“ประธานวุฒิฯ” ยืนยันต้องทำประชามติ ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภา ชี้ผลประชามติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายหากทำหลังผ่านวาระแรกจะไม่มีประโยชน์
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายประสพสุข บุญเดช ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ยืนกรานถึงความเห็นในการทำประชามติประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การทำประชามติควรทำก่อนที่จะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ เพราะการทำประชามติไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา หากทำในภายหลังร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้วจะไม่มีผลทางกฎหมาย และจะไม่มีประโยชน์อะไร
“ควรทำประชามติก่อน ตามที่ผมเข้าใจผมยังสงสัยว่าถ้าผ่านวาระหนึ่งไปแล้วทำประชามติ ผลประชามติบอกว่าให้แก้ไข 4 ประเด็น แต่รัฐสภายืนยันจะทำ 6 ประเด็น เมื่อผลการประชามติไม่ได้ผูกพันรัฐสภา มันยังมีข้อสงสัยทางกฎหมายว่าถ้าทำระหว่างนั้น มันจะมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ถ้าไม่มีทำไปก็ไม่ประโยชน์ ผมถึงพยายามบอกว่าต้องทำก่อนเมื่อทำแล้วประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขประเด็นใดจึงนำร่างประเด็นนั้นเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการทุกอย่างก็จบ” นายประสพสุขกล่าว
เมื่อถามหากทำประชามติหลังร่างแก้ไขผ่านความเห็นชอบในวาระแรกไปแล้วถือว่าผิดกฎหมายใช่หรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อสงสัยว่าผลประชามติจะมีผลผูกพันให้รัฐสภาปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ ถ้าจะไม่เอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้หรือไม่
เมื่อถามต่อว่า แนวทางข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลถือเป็นการบีบประชาชนให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า คงไม่ใช่การบีบ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยในประเด็นไหนรัฐสภาก็ต้องฟัง ขณะเดียวกันหากรัฐสภาจะยืนกรานไม่ทำตามผลการประชามติก็ได้เพราะผลการประชามติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
เมื่อถามว่าหากเปรียบเทียบงบประมาณในการทำประชามติจำนวน 2 พันล้านบาทกับผลที่จะได้รับถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า หากคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความสมานฉันท์และรัฐบาลบอกว่ามีเงินการใช้เงิน 2 พันล้านบาทคงไม่มีอะไร คงสร้างความสมานฉันท์ออกมาได้
ส่วนกรณีที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดกรอบเวลา 9 เดือน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประสพสุขกล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่จะทำหากทุกฝ่ายเห็นว่าควรทำภายใต้กรอบเวลาดังกล่าวก็คงทำตามนี้ ส่วนความคืบหน้าในการสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายสภายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประสพสุขกล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไมได้หรือกับนายชัย ชิดชอบ
ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการอะไร โดยการยกร่างแก้ไชรัฐธรรมนูญใครจะทำก็ทำได้อยู่แล้ว โดยขอให้การยกร่างเป็นไปตามกระบวนการและเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็มีสิทธิ์ที่สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภา