xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพงษ์” ได้ทีเฉ่ง รบ.โยนบาปศาลปกครอง สั่งระงับมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล
ลิ่วล้อแม้ว เผยธาตุแท้ฉวยกระแสรัฐบาลอย่าโยนความผิดให้ศาลปกครอง สั่งระงับโครงการมาบตาพุด อ้าง ทำชาติเสียหาย 4 แสนล.สับ รธน.50 ต้นตอทำลาย ศก.“มาร์ค” ตอกกลับปัญหาเกิดสมัยรัฐบาลชุดก่อน ยันเดินหน้าเคลียร์ปัญหา พร้อมดัน พ.ร.บ.สวล.เข้าสภาด่วน

วันนี้ (8 ต.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดถามนายกฯเรื่องการระงับ 76 โครงการที่มาบตาพุด ว่า กรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งระงับโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตามที่ประชาชนได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองตามมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญ ถือว่า ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงิน 400,000 กว่าล้าน คาดกันว่า หลังจากที่นิคมเดินไปจะมีการจ้างงาน 700,000 กว่าคน ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตนไม่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ โยนความผิดให้ศาลปกครองว่าใช้ดุลพินิจโดยไม่ดูถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ศาลปกครองได้ตัดสินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยความเป็นธรรม จึงไม่อยากให้กล่าวอ้างและรัฐบาล ไม่ควรโยนความผิดให้กับรัฐบาลชุดก่อนๆ

“รัฐบาลต้องรับผิดชอบเต็มๆ เพราะกระเหี้ยนกระหือรือที่จะมาเป็นรัฐบาล นี่คือ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ ซึ่งตนมองว่ารัฐบาลหย่อนยานในกระบวนการของรัฐไม่กำกับให้ดูแลอย่างรอบคอบ ปล่อยปละละเลยจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ นายกฯสร้างภาพไม่จริงในในการแก้ไขปัญหานั่งเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมให้คนรอ 2 ชั่วโมง เข้าประชุมแค่ 10 นาทีแล้วออกจากที่ประชุม จึงถามว่า นายกฯจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะกล่าวขอโทษผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการหรือไม่ หากยื่นอุทธรณ์ไม่ได้จะทำอย่างไร”

ด้านนายกฯชี้แจงว่า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาได้มีการสอบถามว่ามีเรื่องใดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีโครงใดที่ต้องดำเนิน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเป็นผู้ขอโทษในเรื่องนี้ ดังนั้น จะบอกว่า รัฐบาลละเลยคงไม่ใช่ ซึ่งตนได้ติดตามเรื่องนี้ ส่วนที่บอกว่า ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะยังไม่มีโครงการใดได้รับการอนุมัติและไม่มีหน่วยงานใดที่ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ส่วนที่บอกว่าไม่มีการร้องปัญหามลพิษที่มาบตาพุดในรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่เป็นความจริง เพราะมีชาวบ้านที่ไดรับผลกระทบไปร้องที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และตอนที่ตนเข้ามาศาลก็ได้ตัดสินเรื่องนี้ ส่วนที่ถามว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากรัฐบาลชุดก่อนหรือชุดนี้ รัฐบาลอยากปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง แต่ไม่มีใครชี้ว่าเกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ใครหรือหน่วยงานใดๆ ขึ้นมาพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีการเถียงว่าใครจะประกาศจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข หรือกรมโรงงาน จึงถกเถียงต้องตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ.ขึ้นหรือไม่

“ผมไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ แต่เบื้องต้นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไป คือ ระหว่างที่กระบวนการไม่เสร็จคือหากโครงการใดไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงก็สามารถเดินต่อไปได้ แต่โครงการไหนที่สันนิษฐานไว้ว่า เกิดผลกระทบต่อชุมชนก็ให้หน่วยงานระงับโครงการไว้ก่อน และรัฐบาลยึดหลักการพัฒนาต้องเดินหน้า เราจึงได้ยื่นอุทรณ์กรณีหน่วยงานรัฐเห็นว่าไม่มีผลกระทบขอให้ถอนการระงับโครงการไว้ เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลย ซึ่งยังต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง”

นายสุรพงษ์ ถามต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มาจากรัฐธรรมนูญและรัฐบาล รัฐธรรมนูญปี 50 กำลังทำลายเศรษฐกิจหรือไม่ และทำให้นักธุรกิจล้มละลายหรือไม่ และสร้างความแตกแยกให้กับสังคมหรือไม่ พรรคเพื่อไทยจึงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 6 ประเด็น เพราะแก้ไปแล้วประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร จึงควรแก้ไขมาตราอื่นด้วย โดยเฉพาะมาตรา 67 เห็นด้วยหรือไม่ และการแก้ไขปัญหาของนายกฯขณะนี้เหมือนกับการแก้ปัญหาแบบขี้จุกตูด คือมาแก้ตอนเกิดความเสียหายแล้ว แล้วมาบอกว่าจะประชุมเรื่องนี้ในเย็นวันนี้แล้วจะรีบนำเรื่องเข้าสู่การประชุมครม.ในวันอังคารนี้

นายกฯ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชุดแรกที่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะเข้ามาช่วงในเวลาที่จำกัด ซึ่งรัฐบาลพยายามทำให้เกิดความสมดุลไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนและให้โครงการต่างๆ เดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นด้วยกับหลักให้สิทธิกับประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปัญหาทีเกิดขึ้นเกิดจากแนวปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง จึงเป็นที่แปลกใจว่าทำไมปีที่แล้วไม่มีการดำเนินอะไร ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอมา

นายสุรพงษ์ ถามว่า ตนอยากให้แก้ไขมาตรา 67 ให้ชัดเจนรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อให้รัฐบาลทำงานง่าย ทำงานให้เป็น ตนเป็นห่วงว่าผลกระทบจากการระงับ 76 โครงการจะไม่ได้จบแค่นี้ นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทย ก็จะไปลงทุนที่อื่นแล้วรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเชื่อถืออย่างไร และหากนักลงทุนขาดความเชื่อถือรัฐบาลจะกู้เงินอีกกี่หมื่นกี่แสน

นายกฯชี้แจงว่า สิ่งที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ และเมื่อกฎหมายเข้ามาขอให้ฝ่ายค้านร่วมมือด้วย อย่ายื่นตีความ ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนก็ทำอยู่ โดยรวมต่างชาติเข้าใจ เพราะเคารพกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามในเรื่องหากศาลพิจารณาตัดสินให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ไม่ใช่การลงทุนเกิดขึ้นไมได้ แต่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอน และขยายเพิ่มเติมในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งยอมรับเรื่องนี้ทำให้เกิดความสะดุดและมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลตจะเดินหน้าเต็มที่ในเรื่องนี้และขอความร่วมมือกับฝ่ายค้านด้วย และดีใจที่เห็นฝ่ายค้านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ประชาชน เพราะดีกว่าแก้ไขเพื่อคนคนเดียวหรือกลุ่มคน
กำลังโหลดความคิดเห็น