xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” ชี้ รธน.เปิดช่องนักธุรกิจเล่นการเมือง ถือเป็นภัยใหญ่หลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชวน หลีกภัย
อดีตนายกฯ ระบุชัด รธน.เปิดช่องให้นักธุรกิจเข้ามาหาประโยชน์ในคราบนักการเมือง ทำให้เกิดธุรกิจการเมือง ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงแซงหน้าปัญหาสินบนอย่างในอดีต ระบุ ให้ พตส.สร้างนักการเมืองให้มีธรรมาภิบาล อย่าเป็นแค่นักการเมืองสมัครเล่น เน้นโกยธุรกิจเข้ากระเป๋าตัวเอง พร้อมแนะ กกต.รณรงค์สร้างค่านิยมใหม่กับเยาวชนและข้าราชการประจำ เพื่อต่อต้านการเมืองที่ทุจริต

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ บรรยายพิเศษ “การสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น” ให้กับนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ว่า นักการเมืองระดับท้องถิ่นมีปัญหาการทุจริตหนักกว่านักการเมืองที่เป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งในบางพื้นที่ค่าหัวต่อหัวต่อคนจะแพงมาก เพราะผู้นำท้องถิ่นมีความกังวล เรื่องความผูกพันกับชาวบ้าน ซึ่งจากผลการเลือกตั้ง อบต.ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อคนเก่าหลุดจากตำแหน่งไปและคนใหม่เข้ามาทำแทนที่นั้น สะท้อนให้เห็นว่า อาจจะเป็นเพราะผลงานของคนเก่าไม่ดีพอ หรืออาจจะเป็นเพราะราคาคะแนนเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสูตรที่ตอบคำถามว่าจะป้องกันอย่างไร

นายชวน กล่าวอีกว่า เรื่องการซื้อสิทธิ ตนไม่อยากพูดเพราะเหมือนกับมาตำหนิพวกเดียวกัน แต่หากเราไม่พูดก็จะภัยใหญ่หลวงกับประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันนี้ต่อหัวแพงมาก เมื่อนักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้ามาจะไม่หาประโยชน์ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะถึงบางคนไม่หาประโยชน์ในตัวเงิน แต่หวังประโยชน์จากตำแหน่ง อาทิ นักการเมืองมีบริษัทก่อสร้าง ก็สามารถใช้อิทธิพลในการประสานกับสำนักงบประมาณ รวมทั้งประมูลตัดหน้าผู้ประกอบการรายอื่น ซึ่งบางเรื่องก็ได้สิ่งตอบแทนไม่เป็นตัวเงิน แต่ยิ่งกว่าเงิน เพราะไม่มีอาชีพข้าราชการใดที่ทำงาน 4 ปี และได้สายสะพาย 4 เส้น นอกจากข้าราชการทางการเมืองเท่านั้น

“หากย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน คนที่เข้ามาทางการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการ ครู นักกฎหมายและทนายความ ดังนั้น ยังไม่มีแนวคิดธุรกิจการเมือง แต่เมื่อมีนักธุรกิจเข้ามาเป็นนักการเมือง จากสิ่งที่เคยดีกลับนำมาซึ่งสิ่งเลวร้าย โดยทำการเมืองเป็นเรื่องธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจสื่อสารมวลชนและฝ่ายอื่นๆก็เป็นธุรกิจ สิ่งที่เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นตามมา คือ ผลประโยชน์ตอบแทน และสามารถควบคุมสื่อมวลชนและข้าราชการประจำได้ วัฒนธรรมทุจริตและคอร์รัปชั่นก็มากขึ้นตามลำดับ แม้สินบนจะเป็นคำที่มีมาแต่โบราณและอยู่ในวงจำกัด แต่ระยะหลังรัฐธรรมนูญก็เปิดช่อง กลุ่มบุคคลอาชีพหลากหลายก็เข้ามา สภาก็เปิดกว้าง จนทำให้การเมืองเป็นเรื่องธุรกิจ จึงเกิดข้าราชการธุรกิจ ทำให้กลุ่มที่ต้องการหาประโยชน์เข้ามาทำธุรกิจการเมืองแซงหน้าการให้สินบนไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในอนาคตการเมืองไทย” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เราต้องดูว่า กกต.จะมีการปรับปรุงอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ให้ กกต.ต่างจังหวัดเป็นแหล่งคอร์รัปชันใหม่ เพราะ กกต.ถือเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการทุจริต ตนจึงขอฝากให้ กกต.ช่วยดูแล แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ เพราะในด้านพฤติกรรมมีคนที่เข้มแข็งน้อยในสังคม เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องธุรกิจ

“ผมเคยเสนอ กกต.หลายครั้งให้มีการรณรงค์ต่อต้านการเมืองทุจริต เพื่อต้องการให้มีการสร้างค่านิยมใหม่กับกับเยาวชน รวมทั้งควรเสนอหัวข้อนี้ให้กับกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นวาระเร่งด่วน และอบรมเยาวชนทุกวัยให้มีความตื่นตัวเรื่องการเมือง เพื่อไม่ให้มีการขายเสียงและการทุจริต เพราะถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง แม้เยาวชนจะยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ถือเป็นการเตรียมตัวในวันข้างหน้า ประกอบกับเยาวชนมีอิทธิพลกับพ่อแม่ เพราะเมื่อเด็กบอกกับพ่อแม่ว่าอย่าขายเสียง ตนรับร้องว่าพ่อแม่ทุกคนคงลังเลใจ เนื่องจากเด็กมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของพ่อแม่ไม่น้อย” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวต่อว่า คนที่สร้างพฤติกรรมที่ไม่ดีคือนักการเมือง แต่หวังให้คนทำผิดเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก ต้องใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ อย่างเข้มงวด และใช้ระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัด พร้อมลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระ เนื่องจากเกิดความไม่เชื่อถือต่อฝ่ายปกครอง เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นฝ่ายปกครองจะเข้าข้างฝ่ายรัฐมากกว่า ดังนั้นต้องรณรงค์ให้ฝ่ายพนักงานประจำหรือข้าราชการประจำต่อต้านการทุจริต โดยให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลที่ไม่สุจริต อีกทั้งตนเชื่อว่าหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับข้าราชการประจำเกิดจากความเกรงใจ ดังนั้นต้องทำให้ข้าราชการเข้าใจว่าหากทำตามความเกรงใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้าได้

นายชวน กล่าวต่อว่า หากหลักสูตร พตส.นี้สำเร็จคงเป็นแบบอย่างได้ เพราะเน้นเรื่องธรรมาภิบาล แต่หลักสูตรอื่น เช่น หลักสูตร วปอ.หรือหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ที่ทำมานานนั้น ประสบความสำเร็จในการให้ความรู้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้าหลายรุ่นมุ่งแต่เรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งตนคิดว่าเป็นความรู้ดีมาก แต่การเมืองในเรื่องของธรรมาภิบาลไม่ได้เลย ตนไม่ได้โทษสถาบัน แต่คิดว่าคนของสถาบันที่อบรมไปยังไม่สามารถมีส่วนละลายพฤติกรรมได้มากกว่านี้ ตนเคยเสนอว่าควรให้ความรู้แก่คนในองค์กรปกครองท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งก็มีการปฏิบัติแต่อาจจะไม่มีความพร้อม เช่นเดียวกับผู้ที่เล่นการเมือง ขณะนี้ในสภาคนที่จบปริญญาเอกมีมาก ตนเชื่อว่า มีการซื้อเสียงในสภาฯ มาก ทำให้ความรู้กับพฤติกรรมกลับสวนทางกัน มีการเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม จึงไม่แปลกที่ทุกองค์กรมีบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่ดี ดังนั้นปัญหาสำคัญจำเป็นต้องสร้างทัศนคติให้กลายเป็นวัฒนธรรม เพื่อให้มีการเมืองที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันได้

“ผมเข้าใจคนเขียนรัฐธรรมนูญปี 50 ที่พยายามหาวิธีป้องกัน จึงมีการร่างมาตรา 237 ขึ้นมา ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดกับกรรมการบริหารพรรค หรือบุคคลที่ไม่มีส่วนร่วมกับการทำทุจริต ที่หัวคะแนนของสมาชิกพรรคไปให้เงินกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียงแค่ 100-200 บาท แต่คนที่ได้รับเงินบังเอิญเป็นพ่อแม่ของครู ที่สำนึกจึงได้ไปแจ้งความ ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องในทางกฎหมาย แต่หากเปรียบเทียบถือว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่กลับส่งผลเป็นเรื่องใหญ่” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีฉบับไหนเลวร้ายหรือดีที่สุด ซึ่งทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อเสียโดยวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ ในส่วนของรัฐธรรมนูญปี 40 ก็มีส่วนดี แต่ที่ต้องเกิดรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะว่ามีเรื่องการทุจริตเข้ามามากมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 มีกฎอย่างเข้มแข็งและได้จำกัดสิทธิของนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น