xs
xsm
sm
md
lg

ผู้กล้า7ตุลาฯค้านแก้รธน. ชี้แผนฟอกผิดนักการเมืองชั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 15.30 น. วานนี้ ( 5 ต.ค.) กลุ่มตัวแทนผู้บาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 กว่า 50 คน นำโดย น.ส.นาตยา คันธิ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมือง โดยมีกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา มาคอยอำนวยความสะดวกและให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ น.ส.นาตยาได้อ่านแถลงการณ์ ใจความว่า ทางกลุ่มฯ ขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีวัตถุประสงค์ใน 3 เรื่องคือ 1. เพื่อฟอกความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้องให้พ้นจากคดีทุจริตเลือกตั้ง คดีทุจริตคอร์รัปชั่น และ คดีอาญา
2. การเปลี่ยนโครงสร้างของสถาบันฯ หรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
3. ทำเพื่อผลประโยชน์นักการเมือง ซึ่งในวันนี้ ส.ส. -ส.ว.จำนวนมาก ได้สมรู้ร่มคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นซึ่งล้วนแต่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชน นอกจากเป็นความไร้จริยธรรมทางการเมืองแล้ว ยังขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ไม่สนใจประชาชนที่เสียสละเลือดเนื้อ อวัยวะ และชีวิต เพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ
ดังนั้นทางกลุ่มของวิงวอน ต่อสมาชิกรัฐสภา ผ่านไปยัง นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้โปรดหยุดยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองในขณะนี้ รวมถึงไม่ให้เพิ่มความขัดแย้ง และสร้างความแตกแยกให้กับสังคม ทั้งนี้ทางกลุ่มยืนยัน และยืนหยัดที่จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จนถึงที่สุด
จากนั้นนายประสพสุข ได้สอบถามอาการผู้บาดเจ็บ และกล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับ ญาติ พี่น้อง ผู้เสียชีวิต และพิการ การที่ภาคประชาชนมายื่นคัดค้าน ก็เห็นเจตนารมณ์ที่ดี ขอชื่นชมที่รักชาติบ้านเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ สามารถทำได้ ซึ่งตนจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และให้ ส.ว.รับทราบถึงเจตนารมณ์ที่ดีของผู้ที่มายื่น
ทั้งนี้ตนยังยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติก่อน เพื่อจะได้ฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร

**"มาร์ค"ทำประชามติวาระ 1
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่บ้านพิษณุโลกเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า มีการคุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลักคือ เพราะต้องการให้ชัดเจนว่า การจัดทำประชามตินั้นจะเกิดขึ้นในช่วงใด เพราะต้องประสานกับ ส.ว.และพรรคเพื่อไทย แต่ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลได้แลกแปลี่ยนความเห็นเรียบร้อยแล้ว ในด้านความเหมาะสม ด้านกฎหมาย รวมทั้งข้อดี และข้อเสีย อย่างไรก็ตาม ต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากส.ว.และพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย
เมื่อถามว่า รัฐบาลต้องการให้ทำประชามติผ่านในวาระที่หนึ่ง นายกฯกล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่หารือกันต้องการที่จะให้การทำประชามติมีความชัดเจนและไม่มีความเสี่ยงว่าหากกลับมาแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อีก จึงได้เสนอว่าน่าจะอยู่ในช่วงที่กรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมอบให้ กมธ. เป็นคนขอว่า ให้รัฐบาลเป็นคนทำประชามติ
เมื่อถามว่าหากทำแบบนั้นจะกลายเป็นปัญหาว่า เป็นการจัดทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่การทำประชามติ นายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ในขั้นกมธ.นั้น จะต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ไม่ได้ห้ามว่า การรับฟังความเห็นไม่สามารถที่จะให้ทำประชามติ เพียงแต่คนที่ทำประชามติต้องเป็นรัฐบาล ฉะนั้นต้องประสานกลับมาว่า กมธ. ต้องเป็นคนขอให้รัฐบาลเป็นผู้กระทำ โดยรัฐบาลยินดีทำอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า จะประสานกับภาคประชาชน เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ ก็ทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า เรากำลังจัดทำกระบวนการ ที่ตนคิดว่าเป็นการถามความเห็นประชาชนโดยตรงนั้น น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย เมื่อถามว่านายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เสนอให้ทำประชามติ ก่อนแก้รัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า หากเราทำกว้างๆว่า จะให้แก้หรือไม่ มันไม่มีทางจบ เพราะคนที่อยากแก้กับคนที่ไม่อยากแก้มันคิดคนละเรื่องกัน แต่คำตอบโดยรวม เพราะอาจบอกว่าอยากให้แก้ อย่างที่ตนเห็นการทำโพล ครั้งล่าสุด 70-80 เปอร์เซ็นต์ อยากให้แก้ ซึ่งหากเกิน 70เปอร์เซ็นต์ อาจอยากให้เเก้ไม่รู้กี่สิบประเด็น เสร็จแล้วก็บอกว่า อยากให้แก้ เมื่อไปแก้แล้วก็บอกว่า ไม่อยากให้แก้ประเด็นนี้ มันก็ยุ่งอีก ฉะนั้นต้องชัดๆไปเลยว่าประเด็นใดที่อยากแก้ ต้องให้ประชาชนเห็นชอบ เพราะถือว่ารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติมา หากอยากแก้ ก็ให้ประชามติว่า อยากแก้ประเด็นนี้

**ปธ.วุฒิฯให้ทำประชามติก่อนแก้
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การทำประชามติ ควรทำก่อนที่จะนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งนี้ เพราะการทำประชามติ ไม่มีผลผูกพันกับรัฐสภา หากทำในภายหลังร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว จะไม่มีผลทางกฎหมาย และจะไม่มีประโยชน์อะไร
"ควรทำประชามติก่อน ตามที่ผมเข้าใจ ผมยังสงสัยว่า ถ้าผ่านวาระหนึ่งไปแล้วทำประชามติ ผลประชามติบอกว่า ให้แก้ไข 4 ประเด็น แต่รัฐสภายืนยันจะทำ 6 ประเด็น เมื่อผลการประชามติ ไม่ได้ผูกพันรัฐสภา มันยังมีข้อสงสัยทางกฎหมายว่าถ้าทำระหว่างนั้น มันจะมีผลทางกฎหมายหรือเปล่า ถ้าไม่มี ทำไปก็ไม่ประโยชน์
ผมถึงพยายามบอกว่าต้องทำก่อน เมื่อทำแล้วประชาชนเห็นว่าควรแก้ไขประเด็นใดจึงนำร่างประเด็นนั้นเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการทุกอย่างก็จบ" นายประสพสุข กล่าว
เมื่อถามว่า หากทำประชามติหลังร่างแก้ไขผ่านความเห็นชอบในวาระแรกไปแล้ว ถือว่าผิดกฎหมาย ใช่หรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อสงสัยว่า ผลประชามติจะมีผลผูกพันให้รัฐสภาปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ ถ้าจะไม่เอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้หรือไม่
เมื่อถามต่อว่าแนวทางข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาล ถือเป็นการบีบประชาชนให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า คงไม่ใช่การบีบ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วย ในประเด็นไหน รัฐสภาก็ต้องฟัง ขณะเดียวกันหากรัฐสภาจะยืนกรานไม่ทำตามผลการประชามติก็ได้ เพราะผลการประชามติไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
เมื่อถามว่า หากเปรียบเทียบงบประมาณในการทำประชามติจำนวน 2 พันล้านบาท กับผลที่จะได้รับถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า หากคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ และรัฐบาลบอกว่ามีเงิน การใช้เงิน 2 พันล้านบาท คงไม่มีอะไร คงสร้างความสมานฉันท์ออกมาได้

** ยังไม่ได้หารือเรื่องยกร่าง
ส่วนกรณีที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดกรอบเวลา 9 เดือน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประสพสุข กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายที่จะทำ หากทุกฝ่ายเห็นว่าควรทำภายใต้กรอบเวลาดังกล่าว ก็คงทำตามนี้ ส่วนความคืบหน้าในการสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายสภา ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประสพสุข กล่าวว่า ขณะนี้ตนยังไมได้หรือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการอะไร โดยการยกร่างแก้ไชรัฐธรรมนูญ ใครจะทำก็ทำได้อยู่แล้ว โดยขอให้การยกร่างเป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็มีสิทธิที่สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมสองสภา
ด้านนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่วิป 3 ฝ่าย ได้ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี และมีมติให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือ แบบร่างเดียว 6 ประเด็น และแบบแยกเป็น 6 ร่าง ว่า ล่าสุดได้พบนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเช้าวันที่ 5 ต.ค. แต่ประธานก็ยังไม่ได้สั่งการอะไรลงมา

** “ปู่จิ้น”ให้ทำประชามติครั้งเดียวจบ

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่าควรจะทำประชามติครั้งเดียวทั้ง 6 มาตรา เพื่อให้ง่ายขึ้น ไม่เสียเวลา ไม่สินเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น เพราะการทำประชามติครั้งหนึ่งต้องใช้เงินถึง 2,000 ล้านบาท ถ้าทำ 6 ครั้ง ก็จะเสียงเงินถึง 12,000 ล้านบาท และในบางมาตรา แม้โดยสามัญสำนึกก็ไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติอยู่ แล้วว่า จะต้องแก้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่

**ได้ประชามติ รัฐบาลต้องทำตาม
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การทำประชามติ เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ต้องมีการหารือกับทางสภาก่อน ซึ่งในส่วนของ กกต.ไม่มีปัญหาเพราะเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ผู้ริเริ่ม แต่หากจะมีการทำประชามติ รัฐบาลต้องออกประกาศ และ กกต.จะกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน
นายประพันธ์ กล่าวว่า สำหรับ 6 ประเด็นที่จะให้ทำประชามตินั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกแบบ ส่วน กกต.จะต้องดูว่า รัฐบาลจะให้ลงคะแนนทั้ง 6 ประเด็น ในฉบับเดียว หรือจะให้ลงคะแนน 6 ฉบับ 6 ประเด็น แต่ส่วนตัวเห็นว่า จะออกแบบในรูปแบบใดก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกกต. เป็นผู้จัดพิมพ์บัตรลงคะแนน ทั้งนี้ ถ้าพิมพ์บัตรบัตรลงคะแนน แบบ 6 ฉบับ 6 ประเด็น จะทำให้ประชาชนสับสนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล โดย กกต.และสภาต้องช่วยรณรงค์ และอาจจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวร่วมด้วย
"ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับใหม่ หลักการและบทบัญญัติจะคล้ายกับกฎหมายประชามติฉบับเดิม แต่จะเพิ่มในส่วนที่สามารถร้องคัดค้านต่อศาลปกครองได้ หากเห็นว่าการทำประชามติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายประชามติ ที่จะใช้นั้น มีเงื่อนไขในการทำประชามติใน 2 แบบ คือ แบบให้ได้ข้อยุติ และขอคำแนะนำ ซึ่งผมเข้าใจว่า หากจะทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จะทำในลักษณะให้ได้ข้อยุติ ซึ่งผลที่ได้จะผูกพันให้รัฐบาล ต้องทำตามผลประชามติ" นายประพันธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ควรทำประชามติในช่วงเวลาระหว่างก่อนหรือหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประพันธ์ กล่าวว่า จะทำประชามติช่วงไหนขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ทำก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญผ่านสภาวาระ 1 แล้วค่อยทำประชามติก็ได้ อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำประชามติช่วงเวลาใด
กำลังโหลดความคิดเห็น