กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ เตรียมเรียกสอบ “ชวรัตน์-อนุทิน” เอี่ยวทุจริตเงินค่าธรรมเนียมโครงการ “แอร์พอร์ตลิงก์-อุโมงค์รถไฟสนามบินสุวรรณภูมิ” โยกเข้าบริษัท บิกินส์และซิโน-ไทย ก่อนนั่ง รมว.มหาดไทยหรือไม่
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) กล่าวถึงการทุจริตโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ และเรื่องการสร้างอุโมงค์ภายใต้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งอยู่ในโครงการเดียวกันว่า กรณีเรื่องอุโมงค์ต้องให้การรถไฟเป็นผู้ชี้แจงว่า ไปยอมให้การท่าอากาศยานฯ ประมูลจัดซื้อจัดจ้างทุจริตถึง 2 พันล้านบาทได้อย่างไร และการรถไฟฯ จะทำอย่างไร ส่วนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ จากการสอบถามพบว่ามีการทุจริตในเรื่องของการจ่ายค่าธรรมเนียม 1.2 พันล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่า ค่าธรรมเนียมจริงๆ ที่ได้รับ พร้อมทั้งออกใบเสร็จให้ไปทั้งสิ้น 471 ล้านบาท เงินที่ทุจริตไปนั้นดำเนินการกันอย่างไร ถึงได้มียอดเงินมากถึงขนาดนั้น และขณะนี้ตนได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่าเงินจำนวนดังกล่าวไปสู่กระบวนการ และอยู่กับใครที่ไหน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไปอยู่ที่ 2 บริษัท คือ บริษัท บิกินส์ ผู้ที่เข้าประกวดราคาได้พร้อมกับ บริษัท ซิโน-ไืทย จำกัด
นายชาญชัยกล่าวว่า ซึ่ง 2 บริษัทดังกล่าวได้มีการทำเส้นทางการเงินและบัญชีให้ทราบว่า ได้มีการเบิกเงินที่ทุจริตไปใส่กระเป๋าใคร และจะมีการขอสอบสวนในเรื่องดังกล่าวกับทั้ง 2 บริษัท ว่าโยงใยกับตัวนายชวรัตน์ ก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงมหาดไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายหรือไม่ ซึ่งจะมีการเชิญตัวมาให้รายละเอียดในสัปดาห์หน้าต่อไป และเอกสารในเรื่องดังกล่าวได้มีการตรวจสอบจาก ธปท. เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการกระทำการที่ร่วมกับกระทรวงการคลัง และเมื่อวันที่ (7 ต.ค.) ที่ผ่านมา ได้ให้การรถไฟไปจัดทำข้อมูล และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีรายชื่อในเอกสารมาร่วมชี้แจง
นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการพิจารณาโครงการโฮปเวลล์ในการสร้างรถไฟสายสีแดง บนเสาตอม่อของโฮปเวลล์ที่มีอยู่นั้น ซึ่งพบปัญหาว่าได้มีการร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นผลให้การรถไฟแพ้คดีถึง 2 ครั้ง ทั้งชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งคณะนี้เรื่องดังกล่าวมีการมองว่าจะบานปลาย และรัฐบาลไทยกำลังจะเสียค่าโง่ ซึ่งการแพ้คดีจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท และมีปัญหาว่าในการจัดประกวดราคา ผู้ที่ได้สัญญาจะไปสร้างทันทีแต่โฮปเวลล์กลับไม่ยอม ก็จะมีการบังคับคดีให้ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าหากสร้างไม่ได้ ผู้ที่ได้สัญญาจะเรียกร้องค่าเสียหายกับการรถไฟฯ ทันที และจะมีปัญหาตามมาคือ ไปกู้เงินจากประเทศญี่ปุ่น (ไจกา) ซึ่งหากไม่ใช้เงินตรงตามเวลาจะถูกปรับวันละ 10.1 เปอร์เซ็นต์ หากรวมทั้งหมดถึงมูลค่าความเสียหาย ถึงจะสร้างเสร็จหรือไม่ก็ตาม จะเสียหายถึง 2-3 หมื่นล้านบาท
รองประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อว่า จะให้อัยการสูงสุดที่เคยไปร้องศาลปกครองว่าคำสั่งของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยเหตุผลอะไร รวมทั้งจะเชิญคณะอนุญาโตตุลาการมาสอบสวนในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และคนที่เกี่ยวข้องสมัยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขัดต่อมติ ครม.ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ให้เข้าสู่ศาลแพ่งเลย เมื่อมติครม.ปี 41 มีมติ ครม.ให้กระบวนการเข้าสู่ศาลแพ่ง ต่อมามติ ครม.ปี 47 การรถไฟฯ และ รมต.คนมนาคมในขณะนั้นไม่ปฏิบัติตาม
ส่วนการที่รัฐสภาพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น นายชาญชัยกล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ตามมาตรา 103/6 โดยให้หน่วยงานของรัฐจัดทำรายละเอียดในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการประมูลราคากลาง ไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าดูได้ โดยให้รัฐบาลสั่งหน่วยงานของรัฐบาลทั้งหมดบรรจุข้อมูลเข้าสู่เว็ปไซด์ ตั้งแต่โครงการ เงิน และเงื่อนไขว่าให้บุคคลใดเข้าประกวดราคา รวมทั้งหากมีการประกวดราคาเสร็จจะทำอย่างไร โดยหากผู้ประกวดราคาได้ ต้องเปิดสมุดบัญชีขึ้นมาอีกเลิ่มหนึ่ง และเงินที่ได้มาต้องไปเข้าบัญชีเล่มนั้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน ออกจากบัญชีไหนไม่ได้นอกจากที่เปิดไว้เท่านั้น แล้วให้บรรจุอยู่ในเว็บไซต์