xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.ไฟเขียว ก.เกษตรฯ เดินหน้าขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง ไฟเขียวกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศยกเลิกสารซัลเฟอร์เป็นวัตถุอันตราย ขณะเดียวกัน ให้กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าขึ้นทะเบียนพืช 13 ชนิดได้ เหตุยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอ ว่า รมว.อุตฯ ออกประกาศโดยมิชอบ

วันนี้ (28 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลางที่กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำสั่งพิพากษา โดยสั่งระงับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ลงวันที่ 29 ม.ค.52 บัญชี ก.(กรณีซัลเฟอร์) และบัญชี ข.(กรณีพืชอันตราย 13 ชนิด) ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า การออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวในบัญชี ก.(กรณีซัลเฟอร์) นั้น พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ได้ให้อำนาจ รมว.อุตสาหกรรม โดยความเห็นของคณะกรรมวัตถุอันตรายออกประกาศ ว่า วัตถุอันตรายใดที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งในส่วนความเป็นอันตรายของสารซัลเฟอร์ที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นเรื่องทางเทคนิค เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ประกอบด้วยผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า สารซัลเฟอร์ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรม ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายน้อย อีกทั้งมีกฎหมายอื่นเกี่ยวข้องหลายฉบับควบคุมอยู่แล้วอีกทางหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมเกินความจำเป็น

ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การพิจารณาออกประกาศของ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือผิดพลาด ในการพิจารณาความเป็นอันตรายของสารซัลเฟอร์ หรือมีเจตนาไม่สุจริตอันอาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการอ้างว่า การออกประกาศมีเจตนาช่วยเหลือผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมที่ถูกดำเนินคดีอาญา โดยไม่คำนึงว่า ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากอันตรายของสารซัลเฟอร์ก็ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ซึ่งหากมีการกระทำผิดทางอาญาก็ต้องรับโทษ หากขณะกระทำ กฎหมายได้บัญญัติให้สิ่งที่กระทำเป็นโทษ เบื้องต้นจึงเห็นว่า ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ประกาศดังกล่าวบัญชี ก.(กรณีซัลเฟอร์) น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนกรณีบัญชี ข.(กรณีพืชอันตราย 13 ชนิด) ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเม็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายหยาก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรมวิชาการเกษตรได้นำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ความเห็น โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ 3 คณะขึ้น ซึ่งแต่ละคณะ ประกอบด้วย ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสารเคมีทางการเกษตร และตามกฎหมายรมว.อุตสาหกรรม ก็มีอำนาจออกประกาศตามความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อการป้องกันและระงับอันตรายที่อาจมีแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นเบื้องต้นจึงไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ประกาศดังกล่าวกรณีบัญชี ข.(กรณีพืชอันตราย 13 ชนิด) อันเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำขอให้ระงับการบังคับใช้ประกาศไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจึงไม่เข้าองค์ประกอบที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎ ตามข้อ 72 วรรค 3 แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎของผู้ฟ้องคดี
กำลังโหลดความคิดเห็น