ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 เริ่มไม่ราบรื่นในการดำเนินโครงการ เหมือนตอนทำโรงไฟฟ้าจะนะ เพราะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 5 ตำบลเกิดกระแสคัดค้านใน ตำบลนาทับ ตำบลป่าชิงและตำบลนาทับ ซึ่งทั้ง 3 ตำบลพื้นที่นอกรอบของโรงไฟฟ้าเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานทั้งสิ้น
วานนี้ (24 ก.ย.) ที่อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนบ้านปากบางนาทับ หมู่ที่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ชาวบ้านจำนวนกว่า 1,000 คน ยืนถือป้ายการคัดค้านในการตั้งโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 หลังจากที่ชาวได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าเฟสแรกมาแล้ว ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงถึงปีละ 10% ในระยะ 10 ปี ซึ่งได้มีเจ้าหน้าตำรวจตะเวนชายแดน ดูแลอย่างเข้มงวด
หลังจากที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ 5 ตำบล ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เกิดกระแสคัดค้านขึ้น 3 ตำบลด้วยกัน คือ ตำบลนาทับ ตำบลป่าชิงและตำบลคลองเปียะ ซึ่งทั้ง 3 ตำบลเป็นตำบลพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการ หากชาวบ้านไม่เห็นด้วยต่อการดำเนินงาน จะส่งผลให้โครงการเริ่มไม่ราบรื่นเหมือนกับสร้างโรงไฟฟ้าเฟสแรก
นายนคร ศรีวิเชียรสมบัติ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ กล่าวกับผู้เข้าร่วมเวทีว่า ที่ผ่านมามีหลายคนเคยเข้าไปโรงไฟฟ้า แต่มีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยเข้าไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 การทำโครงการต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหลายขั้นตอน และที่ผ่านมากองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังไม่มีพระราชบัญญัติของกระทรวงพลังงาน โดยตอนนี้กำลังจะเริ่มต้นกับชุมชนรอบในของโรงไฟฟ้าจะนะในเดือนตุลาคม
ทางด้านดร.สิริมิตร วังสุนทร จากบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ได้บรรยายรายละเอียดโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าให้ชาวบ้านตำบลนาทับได้ทราบ รวมถึงการจัดหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าตอนนี้ชาวบ้านต่างมีความวิตกหลายประเด็น โดยเฉพาะผลกระทบการเลี้ยงปลากะพงในกระชังและทรัพยากรสัตว์น้ำถูกทำลาย
อย่างไรก็ตาม โครงการการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านส่วนใหญ่ เนื่องจากการดำเนินงานทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องแก้ปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลง ส่งผลให้ชาวบ้านขาดงบประมาณในการเลี้ยงชีพ
จากนั้นนายอดิเรก หมัดหมาน นายกอบต.นาทับ ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้า อยู่ที่ความไม่จริงใจ และขาดความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา หากเราช่วยกันแก้ไขปัญหา ปัญหาจะถูกแก้ไขด้วยดี รวมถึงได้แสดงความคิดเห็นถึงทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควรให้โอกาสซักถามและขอให้บอกด้วยความจริงใจ และย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือขาดเจ้าภาพ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาชี้แจงแก้ไขปัญหา
นายพีระดิศ เหร็มแอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงไฟฟ้าจะนะมีการสูบน้ำเข้าไปใช้หล่อเย็น แม้โรงไฟฟ้าอ้างว่ามีตะแกรงดักสัตว์น้ำยังปรากฏว่ามีกุ้ง มีปลาติดไป ไม่แน่ใจว่ามีตะแกรงดักจริงหรือเปล่า พร้อมกันนี้ได้แสดงภาพถ่ายของกุ้งและปลาที่ตาย และทางไฟฟ้าบอกว่าน้ำปล่อยจากโรงไฟฟ้าไม่เสียแต่ปรากฎว่าน้ำจากโรงไฟฟ้าไม่สามารถให้สัตว์น้ำมีชีวิตอยู่ได้ อยากให้ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าชี้แจงด้วย
ในปี 2548 เป็นช่วงที่มีการเริ่มโรงไฟฟ้า มีส่วนร่วมทำประชามติของอบต.นาทับ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการมีโรงไฟฟ้า เวลานั้น 87% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทาง กฟผ.ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างที่อบต.นาทับ แต่ขอที่ อบต.คลองเปียะและป่าชิง จากการคาดการณ์จึงมีการเสนอว่าให้ กฟผ.ใช้น้ำทะเลในการหล่อเย็นแทนน้ำในคลองนาทับ เพื่อป้องกันความขัดแย้ง
สมัยนั้นนายณรงค์ศักดิ์ พิเชษฐพันธุ์ สัญญากับคนนาทับว่าจะมีเงิน 20 ล้านเพื่อป้องกับผลกระทบกับคลองนาทับระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างไม่มีปัญหา ตอนหลังจึงนำเงินดังกล่าวไปจัดตั้งมูลนิธิคลองนาทับ โดยมีเงื่อนไขระบุชัดเจนว่า “เมื่อพิสูจน์ว่าเสียหายมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ” ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใคร หรือคณะกรรมการที่ตั้งกล้ายอมรับหรอกว่าน้ำเสียมาจากโรงไฟฟ้า หากยอมรับว่าเป็นเพราะโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น