xs
xsm
sm
md
lg

เขมรขึงขังขู่ขับ จนท.ยูเอ็น บังอาจวิจารณ์ กม.ต้านคนโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#3366ff>ภาพเอเอฟพีวันที่ 11 ม.ค.2553 รัฐมนตรีต่างประเทศฮอร์นัมฮอง แถลงข่าวตอกย้ำปฏิเสธที่จะยกเลิกการแต่งตั้งนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล ตามคำเรียกร้องของฝ่ายไทยเพื่อนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์ สัปดาห์ที่แล้วนายฮองส่งหนังสือเตือนเจ้าหน้าที่สหประชาชาติขู่จะขับออกนอกประเทศ ฐานวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นของกัมพูชา ว่าไร้ประสิทธิภาพ   </FONT>

เอเอฟพี - รัฐบาลกัมพูชาแสดงท่าทีจะดำเนินการขับไล่ผู้แทนสหประชาชาติ หากหน่วยงานของสหประชาชาตินั้น ยังคง “แทรกแซงอย่างยอมรับไม่ได้” ต่อกิจการภายในประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ เป็นข้อความในหนังสือที่เปิดเผยให้เห็นในวันจันทร์ (22 มี.ค.)

ท่าทีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานของสหประชาชาติในกัมพูชาได้เตือนเรื่อง “กระบวนการที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม” ในการประชุมสภาเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่ถูกวิจารณ์โดยฝ่ายค้านและกลุ่มสิทธิมนุษยชน

ในหนังสือที่ส่งถึง นายดักลาส โบรเดริค (Douglas Broderick) เจ้าหน้าที่ประสานงานองค์การสหประชาชาติในกรุงพนมเปญ นายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ได้ระบุว่า สำนักงานของเขาได้กระทำการ “แทรกแซงอย่างโจ่งแจ้งซึ่งไม่สามารถยอมรับได้ต่อกิจการภายในของกัมพูชา”

“หากยังคงมีพฤติกรรมซ้ำเดิมอีกจะเป็นการบังคับให้รัฐบาลกัมพูชาต้องหันไปพิจารณาว่าเป็น บุคคลไม่พึงปรารถนา หนังสือลงวันที่ 20 มี.ค.ที่ส่งถึง นายโบรเดอริค กล่าวในตอนหนึ่ง”

นายฮง ยังกล่าวอีกว่า สำนักงานของ นายโบรเดอริค ใช้อำนาจเกินกว่าที่ได้รับมอบหมาย เพราะไม่มีคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ

กัมพูชาถูกจัดให้อยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศที่มีการคอร์รัปชันมากที่สุดของโลก ประเทศนี้ได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงฉบับแรกออกมา ในวันที่ 11 มี.ค.หลังจากใช้เวลานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่กฎหมายถูกเสนอขึ้นเป็นครั้งแรก

กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้กล่าวหาสหประชาชาติ ว่า “ทำหน้าที่เสมือนเป็นโฆษกผู้แทนของพรรคฝ่ายค้าน” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาของรัฐบาลนี้

สมาชิกสภาทั้งหมดจากพรรคฝ่ายค้านสมรังสี ได้เดินออกจากที่ประชุม เพื่อแสดงการประท้วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกลงมติให้ผ่านด้วยคะแนนเสียงจากผู้แทน 82 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน

บรรดาฝ่ายค้านและกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ร่างกฎหมายต่อต้านการทุจริตนี้มีช่องโหว่และได้ขอเปิดการอภิปรายต่อสาธารณะให้มากขึ้น โดยชี้แจงว่า กฎหมายนี้จะไม่ได้ผลและยังไม่ให้การคุ้มครองอย่างเพียงพอ ต่อผู้ที่แจ้งข้อมูลหรือพบเห็นการกระทำผิดอีกด้วย

สภาต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยงานต่อต้านการทุจริต จะถูกตั้งขึ้นเพื่อดูแลการสืบสวน แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าไม่น่าจะมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร และ กฎหมายระบุโทษการรับสินบนเอาไว้สูงสุดเพียง 15 ปี

กัมพูชาถูกจัดอยู่เป็นอันดับที่ 2 ในประเทศจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการทุจริตมากที่สุด รองจากประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เป็นผลการสำรวจประจำปีที่ประกาศในเดือนที่แล้วโดยบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือ PERC

ปีที่แล้วเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา กล่าวว่า มีการจ่ายค่าสินบนในกัมพูชาสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปี แต่รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่า “ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น