xs
xsm
sm
md
lg

กก.สมานฉันท์ฟาก ส.ว.เสียงแตก “ตวง-สุรชัย” ปัดเข้าร่วม ชี้ไม่เหมาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าว
กรรมการสมานฉันท์ฟาก ส.ว.เริ่มเสียงแตก “เสธ.อู้” ระบุตั้ง กก.สมานฉันท์ชุดเดิมยกร่าง ไม่มีปัญหา ขณะที่ “ตวง-สุรชัย” ปัดเข้าร่วมหากตั้งกรรมการชุดเดิมพร้อมลาออก ชี้รธน.มาตรา 291 ให้อำนาจ ส.ส.จัดการ ส.ว.ควรทำหน้าที่กลั่นกรองเท่านั้น ทั้งควรปรับองค์ประกอบ โดยเพิ่มภาคประชาชนร่วม หวั่นถูกมองได้ประโยชน์เพื่อตัวเอง

วันนี้ (26 ก.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า การหมดวาระของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่มีปัญหา เพราะนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถออกคำสั่งแต่งตั้งใหม่ได้ หากยังเห็นว่าจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ควรจะใช้คณะกรรมการชุดเดิมจะได้ไม่มีปัญหา เนื่องจากได้ศึกษาประเด็นต่างๆ ไว้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรรมการสมานฉันท์ฯก็ยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยังอีกนาน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะให้ทำประชามติหรือประชาพิจารณ์

เมื่อถามว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญแบบรวมทั้ง 6 ประเด็นหรือประเด็นละฉบับ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอก่อน เพราะจะต้องถามประชาชนว่าจะให้ยกร่างฯอย่างไร เอาหรือไม่เอาประเด็นไหนถึงจะมาสู่ขั้นตอนการยกร่างฯและเมื่อร่างเป็นญัตติ ส.ส.หรือ ส.ว. หากใครเห็นด้วยก็ลงชื่อสนับสนุน ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องลงชื่อ แต่เราจะพิจารณาโดยจะคำนึงว่าไม่ให้ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เช่นนั้นสังคมก็จะครหาและไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาหาแนวทางการสมานฉันท์ ในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า กรรมการสมานฉันท์ตอนนี้หมดหน้าที่แล้ว และตอนที่ตั้งมาในครั้งแรกก็ให้มาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเมือง เมื่อทำรายงานเสนอไปยังรัฐบาลแล้วผู้ที่จะตัดสินใจทำตามข้อเสนอหรือไม่ก็คือรัฐบาล การที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชุดเดิมขึ้นมายกร่างทั้ง 6 ประเด็น ตนคิดว่ากรรมการสมานฉันท์ไม่มีหน้าที่นี้ และแม้จะมีการตั้งกรรมการสมานฉันท์ชุดเดิมขึ้นมาและมอบอำนาจให้ใหม่ จะมีปัญหาว่ากรรมการสมานฉันท์ฯจะใช้อำนาจทางกฎหมายใดเป็นฐานในการยกร่างฯ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้อำนาจรัฐบาล ส.ส. และส.ส. ร่วมกับส.ว.ยกร่างฯและเสนอร่างฯ เพราะฉะนั้นไม่ควรตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุมเดิมมายกร่างฯ ประกอบกับในกรรมการสมานฉันท์มี ส.ว.ร่วมด้วย ดังนั้นจุดนี้ส.ว.ก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงควรปล่อยให้รัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินการกันเอง ส่วนส.ว.ควรทำหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรอง

“ถ้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดเดิมมายกร่างฯ ผมจะขอลาออก เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และ ส.ว. ผมเห็นด้วยว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขในขั้นต่อจากนี้ไป ควรเป็นบทบาทฝ่ายค้านและรัฐบาลจะผลักดันเรื่องต่อไปมากกว่า และส.ว.ก็คอยกลั่นกรอง” นายตวง กล่าว

เมื่อถามว่าวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องจะยกร่างฯ เป็นร่างเดียวหรือ 6 ร่างฯ และต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ มองอย่างไร นายตวงกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ถูกต้อง แม้จะอ้างว่า ส.ส.มาจากประชาชนก็ตาม อย่างไรก็ดี กระบวนการรับฟังประชาชนจะเป็นอย่างไรตนไม่ติดใจ แต่ควรถามประชาชนทีละประเด็น ไม่ใช่เหมารวม อันไหนตกผลึกแล้วจึงนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

ด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา กรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า กรรมการสมานฉันท์ในครั้งนั้นมีอำหน้าที่ศึกษาทางแก้ปัญหาการเมือง เมื่อส่งรายงานไปแล้วก็ถือว่าหมดอายุแล้ว ถ้าประธานรัฐสภาจะตั้งใหม่ก็เป็นเรื่องอำนาจของประธานสภาฯ แต่ถ้าจะตั้งชุดเดิมทั้งหมดก็ต้องไปถามความสมัครใจของกรรมการทุกคนก่อน อย่างไรก็ดีตนเห็นว่าถ้าจะให้กรรมการสมานฉันท์ยกร่างควรเปลี่ยนองค์ประกอบจะเอาแบบเดิมทั้งหมดไม่ได้ ควรเอาภาคประชาชนเข้ามาด้วย เพราะหลักการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ผู้มีส่วนได้เสียมายกร่างฯ เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็ใช้ แต่กรรมการอิสระหรือ ส.ส.ร.3 ซึ่งทำให้วิธีการ่างที่ดีกว่าและปลอดส่วนได้เสียมากกว่า

เมื่อถามว่าหากตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ ชุดเดิมจะเข้าร่วมหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า ถ้าตั้งแบบเดิมทั้งหมดตนไม่เห็นด้วย และก็จะพิจารณาดูก่อนว่าควรจะรับหรือไม่ ขอดูรายละเอียดภารกิจว่าใครทำหน้าที่อะไรก่อน เมื่อถามว่าวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องจะยกร่างฯเป็นร่างเดียวหรือ 6 ร่างฯ และต้องทำประชามติด้วยหรือไม่ มองอย่างไร นายสุรชัยกล่าวว่า ทั้งสองเรื่องเกี่ยวข้องกันจึงต้องมองให้ทะลุ ซึ่งถ้าตกลงกันว่าจะให้ประชามติก็ต้องเข้าใจถึงกระบวนการทำ คือไม่ควรถามประชาชนเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียว เพราะจะมีบางคนเห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วยบางประเด็น หากทำเป็นร่างเดียว 6 ประเด็นถือว่ามัดมือชก ซึ่งตนเห็นว่าการทำประชามติเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยต้องให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้เป็นรายประเด็น ซึ่งวิธีการยกร่างก็ต้องให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น