“ประพันธ์” พร้อมดำเนินการทำประชามติแก้ไข รธน.ตามข้อเสนอของรัฐบาล โดยตามกฎข้อบังคับต้องกำหนดวันออกเสียงประชามติ ไม่เชื่อจะก่อให้เกิดความแตกแยกเพราะถือเป็นทางตามวิถีทางประชาธิปไตย
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงแนวคิดที่รัฐบาลจะทำประชามติเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ว่า การทำประชามติเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ต้องมีการหารือกับทางสภาก่อน ซึ่งในส่วนของ กกต.ไม่มีปัญหาเพราะเป็นผู้ปฏิบัติไม่ใช่ผู้ริเริ่ม แต่หากจะมีการทำประชามติรัฐบาลต้องออกประกาศ และ กกต.จะกำหนดวันออกเสียงประชามติ ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน
นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ 6 ประเด็นที่จะให้ทำประชามตินั้น รัฐบาลจะเป็นผู้ออกแบบ ส่วน กกต.จะต้องดูว่ารัฐบาลจะให้ลงคะแนนทั้ง 6 ประเด็นในฉบับเดียว หรือจะให้ลงคะแนน 6 ฉบับ 6 ประเด็น แต่ส่วนตัวเห็นว่าจะออกแบบในรูปแบบใดก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะ กกต.เป็นผู้จัดพิมพ์บัตรลงคะแนน ทั้งนี้ ถ้าพิมพ์บัตรบัตรลงคะแนนแบบ 6 ฉบับ 6 ประเด็นจะทำให้ประชาชนสับสนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล โดย กกต.และสภาต้องช่วยรณรงค์ และอาจจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวร่วมด้วย
“ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับใหม่หลักการและบทบัญญัติจะคล้ายกับกฎหมายประชามติฉบับเดิม แต่จะเพิ่มในส่วนที่สามารถร้องคัดค้านต่อศาลปกครองได้ หากเห็นว่า การทำประชามติไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งกฎหมายประชามติที่จะใช้นั้น มีเงื่อนไขในการทำประชามติใน 2 แบบ คือ แบบให้ได้ข้อยุติและขอคำแนะนำ ซึ่งผมเข้าใจว่าหากจะทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญจะทำในลักษณะให้ได้ข้อยุติ ซึ่งผลที่ได้จะผูกพันให้รัฐบาลต้องทำตามผลประชามติ” นายประพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ควรทำประชามติในช่วงเวลาระหว่างก่อนหรือหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประพันธ์ กล่าวว่า จะทำประชามติช่วงไหนขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะให้ทำก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญผ่านสภาวาระ 1 แล้วค่อยทำประชามติก็ได้ อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำประชามติช่วงเวลาใด
เมื่อถามต่อว่า การทำประชามติจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่คิดอย่างนั้น เพราะประชามติเป็นวิถีทางประชามติ ซึ่งประชาธิปไตยต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน และคิดว่าวิธีการนี้น่าจะดีกว่าวิธีอื่น เพราะจะได้รู้ชัดเจนว่าประชาชนคิดอย่างไร และการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา ทุกฝ่ายยอมรับผลและไม่มีการร้องคัดค้าน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทย ไม่ว่าเจอปัญหาอะไรก็มีทางออกแต่ต้องใช้เวลา