xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์หลวงตาบัว เดินหน้าร้อง สคบ.-เลขาฯ กทช.แก้ พ.ร.บ.จัดสรรความถี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิษย์หลวงตา พร้อมด้วยสภาองค์กรวิทยุท้องถิ่นแห่งประเทศไทยกว่า 3,000 สถานี เดินหน้าเข้ายื่นหนังสือต่อ สคบ.แก้ พ.ร.บ.จัดสรรความถี่ ปี 51 ให้อนุกรรมการ สคบ.มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่ทั้ง 3 ประเภท พร้อมร้องขอใบอนุญาตชั่วคราวเพื่อความถูกต้องในการเผยแพร่

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พระครูอรรถกิจนันทคุณ กรรมการมูลนิธิเสียงธรรม พร้อมด้วยพระสงฆ์เครือข่ายมูลนิธิเสียงธรรม เปิดเผยว่า จากกรณีการยื่นหนังสือสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในขณะนี้ทางมูลนิธิได้มีแนวร่วมจากสภาองค์กรวิทยุท้องถิ่นแห่งประเทศไทยกว่า 3,000 สถานี และเข้าร่วมเพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากได้ศึกษา พ.ร.บ.จัดสรรความถี่เเล้ว เห็นพ้องต้องกันว่ามีผลกระทบต่อการประกอบกิจการวิทยุชุมชนในพื้นที่

โดย มูลนิธิเสียงธรรม และตัวแทนสภาองค์กรวิทยุท้องถิ่นกว่า 3,000 สถานี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อทางคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค และ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการ กทช.ให้แก้ไข พ.ร.บ.ปี 51 บทเฉพาะการมาตราที่ 78 ให้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่แต่เดิมมีอำนาจจัดการเฉพาะชุมชนเพียงอย่างเดียว ให้มีอำนาจจัดการได้ทั้ง 3 ประเภท ซึ่งหลังจากเข้าหารือ ทางคณะกรรมการที่เข้าร่วมมีมติเห็นพ้องต้องกัน และจะนำไปผลักดันเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ต่อไปให้เสร็จภายใน 3 วาระ

ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเสียงธรรมต้องการให้เพิ่มคำนิยาม “ภาคประชาชน” ให้มีความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถประกอบกิจการได้ในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น โดยมีพื้นที่การให้บริการทัดเทียวกับภาคธุรกิจ อีกทั้งยังต้องการให้ทาง คณะกรรมการ กทช. สนับสนุนคำว่า “ชุมชน” ตามความหมายของประกาศ กทช.เนื่องจากมีความหมายที่ครบถ้วนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น นอกจากนี้ ยังต้องการได้รับ “ใบอนุญาตบริการชุมชนชั่วคราว” และเสนอให้ กทช.กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคประเภท “สถานีวิทยุชุมชนลักษณะเฉพาะ”

“การยื่นเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.นั้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้ภาคประชาชน ว่า สามารถจัดการคลื่นวิทยุเองได้ นอกจากนี้ วิทยุชุมชนมีประสิทธิภาพและมีคนรับฟังกันมากขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลเกรงว่าบางทีสื่อวิทยุชุมชนบางทีมีคนฟังมากเกินไป กลัวว่าจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและเกินความควบคุมของรัฐบาล ซึ่งต้องแยกให้ออกว่าประเด็นของการจัดอยู่ตรงจุดไหนเพราะบางทีเนื้อหาสาระของวิทยุชุมชนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้ฟัง” พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น