xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เสนอยกเครื่อง สตช. ชี้ชอบอวดเบ่งเข้าขั้นมะเร็งร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยชี้สันดานตำรวจไทย “ตำรวจรุ่นใหม่ต้องการนายใจถึงพึ่งได้ มากกว่าคนที่ทำงานตรงไปตรงมา” ขณะที่วงสัมมนา ป.ป.ช.เสนอยกเครื่องแวดวงสีกากี แก้ปัญหาเรื้อรัง เป็นทางออกดีที่สุด ชี้ตำรวจยุคใหม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต จี้สร้างจิตสำนึกตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกเข้าโรงเรียนตำรวจ บิ๊กสีกากีต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกแถว

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดการประชุมทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานการศึกษามาตรการป้องกัน เพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

พ.ต.ท.เกษมศานต์ โชติชาครพันธ์ รักษาการรองคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้นำเสนอผลงานดังกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบการประพฤติมิชอบของตำรวจ ประกอบด้วย การใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ยังคลุมเครือว่า เป็นการทุจริตหรือไม่ เช่น การรับสินน้ำใจจากร้านค้า การรับเงินจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการเก็บเงินค่าตู้แดงในจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม บางครั้งมีการไปติดตามบ้านบุคคลต่างๆ โรงงาน เพื่อให้ตำรวจเรียกเก็บค่าตู้แดงเป็นรายเดือน แต่ตำรวจส่วนใหญ่มองว่า ไม่ใช่การทุจริตคอรัปชั่น

พ.ต.ท.เกษมศานต์ กล่าวว่า ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจ คือ ตำรวจได้รับเงินเดือนน้อย การสมยอมระหว่างตำรวจกับผู้กระทำผิด รวมถึงนโยบายทางการเมือง เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพ่อค้าที่มีความสนิทกับตำรวจระดับสูง 2.นักการเมือง 3.เจ้านายเก่า ขณะที่ค่านิยมของตำรวจจบใหม่มี 3 อย่าง คือ 1.ขอไปอยู่ตำแหน่งที่สามารถหาผลประโยชน์ได้มาก 2.ขอไปติดตามนาย เพราะก้าวหน้าเร็วกว่า 3.ประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปกับอาชีพตำรวจ ถือเป็นค่านิยมที่น่าตกใจมาก ทำให้น่ากังวลว่า สตช.จะขาดตำรวจมืออาชีพในอนาคต

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เรื่องวัฒนธรรมของตำรวจ จากการทำวิจัยสอบถามความเห็นของตำรวจพบว่า ผู้บังคับบัญชาที่ดีในสายตาตำรวจ ไม่ใช่คนที่ทำงานตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ แต่ต้องเป็นคนที่ใจถึง พึ่งได้ นับเป็นเรื่องน่ากังวลใจมากของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจุบันตำรวจลาออกไปประกอบอาชีพอื่นจำนวนมาก เพราะอาชีพอื่นเติบโตได้เร็วกว่า ไม่ต้องวิ่งเต้น และยังมีเงินเดือนและฐานะทางสังคมดีกว่า

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะคณะอนุกรรมการศึกษามาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กล่าวเปิดการอภิปรายเรื่อง “มาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ” ว่า ปัญหาตำรวจเป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นเวลายาวนาน เป็นเหมือนมะเร็งร้าย เข้าขั้นไอซียู ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในการตัดสินใจทำงาน เมื่อมาทำงานชี้มูลยิ่งพบปัญหาหนัก คือ เรื่องการใช้อำนาจเกินขอบเขต และในสมัยที่เป็นผู้พิพากษา ได้พบพฤติกรรมการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ถูกจับกุม เมื่อเข้าไปสอบถามก็ถูกไล่ แต่เมื่อแสดงตัวว่าเป็นผู้พิพากษาก็กลับคำพูดว่าที่ต้องทำเพราะให้ผู้ต้องหาเข็ด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตกใจ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ทำคดีและรับผิดชอบเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งไม่ใช่มีแต่การทุจริต แต่เป็นเรื่องของจริยธรรมด้วย ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปดูวัฒนธรรมขององค์กรเพื่อแก้ไขทั้งระบบ ตั้งแต่การศึกษา การปลูกฝังความรุนแรง และการคำนึงถึงศักดิ์ศรีของตนเอง เนื่องจากพบว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจมีโครงสร้างเงินเดือนต่ำที่สุด ง่ายต่อการชักจูงหรือทนแรงเสียดทานได้น้อย หากเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีที่มีเงินจำนวนมาก การสัมมนาครั้งนี้จึงมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการทำงานของกระบวนการยุติธรรม

นายวิชา กล่าวว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมายัง ป.ป.ช.เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นการกระทำผิดจริยธรรม โดยมาจากวัฒนธรรมองค์กรจึงต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ โดยเฉพาะเรื่องการมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชาที่เมื่อมอบอำนาจแล้วไม่มีการติดตามการใช้อำนาจทำให้เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งความคาดหวังของการประชุมวิชาการครั้งนี้ คือไม่ต้องการเห็นตำรวจถูกดำเนินคดี และเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้จะทำให้เข้าใจปัญหาและมูลเหตุจูงใจอันเป็นที่มาของการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา วางมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ แนวทางปฏิบัติ ป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้จะนำเสนอมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา เพื่อให้ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อไป

นายวิชาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เรื่องที่ส่งมายัง ป.ป.ช.ที่เกี่ยวข้องตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องกับการทุจริตโดยตรง แต่เป็นเรื่องจริยธรรมตำรวจใช้กำลังรุนแรงเกินขอบเขต แม้ตำรวจมีอำนาจที่ถูกต้องในการจับกุม แต่การจับกุมเป็นไปอย่างรุนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมกรรมดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมขององค์กรตำรวจที่หล่อหลอม ดังนั้นการแก้ไขต้องทำทั้งระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษา

ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ที่ผ่านมาความพยายามพัฒนาระบบตำรวจมีความล้มเหลว ซึ่งการประพฤติรวมถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยตนมองว่าเป็นเรื่องปกติที่หากองค์กรใดไม่มีการควบคุมการใช้อำนาจก็จะมีการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต ขณะเดียวกันเห็นว่าการประพฤติมิชอบของตำรวจคือการกระทำที่ไม่สมควร ซึ่งต้องมีการฟื้นฟูจริยธรรมรวมทั้งการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นตำรวจเพื่อให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่

“ตำรวจไม่ว่าสมัยไหนก็ใช้อำนาจเกินขอบเขตหน้าที่ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งต่างประเทศ หากจะให้แก้ไขเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะปัญหาเรื้อรังมานาน แต่เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างแน่นอน ขณะนี้การใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจเกิดขึ้นไม่อยากให้เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมองค์กร และที่ผ่านมา โครงการอบรมจริยธรรมของตำรวจถือว่าล้มเหลว เพราะดูจากการกระทำของตำรวจไม่ได้ดีขึ้น” อดีตรองอธิบดีตำรวจกล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า การรับสมัครตำรวจถือเป็นด่านแรกที่กวดขันเรื่องคุณสมบัติ จากนั้นโรงเรียนตำรวจเป็นสถานที่ปรับปรุงบุคคล เพื่อให้ได้คนมีคุณสมบัติดีจริงๆ อยากตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้โรงเรียนดังกล่าวมีหลักสูตรเกี่ยวกับศีลธรรมหรือด้านศาสนาหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ควบคุมการใช้อำนาจตนเอง ไม่ให้เป็นไปโดยมิชอบ อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันมาจากสองฝ่าย คือ ประชาชน ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลและผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปรับปรุงตัวเองไม่ปล่อยปะละเลย ให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยใช้อำนาจเกิดขอบเขต

พล.ต.ท.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยังไม่หมดไป เพราะจากในอดีตสถิติการประพฤติมิชอบเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นเรื่องปกติที่ตำรวจจะเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมากที่สุด เนื่องจากงานของตำรวจเป็นงานที่สัมผัสกับประชาชนโดยร้อยละ 95 จะกระทบกับสิทธิของประชาชนโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น