 67 จึงได้กำหนดหลักการป้องกันไว้ล่วงหน้า นั่นคือ การมีส่วนร่วมที่จะร่วมประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นโดยอิสระของประชาชน

อย่าได้อ้างเรื่องการลงทุนเลย เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงเป็นของคู่กันไม่ว่าจะไปลงทุนที่ใดในโลกนี้

ดังนั้น นัยของปัญหาในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่ถูกร้องทั้ง 8 หน่วยงานที่ไม่ได้ใส่ใจในกฎหมาย แม้จะเป็นกฎหมายสูงอย่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะหากมีสำนึกว่าจะต้องเคารพกฎหมายที่ประชาชน 14 ล้านคนเศษรับรองมา แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจที่ข้าราชการมิได้สนใจที่จะปฏิบัติตาม แถมยังมีข้าราชการที่ทำการอุทธรณ์ยังให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องมองต่างมุม แต่หากกระทบต่อภาพรวมก็ควรแก้ที่กฎหมาย กลายเป็นว่าคนที่ไม่เคารพกฎหมายเป็นฝ่ายถูกเพราะหากกฎหมายว่าไม่ถูกก็ไปแก้ที่กฎหมายซะจะได้ไม่ผิด

ขณะที่ฝ่ายการเมือง เช่น นายกฯ อภิสิทธิ์ก็ขาดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน เพราะแทนที่จะหันกลับมาดูแลหน่วยงานที่ทำงานบกพร่องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกลับหันมาเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนโดยการสั่งให้มีการอุทธรณ์ เป็นเรื่องที่แย่มากที่รัฐมาเป็นปฏิปักษ์กับประชาชน นายกฯ อภิสิทธิ์น่าจะแสดงท่าทีว่า หากเรื่องนี้ฝ่ายเอกชนได้รับความเดือดร้อนก็สามารถฟ้องร้องกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างเต็มที่ ตนในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐพร้อมที่จะดูแลให้ความเป็นธรรมเพราะเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐบกพร่องเพราะประชาชนมาบตาพุดมิได้เป็นคู่กรณีกับเอกชนผู้ลงทุน หากแต่หน่วยงานของรัฐต่างหากที่ละเลยทำให้เกิดเป็นปัญหากับทั้งประชาชนมาบตาพุดและเอกชนผู้ลงทุน

เรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ กรณีที่ นายกฯ อภิสิทธิ์ขาดวิสัยทัศน์อย่างชัดเจน เพราะคำนึงถึงความอยู่รอดทางการเมืองมากกว่าการปกป้องดูแลประชาชนหรืออาศัยประชาชนเป็นหลักพึ่งพิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.บางส่วน การอนุมัติรถเมล์ 4,000 คัน การขยายเวลาและเพิ่มจำนวนเงินกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้าน การละเว้นไม่ดำเนินการทางวินัยอย่างจริงจังกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ การถูกรุกล้ำดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร หรือโครงการไทยเข้มแข็งที่ไม่รู้ว่าจะทำให้คนไทยคนไหนหรือกลุ่มใดเข้มแข็ง

เพราะนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่ได้ใช้หูของตนเองฟังเสียงประชาชน ไม่ได้ใช้สองตามองเหมือนที่ประชาชนมองปัญหาของสังคม ไม่ได้ใช้สมองคิดเหมือนที่ประชาชนคิด กลายเป็นนักการเมืองทั่วไปที่ก่อนเลือกตั้งก็มายกมือไหว้ขอเสียงจากประชาชน พอหลังเลือกตั้งก็กลายเป็นนักการเมืองที่ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา

นายกฯ อภิสิทธิ์ชอบอ้างกฎหมายว่าบังคับให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่อย่าลืมว่าเหนือกว่ากฎหมายก็คือศีลธรรมและจริยธรรมที่แสดงถึงคุณค่าความดีงามของสังคมไทยที่ท่านต้องปกป้องรักษาเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีกับสังคมสืบไป

กรณีที่กล่าวยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า นายกฯอภิสิทธิ์ไม่ใช่นายกฯ คนแรกในการเมืองใหม่ หากแต่กำลังจะเป็นนายกฯ ของการเมืองเก่าคนสุดท้ายอย่างแน่นอน

หากจะกวาดสายตาไปทั่ววงการเมืองในปัจจุบันก็จะไม่พบนักการเมืองใหม่ที่ต้องการ change แม้แต่สักครึ่งคน เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ใช้พลังทางศีลธรรมให้อยู่เหนือกฎเกณฑ์ขั้นต่ำ เช่น กฎหมาย หากแต่ยึดเป็นสรณะว่าหากกฎหมายมิได้บังคับเอาไว้ดังนั้นจึงทำได้ ดังนั้นเมื่อทำอะไรผิดเพราะกฎหมายกำหนดไว้ก็จะไปแก้ที่กฎหมายแต่มิได้ใส่ใจแก้ที่ตนเอง

การเมืองใหม่จึงเป็นการเมืองที่ต่อสู้กับความหน้าด้านของนักการเมือง ทำให้เกิดความละอายเกรงกลัวต่อบาป

พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ พวกเราหวังพึ่งนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่ได้แล้วครับ จะคาดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้แล้ว ความหวังเพียงประการเดียวของพวกเราจึงอยู่ที่ “การเมืองใหม่” ที่ประชาชนอย่างพวกเราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือสร้างขึ้นมาจริงๆ ครับ

หมายเหตุ : เป็นความเห็นของผู้เขียน ไม่ผูกพันกับหน่วยงานที่สังกัด

กำลังโหลดความคิดเห็น